ร่าง กม.ศึกษาฯ ฉบับ กมธ.เน้นครู ขนแม่พิมพ์เกือบครึ่งนั่งซุปเปอร์บอร์ด ชี้จุดอ่อนเมินคุณภาพ ‘เด็ก-การศึกษา’

ร่าง กม.ศึกษาฯ ฉบับ กมธ.เน้นครู ขนแม่พิมพ์เกือบครึ่งนั่งซุปเปอร์บอร์ด ชี้จุดอ่อนเมินคุณภาพ ‘เด็ก-การศึกษา’

พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ – เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้ศึกษารายละเอียดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับที่คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรวาท ทองบุ เป็นประธาน เท่าที่ดูเปรียบเทียบ ทาง กมธ.พิจารณาศึกษากฎหมายฯ นำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ยกร่างโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มี นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน มาเป็นหลัก 80% อีก 20% มาจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แซมเข้าไป เช่น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู นิยามผู้บริหารสถานศึกษา วิทยฐานะครู ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ นพ.จรัส มีทั้งหมด 103 มาตรา ฉบับของ กมธ.พิจารณาศึกษากฎหมายฯ ปรับลดเหลือ 97 มาตรา ซึ่งในเชิงหลักการไม่เสียหาย แต่ภาพรวมทำให้กฎหมายดูอ่อนลงไปมาก จืด และลดน้ำหนักลงไปมาก

“สาเหตุที่บอกว่ากฎหมายดูอ่อนลง เพราะไปตัดมาตราที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ กอปศ.เน้น อาทิ มาตรา 8 เกี่ยวข้องกับพัฒนาการตามช่วงวัย จิตใจ ถูกตัดรายละเอียด เหลือเฉพาะช่วงวัยตามอายุ และยังตัดมาตรา 33 และมาตรา 35 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับมาตรา 8 ที่กำหนดว่าครูควรมีคุณลักษณะแบบไหน เชื่อมโยงถึงพัฒนาการของเด็ก เมื่อตัดส่วนนี้ออกไป น้ำหนักของกฎหมายจึงหายไป รวมถึง ยังตัดมาตราที่เกี่ยวข้องกับวิทยฐานะ ความก้าวหน้าที่สะท้อนถึงพัฒนาการของเด็ก ทั้งหมดนี้เป็นข้อที่สำคัญของร่างกฎหมายฉบับ นพ.จรัส เมื่อตัดออก ทำให้น้ำหนักของกฎหมายลดลง” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ มาตราที่สำคัญ และถูกเปลี่ยนมากที่สุด คือมาตรา 82 เพิ่มคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เป็น 56 คน กลายเป็นคณะกรรมการที่ใหญ่โต เทอะทะ มีกรรมการที่มาจากองค์กรครูกว่า 20 คน จะกลายเป็นเรื่องการเมืองในการศึกษา ต้องระวังว่าคนจะมองว่าเข้าไปรักษาผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่ ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบถูกกันออกหมด เช่น สภาเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังให้เพิ่มสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ เป็นองค์กรมหาชน ทั้งที่ยังไม่ได้ประเมิน ทบทวน การทำงานของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ว่ามีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน กลายเป็นว่าทุกครั้งที่มีการปฏิรูปกฎหมาย ต้องเกิดองค์กรมหาชนขึ้น

“ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ กมธ.ทำให้ประเด็นความหนักแน่นทางการศึกษาอ่อนลงไปมาก ผมให้ 6 เต็ม 10 คะแนน เพราะไม่ได้เป็นกฎหมายที่จะช่วยให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาได้เท่าที่ควร แต่กลับเป็นกฎหมายที่ทำเพื่อครู ซึ่งไม่มีเรื่องคุณภาพการศึกษา ขณะที่ข้อดีคือ จะได้ครูเข้ามาดูแลเรื่องกฎหมาย วิทยฐานะ แต่จะเกิดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้ ผมอยากให้เพิ่มในเรื่องการสร้างความเป็นพลเมือง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกละเลยทั้งที่ต้องใส่ เพราะจากการศึกษาทุกประเทศ จะใช้ พ.ร.บ.การศึกษาในการสร้างคน เพื่อพัฒนาประเทศ อีกเรื่องที่หายไปคือ การตรวจสอบ ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล หายไป ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)” นายสมพงษ์ กล่าว

Advertisement

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ภาพรวมสนับสนุนให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แต่ต้องนำมาประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกรอบ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่าในชั้นกฤษฎีกา จะถูกปรับแก้อีกครั้ง เพราะสิ่งที่ถูกละเลยไป คือคุณภาพเด็ก และคุณภาพการศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image