ห่วงอจ.ถูกจับผิด’สอนออนไลน์’ นักศึกษาถูกฝัง’ความเชื่อ-การเมือง’ จี้ม.สร้างภูมิคุ้มกันรับมือปัญหา

ห่วงอจ.ถูกจับผิด’สอนออนไลน์’ นักศึกษาถูกฝัง’ความเชื่อ-การเมือง’ จี้ม.สร้างภูมิคุ้มกันรับมือปัญหา

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาในการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิดด-19 เป็นตัวเร่งให้มหาวิทยาลัยปรับมาสอนออนไลน์เร็วขึ้น จากเดิมที่เตรียมพร้อมไว้บ้างแล้ว ข้อดี คือ การสอนออนไลน์ อาจารย์จะมีข้อเปรียบเทียบ เพราะทุกคนสามารถดูการสอนของอาจารย์ได้ เกิดการพัฒนาตัวเอง เพราะเรียนรู้ร่วมกันได้ทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะอาจารย์ในประเทศ

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ข้อเสีย ทำให้เกิดการจับผิด หากสอนพลาด ก็จะทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลให้อาจารย์เกิดความเปราะบาง ดังนั้นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือพัฒนาอาจารย์ ซึ่งต้องปรับตัวอย่างแรก ในส่วนของนักศึกษา เบื้องต้นคิดว่าไม่มีปัญหาเรื่องการปรับตัว แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ การเรียนออนไลน์ เด็กสามารถเรียนรู้พร้อมกันได้ทั่วโลก อาจทำให้เกิดการปลูกฝัง ความเชื่อลัทธิ การเมือง ซึ่งค่อนข้างน่ากลัว อาจต้องสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว

“สิ่งที่ต้องเร่งทำให้ตอนนี้คือการพัฒนาอาจารย์ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา inner check all เพราะอาจารย์คนเดียวสามารถสอนได้ทั่วโลก ทปอ. เองมีการหารือเรื่องนี้กันมาตลอด แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องงบประมาณ และการเรียกร้องของสังคมในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มหาวิทยาลัยอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ผมเองอยากให้สังคมเข้าใจอาชีพครู และอาจารย์ สถานการณ์ของมหาวิทยาลัยขณะนี้ถึงไม่มีปัญหาโควิด-19 เข้ามาก็เรียกว่า เหนื่อย เห็นจากยอดรับเด็กเข้าเรียนผ่านระบบการรับสมัครการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ประจำปีการศึกษา 2563 มีเด็กสมัครไม่ถึง 2 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กซิลกว่า 5 หมื่นคน เพราะตอนนี้การเข้ามหาวิทยาลัยมีการแข่งขันน้อย ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลให้การสนับสนุนงบพัฒนาบุคลากร และหาวิธีดึงดูดให้เด็กเก่งสนใจมาเป็นครู อาจารย์มากขึ้น ตอนนี้แทบจะไม่มีคนสนใจทุนเรียนต่อที่ต่อเนื่องตั้งแต่ปริญญาตรี ถึงปริญญาเอก เพราะใช้เวลานาน จบมาแล้ว เงินเดือนก้าวกระโดดไม่ทันเพื่อนที่จบปริญญาตรี ซึ่งได้ทำงานก่อน” นายสุชัชวีรย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image