ชำแหละ..ผลงาน 1 ปี ‘3’ รัฐมนตรี ศธ.ใคร?? ‘สอบตก’ หรือ ‘ผ่านคาบเส้น’ !!

ชำแหละ..ผลงาน 1 ปี ‘3’ รัฐมนตรี ศธ.ใคร?? ‘สอบตก’ หรือ ‘ผ่านคาบเส้น’ !!

ผลงาน 1 ปี – ครบ 1 ปีเต็มพอดี สำหรับการเข้ามาบริหารงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ พร้อมด้วย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.

ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ผลงานโดยภาพรวมของรัฐมนตรี ศธ.ทั้ง 3 ราย บรรดานักวิชาการทั้งหลาย ต่างให้คะแนนใกล้เคียงกัน คือ “สอบตก” หรือถ้า “ผ่าน” ก็เป็นการผ่านแบบ “คาบเส้น” !!

เริ่มด้วยเจ้ากระทรวงอย่าง เสมา 1 นายณัฏฐพล ที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักๆ ที่ดูแลการจัดการศึกษาของประเทศ

Advertisement

โดยนายณัฏฐพลประกาศชัดเจนว่าจะเดินหน้าปฏิรูปการศึกษา พัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยี และภาษาอังกฤษ ซึ่งยังไม่เห็นภาพเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 เข้ามาแทรก อาจทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อน และพัฒนาเรื่องนี้ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้

แต่ผลงานของนายณัฏฐพลที่อาจจะให้ได้ชัดเจนที่สุดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง น่าจะเป็นเรื่องการจัดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยจัดการเรียนการสอนผ่านระบบ “ออนแอร์” โดยความร่วมมือกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระราชูปถัมภ์ (ดีแอลทีวี) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ถือเป็นการพลิกโฉมการศึกษาไทย เพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ นายณัฏฐพลยังได้เดินหน้า “ปรับโครงสร้าง ศธ.” โดยแต่งตั้ง นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.เพื่อแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ซึ่งเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งอำนาจหน้าที่ โดย ศธจ.ดูภาพรวมการจัดการศึกษาทั้งจังหวัด แต่ต้องดูภาพรวมทุกสังกัด ส่วนอำนาจในการดูแลบุคลากร ทั้งแต่งตั้ง โยกย้าย และการลงโทษทางวินัย ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ต้นสังกัด หรือการจัดตั้งศูนย์อาชีวะในระดับภูมิภาค เป็นต้น

ส่วนการแก้ไขปัญหา “หนี้สินครู” ที่ยังคงค้างคาอยู่ แม้จะแต่งตั้ง นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ.ที่ขณะนี้ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว และเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาเห็นชอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูกับสถาบันการเงินหลัก 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รวมถึง หารือกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ซึ่งกำกับดูแลกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครู

แนวคิดนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจน แต่ถ้าทำให้เป็นรูปธรรมได้ นอกจากจะได้ใจครูแล้ว เชื่อว่าจะช่วยให้ครูมีกระจิตกระใจสอนนักเรียนมากขึ้น !!

สำหรับผลงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.อย่างคุณหญิงกัลยา หรือเสมา 2 ที่กำกับดูแลสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำนักงานส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สังกัด สพฐ.และดูแลด้านเกษตรและประมง ในสังกัด สอศ.

โดยผลงานที่โดดเด่นของคุณหญิงกัลยา คือการผลักดัน โค้ดดิ้ง (Coding) โดย สสวท.ร่วมกับ สพฐ.จัดอบรมครูออนไลน์หลักสูตรการเรียนรู้วิทยาการคำนวณสำหรับครู (coding for Teacher หรือ C4T) มีครูลงทะเบียนทั้งหมด 201,799 คน อบรมเสร็จสิ้น 145,441 คน แบ่งได้ดังนี้ ครูประถมต้น ลงทะเบียน 62,299 คน อบรมเสร็จสิ้น 45,731 คน ครูประถมปลาย ลงทะเบียน 61,718 คน อบรมเสร็จสิ้น 46,444 คน ครูมัธยมต้น ลงทะเบียน 48,892 คน อบรมเสร็จสิ้น 35,230 คน และครูมัธยมปลาย ลงทะเบียน 28,890 คน อบรมเสร็จสิ้น 18,036 คน

นอกจากนี้ ยังเดินหน้ายกระดับ สถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง เป็น Digital Agri College ทั้ง Digital Farming, Digital Community และ Digital Farmer พัฒนาทักษะการทำงานของเกษตรกร อัพสกิล รีสกิล โดยจัดฝึกอบรมวิชาชีพเกษตรระยะสั้นให้เกษตรกร และผู้สนใจ จำนวน 1,410 คน พร้อมกับพัฒนาครูอาชีวศึกษาเกษตร โดยจัดทำแผนงานและพัฒนาหลักสูตรในการพัฒนาครูให้มีความรู้การเกษตรสมัยใหม่ การใช้ภาษาอังกฤษ การใช้งานคอมพิวเตอร์ต่อการควบคุมการเกษตร และ Coding for Farm

ส่วนเสมา 3 นางกนกวรรณ รับผิดชอบดูแลสำนักงานส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ผู้ทำงานภายใต้สโลแกน ทำงานแบบอินฟินิตี้ที่ไม่สนวันหยุด “ทำได้ ทำทันที ทลายทุกข้อจำกัด”

มีผลงานที่สำคัญคือ การขับเคลื่อน กศน.สู่ “กศน.WOW (6G)” การดำเนินการเกลี่ยเพิ่มอัตราตำแหน่ง การสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง ข้าราชการครู กศน.จำนวน 891 อัตรา เพื่อให้ กศน.อำเภอ มีบุคลากรที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ บุกเบิกนโยบายให้ขยายผลจากทรัพยากรที่สำนักงาน กศน.มีอยู่ โดยเฉพาะห้องสมุดทั่วประเทศ เพื่อจัดทำ Co-Learning Space ที่มีความพร้อมบริการการอ่านแก่ประชาชนทุกช่วงวัย พร้อมกับพัฒนาห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” 103 แห่งทั่วประเทศ เป็นห้องสมุดดิจิทัลเพื่อตอบสนองการเรียนรู้ในปัจจุบัน

รวมถึง การสร้างขวัญกำลังใจให้ “ครูโรงเรียนเอกชน” ด้วยการเพิ่มสวัสดิการการรักษาพยาบาลครูเอกชน จากเดิมค่ารักษาพยาบาลครูเอกชนปัจจุบันมีเพดานอยู่เพียง 100,000 บาท ทำให้ครูเอกชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคหัวใจ ฯลฯ ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง โดยได้ปรับเพิ่มเพดานค่ารักษาเพิ่มเป็น 150,000 บาทต่อปี มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ยังได้ผลักดัน หลักสูตรลูกเสือมัคคุเทศก์ (Guide Scout) โดยมุ่งหวังให้ลูกเสือมีบทบาทในการเป็นมัคคุเทศก์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อีกทั้ง เป็นการปลูกฝังให้ลูกเสือเกิดความรัก ความภาคภูมิใจในคุณค่าของท้องถิ่นของตนเอง โดยอบรมไปแล้ว 8 จังหวัด และจะอบรมเพิ่มทั่วประเทศในปี 2563

ทั้งนี้ มีเสียงสะท้อนจากนักวิชาการ ถึงผลงานในช่วง 1 ปีของ 3 รัฐมนตรี ศธ.อย่าง นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ให้คะแนนการทำงานของ 3 รัฐมนตรี แค่ 5 จาก 10 คะแนนเต็ม ถือว่าผ่านแบบมีเงื่อนไข เพราะภาพลักษณ์ของนายณัฏฐพลที่เข้ามาในช่วงแรก มีความเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ กล้าเปลี่ยนแปลง ทำงานลักษณะเดียวกับภาคเอกชน ที่เน้นความคล่องตัว ตัดสินใจได้ดี รวดเร็ว มีข้อมูลรอบด้าน

นายสมพงษ์กล่าวด้วยว่า ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ทั้ง 2 คน เข้ามาเสริมในส่วนที่ขาด เพื่อช่วยให้การทำงานมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น แต่ 1 ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของรัฐมนตรี ศธ.ทั้ง 3 คน ยังคงดูดี แต่ดีแบบมีเงื่อนไข กลายเป็นติดกับดักระบบราชการ ดังนั้น จึงต้องกลับมาทบทวนการทำงานเรื่องใดบ้างที่ทำแล้วดี ไม่ดี และเรื่องใดบ้างที่ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง

“ในมุมมองผม 3 รัฐมนตรี ศธ.ต้องใช้โอกาสครบรอบ 1 ปี ทบทวนการทำงาน เพราะสูญเสียเวลาไปกับการสร้างภาพลักษณ์ค่อนข้างมาก โดยต้องดูว่ามีอะไรบ้างที่ต้องปรับปรุง ที่สำคัญ ทำงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเรียนรู้ ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.อีก 2 คน ภาพลักษณ์การทำงานดูดี แต่การทำงานไม่สร้างความเปลี่ยนแปลง นโยบายไม่แก้ปัญหาตามสถานการณ์ที่แท้จริง” นายสมพงษ์ กล่าว

ด้าน นายอดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า นายณัฏฐพลเคยแถลงนโยบายไว้ว่า จะรื้อระบบการบริหารจัดการ ศธ.แต่ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง หรือมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะ สพฐ.ซึ่งเป็นหน่วยงานใหญ่ที่สุด ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในการปรับระบบการบริหารการจัดการของ สพฐ.ให้ดีขึ้น การกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือกระบวนการสรรหา กระบวนการคัดเลือก และพัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียน ยังเป็นระบบเดิม และใช้ระบบเดิม

“นอกจากนี้ ยังไม่เห็นการปฏิรูปหลักสูตร และการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน โจทย์ใหญ่ที่จะต้องแก้ไข คือการให้ครูมีเวลาจัดการเรียนการสอน ไม่ถูกดึงออกนอกห้องเรียน ผมมองว่าปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข มองว่าการทำงานของรัฐมนตรีเป็นไปตามวิธีคิดเดิมของข้าราชการประจำ มีแต่วาทกรรมที่ลอยลมมา แต่การลงมือทำแทบจะไม่เห็น ผมมองว่านโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.นั้นผิวเผิน ไม่มีการลงมือทำจริงสักเรื่อง” นายอดิศร กล่าว

นายอดิศรแจกแจงด้วยว่า ส่วนการทำงานของคุณหญิงกัลยา ที่ชูนโยบายโค้ดดิ้ง เรียกได้ว่านโยบายนี้เปิดตัวมาดี แต่เริ่มดรอป เพราะการกระจายภารกิจในการดำเนินงานอยู่เฉพาะกลุ่ม ไม่เกิดการกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งอาจเป็นเพราะงบประมาณจำกัด แต่ถือเป็นแนวคิดที่ดีที่จะทำให้นักเรียนมีสมรรถนะที่รองรับการอยู่ในโลกอนาคตได้

ส่วนการทำงานของนางกนกวรรณ นายอดิศร กล่าวว่า นางกนกวรรณดูแล กศน.ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดการศึกษาตลอดชีวิต ที่มาแรงมากในปัจจุบัน แต่นางกนกวรรณยังไม่ตอบโจทย์เรื่องนี้มาก ทำงานตามรูปแบบเดิม คือไปตรวจเยี่ยม ไม่มีนโยบาย หรือแอ็กชั่น ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยน กศน.เป็นพระเอก ในการเคลื่อนการศึกษาตลอดชีวิต ที่ถือเป็นหัวใจการศึกษาในปัจจุบันนี้ มองว่านโยาบของนางกนกวรรณ ทำเชิงประชานิยมเป็นส่วนใหญ่ เช่น การเพิ่มเงินค่ารักษารักษาพยาบาลครูเอกชน เป็นต้น แต่ยังไม่พบนโยบายที่จะทำให้โรงเรียนเอกชนมาเป็นตัวช่วยรัฐบาลในการส่งเสริมการศึกษา

“การทำงานรัฐมนตรี ศธ.ทั้ง 3 คน ผมมองว่าคุณหญิงกัลยา ได้คะแนนคาบเส้น คือ 5 คะแนน จาก 10 คะแนนเต็ม ส่วนนายณัฏฐพล และนางกนกวรรณ ยังไม่ผ่าน ได้เพียง 4 คะแนนเท่านั้น ดูไม่มีอนาคต ไม่มีความหวัง ผมมองว่ารัฐมนตรี ศธ.ทั้ง 3 คน ทำงานตามกรอบที่ข้าราชการประจำทำไว้ ตัวนโยบายมีแต่ความฝัน มีแต่เรื่องดีๆ แต่ไม่ศึกษาข้อเท็จจริงของบ้านเมือง ของเด็กในสังคม ว่ามีปัญหาอุปสรรคไหนบ้าง ยังใช้วิธิการเดิมๆ เท่านั้น ไม่มีนวัตกรรมในการบริหาร หรือไม่มีไอเดียใหม่ๆ เลย” นายอดิศร กล่าว

สรุปภาพรวมการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมา ของรัฐมนตรี ศธ.ทั้ง 3 คน ในสายตานักวิชาการบางส่วน มีทั้ง “สอบตก” และ “ผ่านแบบคาบเส้น” พอดิบพอดี

จากนี้รัฐมนตรี ศธ.ทั้ง 3 คน คงต้องเปิดใจให้กว้าง รับฟัง นำเสียงสะท้อน และข้อพิพากษ์วิจารณ์ ไปปรับปรุงวิธีคิด และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ให้เป็นไปในเชิงรุกให้มากขึ้น คิดนอกกรอบมากขึ้น

เพื่อเดินหน้ายกระดับ “คุณภาพ” ของนักเรียน ครู และการศึกษาไทย ให้แข่งขันในเวทีโลกได้ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image