ชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรมบุก วธ.ร้อง ‘อิทธิพล’ แก้ปัญหาทำลายโบราณสถาน

ชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรมบุก วธ.ร้อง ‘อิทธิพล’ แก้ปัญหาทำลายโบราณสถาน

โบราณสถาน – เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่กรมศิลปากร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นตัวแทนยื่นหนังสือเรื่องขอให้ผลักดันแก้ปัญหาการทำลายโบราณสถานในประเทศไทย พร้อมตัวอย่างภาพความเสียหายของโบราณสถาน ถึงนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยมีนายประดิษฐ์ โปซิว ผู้ตรวจราชการ วธ.รับเรื่องแทน ว่า ขณะนี้มีโบราณสถานในประเทศไทย ถูกทำลาย หรือถูกทำให้เสียหายครั้งแล้วครั้งเล่า จะด้วยสาเหตุแห่งความไม่รู้ หน่วยงานที่รับผิดชอบละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การมีผลประโยชน์แอบแฝงก็ตาม หรือสาเหตุใดก็ตาม

“เมื่อพิจารณาแล้วมีอย่างน้อย 2 หน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่า วธ.เป็นผู้ดูแล คือ กรมศิลปากร และกรมการศาสนา โดยมีหน่วยงานต่างกระทรวงเกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ และกรมธนารักษ์ เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าจะมีความทับซ้อนในทางปฏิบัติที่จะดูแลโบราณสถาน แต่ก็มิใช่อุปสรรคที่จะบริหารจัดการไม่ได้ วธ.จะต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานให้เกิดความร่วมมือ หรือทางออกในการอนุรักษ์ ทั้งในเรื่องนโยบาย งบประมาณ ตลอดจนการดำเนินงาน” นายวรา กล่าว

นายวรากล่าวต่อว่า หนังสือที่ยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการ วธ.ทางชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรมได้ขอให้รัฐมนตรีว่าการ วธ.ดำเนินการในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 5 ประเด็น คือ 1.สั่งการให้กรมศิลปากรเร่งขึ้นทะเบียนโบราณสถานทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด อย่าประวิงเวลา 2.โปรดสั่งการให้กรมศิลปากรเคร่งครัดในการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ทำลายโบราณสถาน เช่น อาคารโบราณสถานบอมเบย์เบอร์ม่า จ.แพร่ ที่ถูกทุบทำลายทั้งหลัง สิมโบราณที่ ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งถูกแปลงสภาพปรับเปลี่ยนเป็นสีชมพู หรือที่วัดบางด้วนนอก ต.บางด้วน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งได้ทำลายพระพุทธรูปสมัยอยุธยา และทุบอุโบสถเก่าทิ้งทั้งหลัง เป็นต้น

Advertisement

นายวรากล่าวอีกว่า 3.ให้ วธ.ประสานความร่วมมือหาทางออกในข้อขัดแย้ง หรืออุปสรรคอื่นใด ที่คาบเกี่ยวความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานในการประกาศให้เป็นโบราณสถาน หรือการอนุรักษ์โบราณสถาน 4.จากข้อจำกัดในการดำเนินงานต่างๆ ของกรมศิลปากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ เวลา หรือบุคลากร จึงขอให้เร่งสร้างช่องทางเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล หรือบูรณะโบราณสถานตามสิทธิที่ระบุในรัฐธรรมนูญ บุคคล และชุมชนย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงาม ทั้งของท้องถิ่น และของชาติ โดยกรมศิลปากรทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา หรือพี่เลี้ยงเรื่องความถูกต้องในการดูแลบูรณะ

นายวรากล่าวว่า และ 5.แก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หรืออื่นๆ ที่เป็นการรวบอำนาจไปที่อธิบดีกรมศิลปากร เพราะเป็นอุปสรรค ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และบางครั้งอาจมีข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใส ทั้งนี้ นับจากวันนี้จะต้องไม่มีโบราณสถานอื่นใดในประเทศไทยถูกทำลายอีก

“อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับผู้ตรวจราชการ วธ.ที่มารับเรื่องแทน ได้บอกถึงข้อขัดข้องต่างๆ และจะดำเนินการไปตามกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นคำตอบที่จับต้องไม่ได้ ผมไม่พอใจ และเห็นว่ากรมศิลปากรควรรับผิดชอบมากกว่านี้ ผมต้องการให้รัฐมนตรีว่าการ วธ.เป็นเจ้าภาพในการที่จะจัดการว่านับแต่วันนี้เป็นต้นไป ต้องไม่มีการทำลายโบราณสถาน ถึงแม้จะมีข้ออ้างว่ามีบุคลากร มีงบประมาณจำกัด แต่โดยส่วนตัวผมว่าโลกยุคใหม่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะเรื่องโบราณสถานเกี่ยวพันกับการท่องเที่ยวที่การสร้างรายได้แก่ประเทศสูงเป็นอันดับ 2 ซึ่งเราควรส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หลังจากนี้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาโบราณสถาน ต้องเป็นหูเป็นตาดูแล หรือแจ้งเหตุถ้ามีการทำลายขึ้นอีก หรือแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ทำลายโบราณสถาน เพราะโบราณสถานถือเป็นสมบัติของทุกคน และอาจจะต้องมีการฟ้องร้องกรมศิลปากร ถ้ากรมศิลปากรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” นายวรา กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image