วงเสวนาชี้ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ คือ ‘นิว นอร์มอลหลัง 2475’ ปฏิรูปราชการ เสมอภาค เท่าเทียม

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ร้านกาแฟเบรนเวค ภายในศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน จัดงานศิลปวัฒนธรรมเสวนา หัวข้อ “New Normal หลังปฏิวัติ 2475” วิทยากรโดยนายวีระยุทธ ปีสาลี เจ้าของหนังสือ “แม่ค้าศักดินา” และ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เขียน มองสำนึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่าน อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน ดำเนินรายการโดยนายเอกภัทร์ เชิดธรรมธร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้สนใจร่วมฟังเสวนาจำนวนมาก โดยก่อนเริ่มเสวนามีการเปิดเพลง “วันชาติ 24 มิถุนา” อีกด้วย

นายวีระยุทธกล่าวว่า นิว นอร์มอล ในปัจจุบันหมายถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งในอดีตเจ้านายผู้หญิงต้องอยู่ในกรอบธรรมเนียม แต่ภายหลังยุค 2475 โดยเฉพาะเจ้านายผู้หญิงไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม เพราะมีความใกล้ชิดประชาชน ออกสู่สังคมสาธารณะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ย่ำรุ่ง 24 มิ.ย.2475 ส่งผลให้เจ้านายในวังต่างๆ กลัวว่าเหตุการณ์จะรุนแรงเหมือนการปฏิวัติฝรั่งเศส หรือปฏิวัติรัสเซีย ซึ่งมีการปฏิบัติที่ไม่ดี

นายวีระยุทธกล่าวว่า หลังจาก 24 มิ.ย.2475 เจ้านายบางกลุ่มอพยพออกจากวังสวนสุนันทาไปอยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

Advertisement

“หลัง 2475 แล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นราชสกุลบริพัตร) ผู้มีบทบาททางการเมือง การปกครองขณะนั้นถูกให้ออกจากไทยไปพำนักอยู่บันดุง มาเลเซีย พร้อมโอรส ธิดา บางส่วนไปพำนักที่สิงคโปร์ ซึ่งการไปอยู่ต่างประเทศช่วง 2 คือภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช ทำให้ชีวิตเจ้าเปลี่ยนแปลงไป สิ่งเห็นชัดคือการดำรงชีพและการศึกษา ส่วนตัวเขียนไว้ในหนังสือ ‘แม่ค้าศักดินา’ กล่าวถึงเจ้านายผู้หญิงที่มาประกอบอาชีพค้าขาย สืบเนื่องจากแต่เดิม เจ้านายผู้หญิงจะได้รับเงินปี เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงถูกลดเงินปีลง นอกจากนี้ บรรดาระบบวังต่างๆ เริ่มล่มสลายลง เหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้านายผู้หญิงบางส่วนต้องออกมาค้าขาย” นายวีระยุทธกล่าว

วีระยุทธ ปีสาลี

ผศ.ศรัญญูกล่าว นิว นอร์มอล แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการนำรัฐธรรมนูญไปเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ คณะราษฎรมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง และการมีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องยืนยันอำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชน สามารถมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความสามารถ ตลอดจนรากฐานที่นำไปสู่การปฏิรูประบบราชการโดยการวางโครงสร้างแบบใหม่ การปฏิรูปการบริหารงานของภาครัฐ และส่วนที่สอง เรื่องการสร้างชาติการปกครองระบบใหม่ อาทิ มีการเลือกตั้งครั้งแรกผ่านผู้แทนตำบล ประชาชนสามารถเลือกผู้แทนได้ถ้ามีอายุถึงเกณฑ์ 20 ปีบริบูรณ์

“รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศรัฐนิยม เพื่อสร้างแบบแผน อาทิ การแต่งกาย กิจวัตประจำวัน อบรมจิตใจ ส่งเสริมอาชีพ เน้นความเสมอภาคของทุกคนที่เท่ากัน รวมถึงการยกเลิกยศถาบรรดาศักดิ์ การส่งเสริมฐานะสตรี ให้เท่าเทียมกับบุรุษ และสนับสนุนวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวเป็นสถาบันครอบครัว” ผศ.ศรัญญูกล่าว

ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image