‘ศ.ดร.สุรเกียรติ์’ ปาฐกถา ‘โลกใหม่หลังโควิด’ ชี้ ‘พหุภาคี’ ถูกท้าทาย ห่วงปม ‘วัคซีน’ เป็นสินค้าสาธารณะหรือไม่ ?

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน มีการจัดงานเนื่องในวาระ 48 ปีแห่งการสถาปนาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในช่วงเช้ามีการประกอบพิธีถวายสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และบวงสรวงพระภูมิชัยมงคลรวมถึงเจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารภิกษุสงฆ์ จากนั้นในช่วงบ่ายมีการถ่ายทอดสดกิจกรรมต่างๆผ่านเฟซบุ๊กเพจ LawChula ได้แก่ ปาฐกถาประยูร กาญจนดุล ครั้งที่ 12 ในหัวข้อ ‘โลกใหม่หลังโควิด’ โดย ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า แนวโน้มใหญ่ของโลกมีหลายอย่างซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนสถานาการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ที่แน่ๆ คือสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งแต่ละประเทศมีวิธีดูแลต่างกัน โดยมีผลต่อรูปแบบธุรกิจซึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงพอสมควร กล่าวคือ ธุรกิจด้านสุขภาพ ประกันชีวิต บริการทางการแพทย์มีความสำคัญและเติบโตมากขึ้น ส่วนการศึกษา จะเห็นได้ว่า จำนวนนักเรียน นักศึกษาลดลง โรงเรียนหลายแห่งปิดตัว ทิศทางที่จะเกิดขึ้นคือการควบรวมสถานศึกษาซึ่งจะได้เห็นในภาคเอกชนก่อนภาครัฐ แนวโน้มใหญ่ตั้งแต่ก่อนโควิดและดำเนินมาถึงตอนนี้คือการลงทุนที่น้อยลงเนื่องจากคนสูงวัยใช้เงินน้อย เน้นออมเงิน ลงทุนกับพันธบัตรเยอะ นอกจากนี้ ชนชั้นกลางจะมากขึ้น เป็นสังคมเมืองและเน้นนวัตกรรมมากขึ้น เทคโนโลยีมีส่วนในการทำธุรกิจ การก่อสร้างสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้า ประปา ถนนเชื่อมเมือง รถใต้ดิน รถไฟฟ้ามีมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ห่วงใยสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น ทุกประเทศให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรม

“2 เดือนที่แล้ว หลายประเทศปิดประเทศ ราคาน้ำมันตกลงมาก สหรัฐต้องขายต่ำกว่าทุนทั้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบหลายสิบปี CPTPP เป็นประเด็นร้อน มีการชวนไทยไปเป็นสมาชิกให้ร่วมเจรจา ซึ่งมีคนค้านมากมายจากประเด็นเรื่องสินค้าเกษตรและ สิทธิบัตรยา ส่วนกลุ่มที่เห็นด้วยมองว่าจะทำให้การค้าไทยจะเติบโตขึ้น ในช่วงก่อนเกิดโควิด เอเชียผงาด มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ มีระบบการลงทุนใหม่ๆ แต่โควิดได้ผลักความร่วมมือระหว่างประเทศออกไป ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย เครื่องช่วยหายใจ เพราะต้องการดูแลประเทศตัวเองก่อน อย่างไรก็ตามโรคระบาดไม่รู้จักพรมแดน แต่กลับแก้ปัญหาในพรมแดนเท่านั้น ซึ่งน่ากังวลในเรื่องวัคซีนว่าความร่วมมือระหว่างประเทศยังมีอยู่ไหม วัคซีนจะเป็นสินค้าสาธารณะหรือไม่ หรือจะได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีสิทธิขายตามราคาที่ตนกำหนด” ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์กล่าว

Advertisement

ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ ยังระบุว่า ในช่วงหลังโควิด ระบบ ‘พหุภาคี’ ถูกท้าทายมากขึ้น บทบาทองค์การอนามัยโลกในช่วงต้นมีน้อยและแนะนำไม่ค่อยถูกทาง เช่น เรื่องการใส่หรือไม่ใส่หน้ากากที่สับสน อเมริกาไม่พอใจ และบราซิลก็ลงมือถล่มองค์การอนามัยโลก เลขาองค์การสหประชาชาติออกมาบอกว่าในสถานการณ์โควิด โลกขาดผู้นำ

“ใน 2 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่าพาณิชย์ออนไลน์เติบโตขึ้น 300-400 เปอร์เซ็นต์ในขณะธุรกิจหลายภาคส่วนปิดตัว โควิดทำให้ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองและเทคโนโลยีซึ่งมีมาก่อนแล้วมาถึงเร็วขึ้น อนาคตมาเร็วขึ้นความไม่แน่นอนมากขึ้น การต่อต้านโลกภิวัฒน์ ต้านพหุภาคีนิยม สงครามเย็นยุคใหม่ที่มาจากสงครามเทคโนโลยี การที่สังคมอเมริกันและยุโรปเริ่มโทษจีน มีความคิดในแง่ลบกับจีนลามไปถึงการต่อต้านเอเชียเกิดขึ้น ตลาดทุนมีความเปลี่ยนแปลงท่ามกลางโลกาภิวัฒน์ที่เป็นเสี่ยงเสี้ยว สินค้าบางอย่างยังมีความเป็นเสรีที่จะผลิตจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง ตลาดหุ้นกับเศรษฐกิจจริง เริ่มไม่เดินไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ในขณะที่เศรษฐกิจยังแย่ แต่อยู่ดีๆกิจการบางอย่างอยู่ๆ หุ้นก็ขึ้น” ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์

ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า หลังโควิด จะเกิดการพึ่งพาตนเองมากขึ้น การเน้นเรื่องความมั่นคงทางอาหารจะเสริมด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพ เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน การท่องเที่ยวแบบใหม่ การออกกำลังกายเป็นที่นิยม โลกยุคใหม่ประเทศต่างๆ จะพึ่งพาตนเอง ยืนบนขาตัวเอง จะเกิดเศรษฐกิจของความน่าเชื่อถือซึ่งมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กรณีที่มีเครื่องมือแพทย์ผลิตออกมาจำนวนมาก ทั้งที่คุณภาพดีและไม่ดี ระบบการตรวจสอบที่ปลอมแปลงไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ โรงงานที่ยังพอมีทุน จะมีการใช้หุ่นยนต์มาช่วยผลิต เนื่องจากถ้าเกิดโรคระบาดอีกก็ไม่ต้องปิดโรงงาน เพราะให้หุ่นยนต์ทำได้ ภาคธุรกิจเกิดการควบรวมกิจการ ฟื้นฟูกิจการ เศรษฐกิจโลกฝืดเคือง นิวนอร์มอลในโลกสงครามการค้า ในโลกโลกาภิวัฒน์ ในโลกที่พหุภาคีลดลง ความมั่นคงทางอาหาร ทางการแพทย์สำคัญมากขึ้น อนุภูมิภาคหลากหลายและจำนวนมากขึ้น เราจะผสานโลกก่อนและหลังโควิดอย่างไร

Advertisement

ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า ในส่วนของการทำงานด้านกฎหมาย นักกฎหมายต้องปรับตัว เมื่อเกิดโควิด มีการ Work from Home ซึ่งทำให้เห็นว่า สำนักงานกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป ลูกความพร้อมประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เข้าถึงทนายอาวุโสได้โดยตรง นี่จะเป็นมิติใหม่ที่ตัดขั้นตอนการทำงานต่างๆไปมาก

“เรื่องการศึกษาฝากคณบดีปฏิรูป ต้องเน้นหลักสูตรข้ามสาขา ต้องยืดหยุ่น และข้ามคณะได้ด้วย ต้องบริหารแบบสรรพศาสตร์ บัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่อยากได้ อาจารย์ก็ต้องพันธุ์ใหม่ด้วย ทัศนคติต้องเปลี่ยน นักกฎหมายต้องเปลี่ยนผ่าน มีความรู้ในดิจิตอล ศึกษาเรียนรู้ทุกอย่างตลอดชีวิต ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาบอกว่า คนอยู่รอดไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด แต่เป็นคนที่ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด เราเห็นชัดถึงสัจธรรมที่ว่าความไม่แน่นอนคือความแน่นอน นี่คือสิ่งที่นักกฎหมายต้องน้อมนำและพร้อมปรับตัว” ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image