2 น.ศ.บริหารฯ ม.ศรีปทุม พลิกวิกฤตโควิด-19 สร้างโมเดลธุรกิจ ช่วยชุมชนบ้านเกิด

2 น.ศ.บริหารฯ ม.ศรีปทุม พลิกวิกฤตโควิด-19 สร้างโมเดลธุรกิจ ช่วยชุมชนบ้านเกิด

โควิด-19 – จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบกันเป็นวงกว้าง ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาจากสาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงนำเทคนิคการทำธุรกิจที่ได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัย มาปรับใช้เข้าสู่ e-commerce platform หลักทุกช่องทางในประเทศไทย

โดย 2 นักศึกษาสาว เยาวชนคนรุ่นใหม่จากรั้วแดนปาล์ม มหาวิทยาลัยศรีปทุม สามารถสร้าง “โมเดลธุรกิจใหม่” ช่วยเหลือชุมชนบ้านเกิด พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสช่วงโควิด-19 ระบาด

“น้องจ๋า” น.ส.ไหมไทย ชัยประโคน และ “น้องลิลลี่” น.ส.ชวลัน อรรถสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

Advertisement

น้องจ๋า ไหมไทย เล่าว่า จ๋าเองเป็นเจ้าของแบรนด์ HELAN กระเป๋าจักสาน สไตล์เรียบหรู โดยจ๋ามีทีมที่ร่วมสร้างธุรกิจมาด้วยกัน คือ ทีม Phenomenal ประกอบด้วย น.ส.หนึ่งหทัย สุพิพัฒน์ประเสริฐ น.ส.ศิริลักษณ์ เกตุจันทร์ และนายธนภัทร วีระพรจิจิต มี ดร.อนุพงศ์ อริรุทธา เป็นอาจารย์ที่ดูแล และให้คำปรึกษาโครงการฯมาตลอด

“แรกเริ่มที่บ้าน และคนในชุมชนรวมตัวกันทำจักสาน เพื่อส่งให้พ่อค้าแม่ค้าคนกลางไปขายในตัวอำเภอ แต่ไม่มีใครคิดว่าวันหนึ่งจะเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น คนที่บ้าน คนที่ชุมชน ต่างได้รับผลกระทบกันแทบทุกครัวเรือน จ๋ากับเพื่อนจึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาจากสิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยมา โดยสร้างร้านค้าขึ้นบนออนไลน์ e-commerce platform” น้องจ๋ากล่าว

น้องจ๋าบอกด้วยว่า ผลตอบรับที่กลับมา คือยอดขายพุ่งขึ้นจากเดิมสูงมาก จากรายได้ที่เคยได้จากพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง วันนี้มีรายได้เพิ่มมาอีกช่องทาง และเป็นรายได้ที่ด้วยความที่ชุมชนสามารถตั้งราคาที่ชุมชนอยากจะขาย ลูกค้าก็ได้ราคาจากโรงงาน ลูกค้าแฮปปี้ ชุมชนแฮปปี้ เราก็มีความสุข

Advertisement

ส่วนน้องลิลลี่ ชวลัน เล่าว่า สำหรับลิลลี่เป็นเจ้าของแบรนด์ CHAVALAN Handcrafted & Customized Thai Silk Bag กระเป๋าผ้าไทย สไตล์วัยรุ่น พิมพ์ชื่อได้ เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจจึงเริ่มได้รับผลกระทบ ทำให้รายได้ของคนที่บ้าน รวมถึงธุรกิจภายในชุมชนบ้านเกิดลดลง นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวลดลง ประชาชนก็พากันออกจากบ้านน้อยลง พอปริมาณการซื้อน้อยลง ปริมาณการผลิตก็ต้องลดลงตาม คนที่ชุมชนก็ว่างงาน รายได้ลดลง แต่รายจ่ายยังคงเท่าเดิม เพราะวิกฤตโควิด-19

“จริงๆ แล้ว แบรนด์ของลี่ได้รับผลกระทบจากการกักตัวของประชาชน ความต้องการซื้อของใช้อย่างกระเป๋า จึงมีความสำคัญเป็นรองของการซื้ออาหาร ทำให้ยอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัด” น้องลิลลี่ กล่าว

น้องลิลลี่เล่าอีกว่า แรกเริ่มลี่ใช้วิธีการขายแบบ Offline ปากต่อปาก ใช้สวย ดี บอกต่อ คนเห็นเราใช้เค้าก็ชอบ ก็อยากได้บ้าง แต่แล้วเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ได้รับผลกระทบพอสมควร จึงเริ่มมองหาช่องทางใหม่ๆ อย่าง e-commerce platform โดยสร้าง Facebook Page ทำให้คนรู้จักแบรนด์ของเรามากขึ้น จึงทำให้ยอดขายมากขึ้นเช่นกัน

สำหรับผลตอบรับที่เกิดขึ้นนั้น น้องลิลลี่บอกว่า ตั้งแต่เริ่มมาเป็น e-commerce ผลตอบรับดีมาก แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง มียอดขายมากขึ้น ทำให้สินค้าของชุมชนได้เข้าสู่ตลาดกว้างขึ้นด้วย

ด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้ภาคธุรกิจต้องประสบปัญหา และรายได้ลดลง จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชนบ้านเกิดที่กำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างยากลำบาก ด้วยการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ พร้อมพากันข้ามวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image