ชำแหละ…กฎหมายการศึกษาชาติ ลดขัดแย้ง ‘เพื่อครู’ หรือมุ่งคุณภาพ

ชำแหละ…กฎหมายการศึกษาชาติ ลดขัดแย้ง ‘เพื่อครู’ หรือมุ่งคุณภาพ

กฎหมายการศึกษา-หลังคณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสุรวาท ทองบุ เป็นประธาน นัดหมายเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 4 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศธ. ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู และร่างพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้กมธ.การศึกษาฯ พิจารณาเมื่อวั่นที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา

แต่เป็นอันต้องเลื่อน เพราะวาระประชุมวันดังกล่าวมีมาก ไม่สามารถพิจารณาเรื่องกฎหมายได้ทัน คาดว่าจะพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ …

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ดังนี้

Advertisement

ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… ได้นำร่างของ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) มาพิจารณาคงส่วนใหญ่ของสาระเดิมไว้ และแก้ไขข้อขัดแย้ง อาทิ ผู้ประกอบอาชีพครู จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ชื่อตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา ไม่มีนิยาม “ครูใหญ่” มีนิยาม “ผู้บริหารสถานศึกษา” แทน เป็นต้น

ร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการศธ. สาระสำคัญ อาทิ ปรับปรุงโครงสร้างของศธ. ใหม่ โดยการยกเลิกประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยกเลิก สำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และมีสถาบันอาชีวศึกษาประจำจังหวัดทุกจังหวัด ให้สำนักงานกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา( ก.ค.ศ.) เป็นสำนักงานก.ค. โอนองค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา( สกสค.) มาเป็นหน่วยงานในกำกับของศธ. ชื่อใหม่ว่า องค์การค้า ศธ. เป็นต้น

ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู เปลี่ยนชื่อ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูมีคณะกรรมการระบบพิทักษ์คุณธรรม มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครู (อ.ก.ค.) ส่วนราชการ สำนักในส่วนราชการเทียบเท่ากรม และให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครู (อ.ก.ค.) เปิดโอกาสให้ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ กำหนดมาตรฐานตำแหน่งบางตำแหน่งที่มีความจำเป็นพิเศษ เพื่อตอบสนองการจัดการศึกษาที่แตกต่างกันไปตามภารกิจ เป็นต้น

Advertisement

ร่างพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เปลี่ยนชื่อเป็น ร่างพ.ร.บ.สภาครู ยกเลิกคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) บัญญัติให้มีวิชาชีพทางการศึกษา 6 วิชาชีพ ประกอบด้วย วิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริการศึกษาในระดับส่วนราชการ และนักพัฒนาการศึกษา เป็นต้น

อย่างไรก็ตามทันทีที่เปิดร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับออกมา นักวิชาการและคนในแวดวงการศึกษาต่างออกมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย…

โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจาะเฉพาะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้คะแนน 6 เต็ม 10 เพราะไม่เห็นว่า เป็นกฎหมายที่จะช่วยให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาได้ แต่กลับเป็นกฎหมายที่ทำเพื่อครู ซึ่งไม่มีเรื่องคุณภาพการศึกษา แม้จะเห็นด้วยที่ควรเร่งผลักดันกฎหมาย แต่ก็อยากให้มีการนำมาประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอีกรอบ
ทั้งนี้ ศ.ดร.สมพงษ์  มองว่า ฉบับใหม่นำร่างของกอปศ. มาเป็นหลักกว่า 80% อีก 20% มาจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แซมเข้าไป มีการปรับลดกฎหมายเหลือ 97 มาตรา จากทั้งหมด 103 มาตรา เชิงหลักการไม่เสียหาย แต่ภาพรวมทำให้กฎหมายดูอ่อน จืดและความมีน้ำหนักของเนื่องหา ความน่าเชื่อถือลดลงไปมาก

“สาเหตุที่บอกว่ากฎหมายดูอ่อนลง เพราะไปตัดมาตราที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ กอปศ.เน้น อาทิ มาตรา 8 เกี่ยวข้องกับพัฒนาการตามช่วงวัย จิตใจ ถูกตัดรายละเอียด เหลือเฉพาะช่วงวัยตามอายุ และยังตัดมาตรา 33 และมาตรา 35 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับมาตรา 8 ที่กำหนดว่าครูควรมีคุณลักษณะแบบไหน เชื่อมโยงถึงพัฒนาการของเด็ก เมื่อตัดส่วนนี้ออกไป น้ำหนักของกฎหมายจึงหายไป รวมถึง ยังตัดมาตราที่เกี่ยวข้องกับวิทยฐานะ ความก้าวหน้าที่สะท้อนถึงพัฒนาการของเด็ก เมื่อตัดออก ทำให้น้ำหนักของกฎหมายลดลง” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

มาตราที่สำคัญ และถูกเปลี่ยนมากที่สุด คือมาตรา 82 เพิ่มคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เป็น 56 คน กลายเป็นคณะกรรมการที่ใหญ่โต เทอะทะ มีกรรมการที่มาจากองค์กรครูกว่า 20 คน จะกลายเป็นเรื่องการเมืองในการศึกษา ต้องระวังว่าคนจะมองว่าเข้าไปรักษาผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่

นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการศธ. ในฐานะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. แสดงความเห็นในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศธ. โดยยอมรับว่า กรณีเสนอให้ยุบศธภ.เคยมีการพูดถึงหลายครั้ง แต่ยังมีความเห็นที่หลากหลาย ซึ่งต้องมาดูว่า งานซ้ำซ้อนกันอย่างไร ไม่ใช่พูดกันแต่เรื่อง “ยุบ” หรือ “ไม่ยุบ”

ส่วนข้อเสนอที่ให้เพิ่มอาชีวศึกษาประจำจังหวัดนั้นอาจมีความเป็นไปได้ เพราะขณะนี้อาชีวศึกษารัฐ กับอาชีวศึกษาเอกชน ทั่วประเทศรวมกันแล้วไม่เกิน 1,000 แห่ง หากเพิ่มอาชีวะจังหวัด ก็ถือว่าไม่มาก แต่การเพิ่มหน่วยงาน หมายถึงการเพิ่มงบประมาณ ดังนั้น ก็ต้องมาพิจารณาความเหมาะสม ขณะที่การเพิ่มสพม. ทุกจังหวัดนั้น คงต้องมาดูข้อดีข้อเสีย เพราะจากที่ได้ทำงานด้านโครงสร้างศธ. มากว่า 1 ปี ยังจับจุดไม่ได้ว่า การเพิ่มสพม. จะมีข้อดีหรือไม่ดีอย่างไร ส่วนตัวยังคิดว่า ผู้อำนวยการสพท.1 คน มีศักยภาพ ที่จะดูแลการจัดการศึกษา ในภาพรวมได้ โดยไม่ต้องแยก เป็นประถม หรือมัธยม

ขณะที่ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เห็นด้วย อยากเห็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้การทำงานในหลาย ๆ เรื่องมีความคล่องตัว ส่วนในรายละเอียดใด หากมีปัญหา ค่อยหาทางแก้ไขระหว่างทางได้ ส่วนกรณีที่จะกลับมาใช้ใบอนุญาตฯ แทนใบรับรองฯ และใช้นิยาม ผู้บริหารสถานศึกษาแทน ครูใหญ่ นั้น ส่วนตัวไม่มีปัญหา แม้ก่อนหน้านั้นจะเห็นด้วยที่ให้ปรับ แต่หากเป็นประเด็นให้เกิดความไม่สบายใจ ก็สามารถปรับแก้ได้ ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ เรื่องสำคัญที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ไม่ได้เอ่ยถึง คือ คุณภาพการศึกษา หากมีปัญหา จังหวัดควรต้องรับผิดชอบ ส่วนการตั้งอาชีวศึกษาจังหวัดนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะจะยิ่งทำให้การศึกษาแยกขาดออกจากกัน

“จริง ๆ แล้ว การศึกษาต้องคิดภาพรวม จังหวัดต้องรับผิดชอบ ลงมาดูภาพรวมการศึกษาของจังหวัด ซึ่งเท่าที่ดูในร่างพ.ร.บ.ของกมธ.ฯ ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ แต่พยายามจะนำทุกอย่างไปลง สพท. ยังอิงกับอำนาจเดิม เห็นได้จากเสนอให้เพิ่มสพม. ทุกจังหวัด ” นายเอกชัยกล่าว

ส่วนที่ร่างพ.ร.บ.สภาครูฯ เสนอให้ยุบกมว. นั้น ซึ่งกมว. มีหน้าที่กลั่นกรองดูแลในเบื้องต้น จะยกทุกอย่างให้เป็นงานของคณะกรรมการคุรุสภา คงเป็นไปไม่ได้ ส่วนจะให้ตั้งเป็นคณะอนุกรรมการฯ ทำหน้าที่แทนกมว. ก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้กำกับดูแล จรรยาบรรณวิชาชีพครู ซึ่งเป็นงานสำคัญลดน้อยลง

คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก กว่าจะได้เห็นหน้าตาของกฎหมายด้านการศึกษา ซึ่งเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวในการพัฒนาประเทศ หวังอย่างยิ่งว่า หน่วยงานที่เกี่ยวของจะ ดำเนินการทุกอย่างโดยยึดถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน และคุณภาพการศึกษาเป็นสำคัญ มากกว่า ที่จะเขียนกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องเท่านั้น !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image