จุฬาฯ ปลื้มติดท็อป 100 ม.โลกของ QS ประกาศเดินหน้าสู่มหา’ลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม

จุฬาฯ ปลื้มติดท็อป 100 ม.โลกของ QS ประกาศเดินหน้าสู่มหา’ลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม

จุฬาฯ – เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ รักษาการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย QS World University Rankings 2021 ในด้านมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation) ซึ่งประกาศผลเมื่อวันพุธที่ 10 มิถุนายน มีสถาบันอุดมศึกษาร่วมการจัดอันดับ 1,604 แห่งจากทั่วโลก จุฬาฯ อยู่ในอันดับที่ 96 ของโลก ครั้งนี้ถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดที่มหาวิทยาลัยไทยเคยได้รับจากการจัดอันดับที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากตัวชี้วัด 6 ด้าน ประกอบด้วย ความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ 40% การเป็นที่ยอมรับจากนายจ้าง 10% สัดส่วนของอาจารย์ต่อนิสิต 20% ผลงานวิชาการต่ออาจารย์ 20% สัดส่วนของอาจารย์ชาวต่างชาติ 5% และสัดส่วนของนิสิตชาวต่างชาติ 5%

“ซึ่งความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS สะท้อนความเชื่อมั่นผ่านการแสดงความคิดเห็นจากตัวแทนนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษากว่า 100,000 คนทั่วโลก” ศ.บัณฑิต กล่าว

ศ.บัณฑิตกล่าวต่อว่า จุฬาฯ ภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของคนไทยขึ้นสู่ Top 100 ของโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ จากการจัดอันดับโดย QS World University Rankings 2021 นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังครองอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยไทยเป็นปีที่ 12 ติดต่อกัน และอยู่ในอันดับที่ 46 ของมหาวิทยาลัยระดับเอเชีย โดยปีนี้จุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีที่แล้วถึง 39 อันดับ เป็นผลจากการพัฒนาการเรียนการสอน และงานวิชาการอย่างไม่หยุดนิ่งโดยประชาคมจุฬาฯ เพื่อพัฒนาคนไปพร้อมกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จะช่วยนำพาไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ทำให้วันนี้ จุฬาฯ เป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่ง 3 แกนหลักที่จุฬาฯ มุ่งผลักดันพัฒนาให้ถึงขีดสุด คือ การพัฒนาคน เสริมสร้างและพัฒนาบัณฑิตทุกคน ให้มีคุณสมบัติพร้อมเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของประเทศ และโลก

ศ.บัณฑิตกล่าวอีกว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรม จะไม่เป็นเพียงแค่สิ่งประดิษฐ์ในห้องเรียน แต่นวัตกรรมของจุฬาฯ จะต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การพัฒนาต้นแบบ “วัคซีน COVID-19” โดยทดลองในลิงเป็นแห่งแรกในไทย จุฬาฯ ผนึกกำลังพันธมิตรเปิดตัว “ปัตตานีโมเดล” ด้วยการปูพรมตรวจภูมิคุ้มกันก่อนคลายล็อกดาวน์ให้ชาวปัตตานีนับหมื่นราย ด้วยชุดตรวจว่องไว “Chula Baiya Strip Test” เป็นต้น และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน จุฬาฯ กำหนดให้การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นหลักคิดในการดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

“เราไม่เพียงยกระดับการบริหารงานมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลเท่านั้น แต่จุฬาฯ คิดได้ไกลขึ้น ไม่ใช่แค่ 5 ปี หรือ 10 ปี แต่มองไกลถึงคุณภาพชีวิตของประชาคมจุฬาฯ ชุมชนโดยรวม รวมถึง คนรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย คณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ ได้สร้างสรรค์งานวิจัย และนวัตกรรมต่างๆ ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศ สร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 นวัตกรรมต่างๆ ล้วนเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ ตอบสนองบทบาทของจุฬาฯ ในการเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม” ศ.บัณฑิต กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image