‘วราวิช’ เมินเพิ่ม’เขตมัธยม’ทุกจังหวัด ชี้ไม่ชัดเพิ่มคุณภาพ’การศึกษา’

‘วราวิช’ เมินเพิ่ม’เขตมัธยม’ทุกจังหวัด ชี้ไม่ชัดเพิ่มคุณภาพ’การศึกษา’ แย้มผุด’อาชีวะจังหวัด’ทั่วปท.เป็นไปได้

นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เปิดเผยว่า ตามที่ คณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสุรวาท ทองบุ เป็นประธาน เตรียมให้กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร พิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา โดยในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ มีสาระสำคัญเพิ่มเติม อาทิ ปรับปรุงโครงสร้างของศธ. ใหม่ ยกเลิก สำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) คง ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)ทุกจังหวัด และมีสถาบันอาชีวศึกษาประจำจังหวัดทุกจังหวัด นั้น ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ทั้งหมดต้องมาดูในภาพรวม เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ทั้งนี้กรณีเสนอให้ยุบศธภ. นั้น ยอมรับว่าเคยมีการพูดถึงเรื่องนี้ในหลายครั้ง และยังคงมีความเห็นที่หลากหลายทั้งเห็นว่างานของศธภ. ซ้ำซ้อนกับศธจ. แต่ก็คงต้องมาดูว่า ซ้ำซ้อนกันอย่างไร ไม่ใช่พูดกันแต่เรื่อง ยุบหรือไม่ยุบ เช่นเดียวกันกรณีศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่ฯ กับศึกษานิเทศก์ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่อยู่ระหว่างดูรายละเอียดว่าการทำงานมีความซ้ำซ้อนกันหรือไม่

นายวราวิช กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอที่ให้เพิ่มอาชีวศึกษาประจำจังหวัด ทุกจังหวัดนั้น ส่วนตัวมองว่า อาจมีความเป็นไปได้ เพราะขณะนี้อาชีวศึกษารัฐ กับอาชีวศึกษาเอกชน ทั่วประเทศรวมกันแล้วไม่เกิน 1,000 แห่ง ดังนั้น หากเพิ่มอาชีวะจังหวัด ก็ถือว่าไม่มาก แต่การเพิ่มหน่วยงาน หมายถึงการเพิ่มงบประมาณ ดังนั้น ก็ต้องมาพิจารณาความเหมาะสม รวมถึงความพร้อมอย่างรอบด้านด้วย ส่วนข้อเสนอที่ให้เพิ่ม สพม. ทุกจังหวัดนั้น คงต้องมาดูข้อดีข้อเสีย เพราะจากที่ได้ทำงานด้านโครงสร้างศธ. มากว่า 1 ปี ยังจับจุดไม่ได้ว่า การเพิ่มสพม. จะมีข้อดีหรือไม่ดีอย่างไร ส่วนตัวยังคิดว่า ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 1 คน มีศักยภาพ ที่จะดูแลการจัดการศึกษา ในภาพรวมได้ โดยไม่ต้องแยก เป็นประถม หรือมัธยม ดังนั้นการเสนอเพิ่ม สพม.ทุกจังหวัด ก็คงต้องมาดู ศึกษารายละเอียดให้รอบด้านว่า เพิ่มแล้วดีหรือไม่ดีอย่างไร

“ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปรับปรุงโครงสร้างศธ. ซึ่งได้ข้อสรุปไปแล้วนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ อ.ก.ค.ศ.จังหวัด เพื่อให้เกิดความล่องตัวในการบริหารงานบุคคล ส่วนวิชาชีพ ที่มีข้อเสนอว่า ทำงานซ้ำซ้อนกัน เช่น ศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่ฯ ศึกษานิเทศก์ สพฐ. หรือ ฝ่ายตรวจสอบภายใน อยู่ระหว่างดูรายละเอียดว่า มีความซ้ำซ้อนจริงหรือไม่ เพื่อปรับแก้ให้เหมาะสมต่อไป” นายวราวิช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image