กมว.เล็งฟ้องมหา’ลัยเอกชน เปิดรับน.ศ.ปี57-58 เกิน 3.8 พันคน

กมว.เล็งฟ้องมหา’ลัยเอกชน เปิดรับน.ศ.ปี57-58 เกิน 3.8 พันคน ทำชวดใบบริหาร เล็งถอนตัว 15 ราย

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุมกมว.เมื่อเร็ว ๆ นี้หารือกรณีมีผู้ร้องเรียนว่าเรียนจบหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลับเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษาได้ อย่างไรก็ตามกรณีนี้กมว.ใช้เวลาตรวจสอบค่อนข้างนานเกือบปี เนื่องจากต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานยืนยันจากมหาวิทยาลัย ผลการตรวจสอบพบว่า มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งนี้ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนหลักสูตรดังกล่าวในปีการศึกษา 2557-2558 ปีละ 100 คน แต่รับนักศึกษามากกว่าจำนวนรับ กมว.จึงให้มหาวิทยาลัยทำหนังสือยืนยันว่า มีการจัดการศึกษาในที่ตั้งจริงและขอรายชื่อนักศึกษาที่เรียนในที่ตั้งจำนวน 100 คนมาให้ กมว.ตรวจสอบ ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ได้มีการส่งรายชื่อมาให้กมว. แต่ปรากฏว่ามีปรับเปลี่ยนรายชื่อหลายครั้ง จนถึงครั้งล่าสุด เดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งการส่งข้อมูลครั้งที่ 33

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันที่ผ่านมากมว.ได้อนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา ให้กับบัณฑิตที่จบปีการศึกษา 2557-2558 ไปแล้วจำนวนหนึ่ง โดยปี 2557 อนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไปแล้ว 82 คน จากที่ได้รับอนุมัติให้ผลิต 100 คน ส่วนปี 2558 อนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไปแล้ว 66 คน จากที่อนุมัติให้ผลิตได้ 100 คน เมื่อตรวจสอบกับรายชื่อที่มหาวิทยาลัยเอกชนส่งมาโดยยึดรายชื่อที่ส่งมาครั้งที่ 33 พบว่า มีรายชื่อผู้เรียนที่ตรงกันกับที่ กมว. ได้อนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไปแล้ว โดยปี 2557 อนุมัติไปแล้ว 82 ตรวจสอบว่ารายชื่อตรงกัน 75 คน ไม่ตรงกัน 7 คน ปีการศึกษา 2558 อนุมัติไป 66 คน ตรวจสอบรายชื่อแล้วตรงกัน 58 คน ไม่ตรงกัน 6 คน รวม 2 ปีการศึกษา เป็นจำนวน 15 คน ดังนั้น กมว.จึงมีมติให้มหาวิทยาลัยเอกชนยืนยันว่า ทั้ง 15 คนเป็นรายชื่อของผู้เรียนจริงในที่ตั้งและอยู่ในจำนวนที่ได้รับการอนุมัติผลิตปีละ 100 คนจริง ใบอนุญาตฯที่ให้ไปก็ไม่มีปัญหา หากไม่ยืนยัน ทั้ง 15 คน จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ

“ที่ กมว.มีความเป็นห่วงคือ ใบอนุญาตฯที่อนุมัติไปแล้ว 15 คน และมีการนำไปใช้แล้วเพราะผ่านมาหลายปี และหากคนเหล่านี้สามารถเข้าสู่ตำแหน่งบริหารแล้ว แต่สุดท้ายหากถูกเพิกถอน จะทำให้คำสั่งแต่งตั้งนั้นเป็นโมฆะ สร้างความเสียหายกับคนทั้ง 15 คน และสถานศึกษานั้นๆ โดยผู้ที่อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตผู้บริหารการศึกษา ต้องกลับไปเป็นครูผู้สอนตามเดิม ซึ่งผู้เสียหายต้องไปฟ้องร้องกับมหาวิทยาลัยกันเอง เท่าที่ทราบก็มีนักศึกษาไปแจ้งความฟ้องร้องแล้ว โดยมหาวิทยาลัยเอกชนเป็นจำเลยที่ 1 และ คุรุสภาเป็นจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยดังกล่าวได้ส่งรายชื่อผู้เรียนปีการศึกษา 2557 มาให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา รวมจำนวน 2,065 คน ทั้งที่ได้รับการอนุมัติให้สอน 100 คน รับเกิน 1,965 คน  , ส่วนปีการศึกษา2558 มีจำนวน 2,174 คน จากที่ได้รับอนุมัติให้สอน 100 คน รับเกิน 2,074 คน แสดงว่า จะต้องมีนักศึกษาที่ได้รับความเสียหาย ปีละมากกว่า 1900 คน ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแน่นอนตลอดชีวิตเพราะเป็นรายชื่อที่อยู่นอกระบบ และต้องฟ้องร้องเอาผิดกับมหาวิทยาลัยเอกชนเองและจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ กมว.ได้หารือกันว่าจะเตรียมหารือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพื่อเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาหลวงลวงประชาชน เพราะเราอยากให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยที่ไม่ตรงไปตรงมา โดยมุ่งหารายได้จากนักศึกษา ไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะผลิตเกิน เพื่อเป็นคดีตัวอย่าง จะได้ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนอื่นไม่กล้าทำแบบเดียวกันนี้”นายเอกชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image