จี้ ‘บิ๊กตู่-ณัฏฐพล’ ยกเลิกคำสั่งปลดพนง.องค์การค้าฯ

จี้ ‘บิ๊กตู่-ณัฏฐพล’ ยกเลิกคำสั่งปลดพนง.องค์การค้าฯ ยันเดินหน้าค้านถึงที่สุด เล็งฟ้องศาลปกครอง-แรงงาน  

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ วัดสามัคคีธรรม กรุงเทพฯ นายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่  กว่า 100 คน จัดประชุมใหญ่วิสามัญสหภาพแรงงานฯ พร้อมแถลงข่าวกรณีองค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ประกาศเลิกจ้างพนักงานองค์การค้าฯ 961 คน จากทั้งหมด 1,035 คน  ว่า  สหภาพฯไม่เห็นด้วยกับคำสั่งเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่คณะกรรมการสกสค. อ้าง ว่า องค์การค้าฯ มีหนี้สินล้นพ้น จนไม่สามารถจ้างพนักงานต่อไปได้ สหภาพฯ จะนำเนินการฟ้องตามข้อกฎหมายแรงงานและศาลปกครอง รวมถึงจะขอมติที่ประชุมวิสามัญสหภาพแรงงานฯ มอบอำนาจให้สหภาพฯ เป็นผู้แทนสมาชิกไปดำเนินการ ทั้งนี้ขอให้พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายณัฏฐพล  ทีปสุวรรณ  รัฐมนตรีว่าการศธ. ยกเลิกคำสั่งที่ไม่ชอบธรรมครั้งนี้ โดยสหภาพฯ จะดำเนินการคัดค้านเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด  เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานองค์การค้าฯ ทุกคน  ส่วนกรอบเวลานั้น คงไม่สามารถกำหนดได้ แต่อยากให้ผู้บริหารสูงสุดของประเทศ คำนึงถึงผลกระทบต่อพนักงาน  ซึ่งควรจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

นายอารีย์  สืบวงศ์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานองค์การค้าฯ กล่าวว่า  การเลิกจ้างพนักงานองค์การค้าฯ ครั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีการจ่ายชดเชยอย่างไร  ระยะเวลาเท่าไร การเลิกจ้างครั้งนี้ ถือเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไม่เคยมาแจ้งหรือเชิญให้พนักงาน หรือสหภาพฯ ซึ่งเป็นตัวแทนรับทราบเหตุผล หรือแม้กระทั่งสอบถามความคิดเห็น  สหภาพฯ สรุปเหตุผลการเลิกจ้างครั้งนี้ ตามข่าวที่ผู้บริหารให้สัมภาษณ์ ว่า เป็นเพราะองค์การค้าฯ ขาดสภาพคล่อง มีค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานค่อนข้างสูง มีหนี้สินล้นพ้นตัวมากกว่า 7 พันล้านบาท ซึ่งที่กล่าวหาว่าค่าจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่สูง ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลเอกสารรายงานค่าใช้จ่าย กับสัดส่วนของงานและรายได้ด้วย ว่าอยู่ในอัตราส่วนของโครงสร้างราคาขาย และกำไรที่ควรจะเป็นหรือไม่  และในอัตราส่วนโดยรวมของค่าจ้างพิมพ์รวมกับค่าจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ รวมเป็นสองเด้งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขาดทุน รวมถึงหากพนักงานและเจ้าหน้าที่ล้นงานแต่เหตุใดงานพิมพ์หลักที่เป็นขององค์การค้าฯผู้บริหารต้องไปจ้างบริษัทเอกชนภายนอกพิมพ์

Advertisement

นายอารีย์ กล่าวว่า หากเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด การพิมพ์แบบเรียนต้นฉบับของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)จึงเท่ากับว่าองค์การค้าฯต้องยุติภารกิจทั้งหมดความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจบานปลายไปถึงการละเมิดสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่กฎหมายกำหนด และ หนี้สินและความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการของผู้บริหารทั้งสิ้น การที่คณะกรรมการองค์การค้าฯมีมติเลิกจ้างพนักงานนั้นจึงเป็นการรกระทำที่ไม่เป็นธรรมส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิต ทั้งนี้ ปัญหาขององค์การค้าฯ เกิดขึ้นมานานหลาย 10 ปี มีหนี้สินสะสม ซึ่งไม่ได้เกิดจากการทำธุรกิจ แต่เกิดจากการกู้ยืมเงินมาจ่ายค่าจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนที่นำไปจ้างเอกชนภายนอกพิมพ์ ซึ่งเป็นการใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์  เป็นการดำเนินการที่ผิดพลาดของผู้อำนวยการองค์การค้าฯ แต่ละยุค โดยในช่วงปี 2539-2540 องค์การค้าฯ ยังมีกำไรสะสมมาหมุนใช้  จนมาหมด ทำให้ปี2544 ไม่มีกำไรสะสม เริ่มกู้เงินธนาคาร โดยนำทรัพย์สินขององค์การค้าฯ ไปจำนอง  ซึ่งสถาบันการเงินจะให้มีการทำแผนการใช้เงิน แต่เท่าที่ทราบไม่มีการนำเงินไปใช้ตามแผนที่วางไว้

“พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานตามคำสั่งของผู้บริหาร แต่พอขาดทุน กลับมาเลิกจ้างพนักงาน  ถือเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม และเป็นที่น่าแปลกใจว่า คณะกรรมการสกสค. สั่งเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ แต่ทันทีที่เลิกจ้าง ก็ทำสัญญาจ้างนายอดุลย์  บุสสา เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ ทันที เท่ากับว่า องค์การค้าฯ ไม่ได้ถูกยุบ แต่เป็นการล้างพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เงินเดือนสูง และมีแผนเตรียมรับพนักงานเข้ามาใหม่  จึงอยากถามว่า แผนปรับโครงสร้างแบบนี้ เรียกว่ามีคุณธรรมหรือไม่  ส่วนการตั้งนายอดุลย์ มาเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าฯ คนใหม่นั้น เป็นอำนาจของบอร์ดองค์การค้าฯ อยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ลงไปดูกระบวนการสรรหาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนตัวนายอดุลย์ ถือว่ามีความคุ้นเคยกันดี เคยเป็นรองผู้อำนวยการองค์การค้าฯ  และประธานสหภาพฯ ดังนั้นจึงอยากขอให้เข้าใจการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯทุกคน ” นายอารีย์กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image