‘ม.บูรพา-เอกชน’ผุดหลักสูตรรับอีอีซี ตั้งเป้ายุบรวมคอร์สซ้ำซ้อน20%

‘ม.บูรพา-เอกชน’ผุดหลักสูตรรับอีอีซี ตั้งเป้ายุบรวมคอร์สซ้ำซ้อน20%

นายวัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา(มบ.) เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมบ.นั้น ถือเป็นโอกาสดี ที่ได้เข้ามาทำงานพัฒนามหาวิทยาลัย ซึ่งปีนี้มบ.มีอายุครบ 65 ปี เป็นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคที่มีทำเลที่ตั้งที่ดีมากทั้งอยู่ติดชายทะเลบางแสน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทั้งหาดพัทยาและแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆใกล้เคียง มีศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเล เป็นพื้นที่จังหวัดที่มีแหล่งผลไม้ โรงงานอุตสาหกรรม ใกล้สนามบินอู่ตะเภา รวมทั้งเป็นมหาวิทยาลัยหลักของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีอาจารย์และบุคลากร 3,000 คน รับนิสิตปีละ 7,000-8,000 คน รวม4 ชั้นปีประมาณ 30,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่พอเหมาะมีวิทยาเขต 2 แห่ง คือ วิทยาเขตจันทบุรี ซึ่งมีคณะอัญมณีที่มีแห่งเดียวในประเทศ ที่สอนตั้งแต่การจำแนกประเภทอัญมณี การพัฒนาพลอย จนถึงการออกแบบอัญมณีและวิทยาเขตสระแก้วที่เน้นการทำวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตร โดยปัจจุบัน มบ. มีหลักสูตรประมาณ 237 หลักสูตร ทั้งปริญญาตรี โทและเอกแต่เท่าที่ดูบางหลักสูตรยังมีความซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นอยู่ระหว่างวิเคราะห์ ถ้าหลักสูตรใดซ้ำซ้อนกันก็จะยุบรวมกัน แต่ต้องใช้เวลาพอสมควร โดยตั้งเป้าลดลงร้อยละ 20 ภายใน 4 ปี ที่ตนบริหารงานในตำแหน่งอธิการบดี โดยจะเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยพิจารณา และออกเป็นมติสภามหาวิทยาลัยเพื่อลดความซ้ำซ้อนของหลักสูตรและพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก

“สิ่งที่เราจะเดินหน้าคือ การร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น พร้อมกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒาของอีอีซี เช่น หลักสูตรที่ร่วมมือกับอีอีซี และบริษัทมิตซูบิชิ แฟคทอรี่ ซึ่งผลิตเครื่องจักรให้โรงงานทั่วโลก ได้บริจาคเครื่องมือ อุปกรณ์ แบบจำลองการฝึกงานในโรงงานสมัยใหม่ มาตั้งใน มบ. มูลค่า 100 ล้าน ขณะนี้กำลังก่อสร้างอยู่ คาดว่าเดือน กุมภาพันธ์ 2564 จะเปิดใช้ได้ เป็นศูนย์ฝึกวิศวกรในโรงงานยุคใหม่ เป็นหลักสูตรที่มีหลายคณะมาร่วมมือกัน เช่น คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมทั้งยังดึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มาช่วยคิดและช่วยทำ เป็นตัวอย่างของหลักสูตรสมัยใหม่ ซึ่งจะเปิดรับนิสิตในปีนี้ ลักษณะการเรียนจะเรียนเป็นชุดวิชา พร้อมกับฝึกงานไปด้วย เหมือนการเรียนของประเทศเยอรมันที่เรียนตามความต้องการของโรงงาน”นายวัชรินทร์ กล่าว

อธิการบดีมบ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรวิทยากรปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสต์ร วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำไปเป็นหลักสูตรตัวอย่างของ อว. รวมทั้งร่วมมือกับชุมชนในการจัดหลักสูตรและทุนการศึกษาเพื่อดูแลผู้สูงอายุในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงวัยจากทวีปยุโรคและประเทศญี่ปุ่น นิยมมาพักผ่อน ซึ่งเราสามารถประสานให้เข้ากับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันมบ. ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์จีโนมิก ซึ่งจะวิเคราะห์จีโนมของมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะวิเคราะห์จีโนมของคนไทยให้ได้ 50,000 คน ภายใน 5 ปี โดยค่าวิเคราะห์จีโนมจะประมาณ 30,000 บาทต่อคน รวม 5 ปี ก็จะมีประมาณเข้ามา 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี ของมบ. ในการพัฒนาวิชาการทางการแพทย์แนวใหม่ที่รักษาได้ตรงเป้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image