เสียงสะท้อน..ชาวอุดมฯ เกณฑ์ใหม่ขอ ‘ศ.’ ยุ่งยาก-ซับซ้อน??

เสียงสะท้อน..ชาวอุดมฯ เกณฑ์ใหม่ขอ ‘ศ.’ ยุ่งยาก-ซับซ้อน??

 

ทันทีที่ประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ. ) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์(ผศ.) รองศาสตราจารย์(รศ.) และศาสตราจารย์(ศ.) พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา ….

ทำเอาคนในแวดวงอุดมศึกษา ถึงกับกุมขมับ บ่นอุบกับความยุ่งยากของหลักเกณฑ์ใหม่ !!

โดยสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ใหม่ที่กำหนด ดังนี้

Advertisement

ผลงานทางวิชาการที่ขอ ผศ. งานวิจัย 2 เรื่องได้คะแนนระดับ B หรืองานวิจัย 1 เรื่องและ ผลงานวิชาการในลักษณะอื่น 1 รายการ ได้คะแนนระดับ B หรือ งานวิจัย 1 เรื่อง และผลงานวิชาการรับใช้สังคม 1 เรื่องคะแนนระดับ B หรืองานวิจัย 1 เรื่อง และตำรา/หนังสือ 1 เล่ม ได้คะแนนระดับ B สาขาด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ใช้ผลงานทางวิขาการลักษณะอื่น/ผลงานวิชาการรับใช้สังคม ระดับB /บทความทางวิชาการ ระดับB+ แทนงานวิจัยได้

การเผยแพร่งานวิจัย วารสารวิชาการอยู่ในฐานข้อมูลที่ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) กำหนด หนังสือรวมบทความวิจัยที่มีบรรณาธิการ นำเสนอเป็นบทความวิจัยต่อที่ประชุมทางวิชาการในระดับชาติ/นานาชาติ จัดโดยสมาคมวิชาการ/วิชาชีพ 5 ปี หนังสือได้เผยแพร่ไปในวงวิชาการและวิชาชีพอย่างกว้างขวาง

ผลงานทางวิชาการที่ขอ รศ. มีหลายวิธี อาทิ ตำรา/หนังสือ 1 เล่ม และงานวิจัยระดับB+ หรือตำราและหนังสือ 1 เล่ม และงานวิจัย 1 เรื่อง และผลงานในลักษณะอื่น คะแนนระดับB+ ตำราหนังสือ 1 เล่ม งานวิจัย 1 เรื่อง และผลงานรับใช้สังคม B+ งานวิจัยต้องได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติ หรือวิธีที่ 2 งานวิจัย 10 เรื่อง เผยแพร่ในวารสาร Q1 Q2 หลังได้รับตำแหน่งผศ. 5 เรื่อง มีงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิง Scopus หรือ สโกปัส ซึ่งเป็นฐานข้อมูลบรรณานุกรมที่รวมรวมบทคัดย่อและการอ้างอิงจากวารสารวิชาการ อย่างน้อย 500 รายการ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยอย่างน้อย 5 โครงการ

ผลงานทางวิชาการขอ ศ. อาทิ ตำรา/หนังสือ 1 เล่ม งานวิจัย 5 เรื่อง ระดับ A เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ หรือ ตำรา/ หนังสือ 1 เล่ม ระดับA ผลงานในลักษณะอื่น ผลงานรับใช้สังคม 5 เรื่อง ระดับA เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย อย่างน้อย 10 โครงการ เป็นต้น

นายพีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยแบะนวัตกรรม (อว.) ยืนยันว่า ประกาศ ก.พ.อ.ฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงเพื่อให้การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการของคณาจารย์มีความเป็นสากล ทั้งเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็น 4 กลุ่ม ที่สอดคล้องกับการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก รวมถึงแก้ไขหลักเกณฑ์เดิมที่ไม่เหมาะสมและไม่ทันสมัย หลังจากที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก.พ.อ.จะมีการเดินสายชี้แจงมหาวิทยาลัยทุกแห่ง เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคณาจารย์ ทุกคน และเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กของกระทรวง อว. และ รัฐมนตรีว่าการอว.โดยหลักการแล้วยืนยันว่า เกณฑ์ใหม่นี้ให้โอกาสคณาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งวิชาการได้หลากหลายวิธี และง่ายขึ้นแต่ก็ไม่ได้ลดมาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการลง

ขณะที่ น.ส.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการ ก.พ.อ. ด้านตำแหน่งวิชาการ ชี้แจงว่า ประกาศ ก.พ.อ. มีรายละเอียดค่อนข้างมากขอให้คณาจารย์อ่านอย่างละเอียด เกณฑ์ใหม่ที่สำคัญ และเชื่อมั่นว่าจะทำให้คณาจารย์พอใจคือ การยกเลิกการกำหนดสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของผู้ขอว่าต้องมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 และยกเลิกการกำหนดสัดส่วนการมีส่วนร่วมของผู้ประพันธ์อันดับแรก หรือ ผู้ประพันธ์บรรณกิจ ซึ่งเดิมผลงานจะใช้เพื่อขอตำแหน่งวิชาการได้เพียงคนเดียว แต่เกณฑ์ใหม่จะสามารถมีผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการขั้นต่ำได้มากกว่า 3 คน ขึ้นกับบทบาทหน้าที่ และการยกเลิกเปอร์เซ็นต์สัดส่วนผลงาน ก็ให้ใช้ลายเซ็นรับรองแค่ 2 คน คือ ผู้ประพันธ์อันดับแรก กับ ผู้ประพันธ์บรรณกิจ ,มีการปรับลักษณะคุณภาพของผลงานวิชาการ จากเดิมคือ ระดับ ดี ดีมาก และดีเด่น เป็น ระดับ B ,B+,A และ A+ ,

การขอระดับ ศ. เกณฑ์ใหม่กำหนดให้ผลงานทางวิชาการมีคุณภาพระดับ A+หรือระดับดีเด่น อย่างน้อย 2 เรื่อง จากเดิมกำหนดที่ 5 เรื่องซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก นอกจากนี้ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องวิพากษ์วิจารณ์งานโดยใช้องค์ความรู้อย่างแท้จริง หากพิจารณาว่าผลงานไม่ผ่านเกณฑ์ก็ต้องมีคำชี้แจงที่ชัดเจนด้วย เพื่อให้ความยุติธรรมกับผู้เสนอ ทั้งสามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้

ทางด้าน น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ให้ความเห็นว่า เกณฑ์ใหม่นี้มีความซับซ้อนและยากเกินไป ทั้งระดับ ผศ. รศ. และ*ศ.* โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ ที่กำหนดว่า ต้องได้รับการนำเสนอเป็นบทความวิจัยต่อที่ประชุมทางวิชาการระดับชาติ/นานาชาติ และได้เผยแพร่ไปยังวงวิชาการและวิชาชีพอย่างกว้างขวาง เกณฑ์การส่งผลงานอ่านแล้วไม่เข้าใจ จากเดิมประเมิน ระดับ ดี ดีมาก และดีเด่น เป็น ระดับ B ,B+,A และ A+ ซึ่งก็ต้องมาตีความอีกว่า แต่ระดับหมายถึงอะไร ไม่มีบทเฉพาะกาลให้กับผลงานที่ตีพิมพ์แล้ว ทำให้ผลงานเก่า ๆของอาจารย์ที่ทำไว้ไม่ถูกนำมาใช้ ที่สำคัญยังขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง กับมหาวิทยาลัยทุกกลุ่ม

“การปรับเกณฑ์การขอตำแหน่งทางวิชาการครั้งนี้นอกจากเข้าใจยากแล้ว ส่วนตัวยังคิดว่า เกณฑ์ขอตำแหน่งทางวิชาการ ยังมีการปรับบ่อยเกินไป เพราะล่าสุดเพิ่งมีการปรับไปเมื่อปี 2560 และมาปรับใหม่อีกครั้งในปี 2563 โดยไม่มีการประกาศให้อาจารย์ได้เตรียมตัวล่วงหน้า ทำให้เกิดความไม่พอใจ อย่างไรก็ตามเกณฑ์ใหม่นี้ ยังมีข้อดีอยู่บ้าง อาทิ ยกเลิกการกำหนดสัดส่วนผลงาน ผลงานที่ผ่านการประเมินในระดับนานาชาติ ผ่านการประเมินได้โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น แต่ก็สร้างความไม่สบายใจให้กับอาจารย์ กระทบต่อขวัญกำลังใจ โดยขณะนี้เริ่มมีอาจารย์หลายคน คิดลาออก ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งกำหนดให้อาจารย์ต้องมีตำแหน่งทางวิชาการ หากเกณฑ์การขอมีความยาก ก็จะส่งผลให้อาจารย์ถูกยกเลิกสัญญาจ้างได้ และอนาคตก็ไม่มีใครอยากเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะไม่มีความมั่นคง” น.ท.สุมิตร กล่าว

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกคล้ายกันว่า ทันทีที่เกณฑ์ดังกล่าวประกาศใช้ ทำให้เกิดเสียงบ่นอย่างหนักในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะเรื่องเกณฑ์ที่ยากเกินไป แต่ละระดับมีการกำหนดจำนวนเล่ม ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และอีกหลายหลักเกณฑ์ที่ยุ่งยาก ต่อไปอาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องไปทุ่มเทกับงานวิจัย กลายเป็นกลุ่มมนุษย์ที่มีความแตกต่าง ปลีกตัวออกจากสังคมอย่างรุนแรงขึ้น ซึ่งอยากถามว่า เกณฑ์ใหม่นี้ให้อะไรกับสังคม หรือช่วยให้ประเทศพัฒนาได้เร็วขึ้นหรือไม่ แต่สิ่งที่ตอบได้ตอนนี้คือ เกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ทำให้ชีวิตอาจารย์ไม่ปกติ ขาดความสมดุล ไม่ได้ด้วยงานด้วยความสุข แต่ทำเพราะต้องทำ ด้วยมีเกณฑ์บังคับ

“ใครที่บอกว่า เกณฑ์นี้ง่ายผมบอกเลยว่าไม่จริง ออกมาแล้วมีแต่เสียงบ่น เพราะไม่เคยสอบถามความคิดเห็นในวงกว้าง หากไม่ยกเลิก เกณฑ์นี้จะเข้ามาทำลายชีวิตอาจารย์ มีอาจารย์ลาออกหรือถูกยกเลิกสัญญาจ้างมากขึ้น เพราะไม่สามารถทำผลงานวิชาการเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการได้ “ศ.สมพงษ์กล่าว

เสียงบ่นดังขนาดนี้เห็นที อว. คงต้องกลับมาทบทวน ข้อดี ข้อเสีย ของหลักเกณฑ์ดังกล่าว สำคัญที่สุดคือการรับฟังความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจ เพื่อให้การขอตำแหน่งทางวิชาการ เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ไม่ใช่เพิ่มภาระ ทำให้อาจารย์หมดกำลังใจ เครียด กระทบกับคุณภาพการสอนไปด้วย!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image