สายตระกูลไทย!! นักวิจัย มม.ค้นพบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายตระกูลไทย
สายตระกูลไทย – มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มม.ร่วมกับสถาบันวิจัยในไทย และต่างประเทศ ถอดรหัสทางจีโนมมาศึกษาพันธุกรรมการแพร่กระจายตัวของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในนามกลุ่ม COVID-19 Network Investigations Alliance หรือทีมสืบสวนจีโนม CONI โดยมีหลักวิธีการทำงาน คือการแยก และเพิ่มปริมาณสายจีโนมของไวรัสออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ และนำมาถอดรหัสแยกกัน แล้วใช้ supercomputer มาประกอบกันเป็นจีโนม และหาความสัมพันธ์ของไวรัสในไทย กับสายพันธุ์ต่างๆ จากทั่วโลก รวมทั้งใช้สืบต้นตอการแพร่กระจายเชื้อเมื่อได้รับการติดต่อมา
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธนรรถ ชูขจร คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มม.นักวิจัยในทีมสืบสวนจีโนม CONI ได้แสดงข้อคิดเห็นในวารสารชั้นนำของโลก Proceedings of the National Academy of Sciences หรือ PNAS ว่า วงการแพทย์ควรระมัดระวังการใช้วิธีแบ่งเชื้อโควิดแบบ A-B-C ที่มักได้รับการกล่าวถึงในสื่อต่างๆ และเน้นถึงความสำคัญของการใช้วิธีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาติดตามการแพร่กระจายของไวรัส
นอกจากนี้ ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ ผศ.ดร.ธนรรถ รายงานการค้นพบเชื้อโควิด-19 สายตระกูลไทย ชื่อ A/Thai-1 ในฐานข้อมูล medRxiv ซึ่งเชื้อนี้น่าจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงในไทยตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนมกราคม 2563 และค่อยๆ ปรับตัวแพร่กระจายในไทย โดยเชื้อสายตระกูลนี้มีการเปลี่ยนแปลงโปรตีน Spike ที่ใช้ก่อโรค และมีเชื้อไวรัสที่สูญเสียโปรตีน ORF7a ที่น่าจะมีหน้าที่ใช้ต่อสู้กับระบบป้องกันไวรัสของมนุษย์ โดยทีมสืบสวนจีโนม CONI เน้นว่าข้อมูลสายตระกูลจีโนมไวรัสในปัจจุบันมีเพื่อการสืบสวนโรคเท่านั้น ความแตกต่างในการก่อโรคของเชื้อสายตระกูลต่างๆ ต้องมาจากข้อมูลการทดลองในห้องปฏิบัติการเป็นหลัก
ปัจจุบัน ทีมสืบสวนจีโนม CONI ได้ใช้เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนมของเชื้อโควิด-19 มากกว่า 100 ตัวอย่าง โดยพัฒนาวิธีถอดรหัสไวรัสจากผู้ป่วยที่ใช้เวลาเพียง 4 วัน และทำงานแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยมีทีมมาวิเคราะห์ผลแบบ Big Data ด้วยระบบ Supercomputer ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มาสืบสวนโรค ทำให้ได้ทราบที่มาของไวรัส และรู้ว่าควรติดตามกำจัดอย่างไร โดยตั้งเป้าหมาย คือส่งเสริมการใช้ข้อมูลจีโนมมากำจัดเชื้อโควิด-19