‘วิษณุ’ เปิดโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน หวังปั้น ‘ชลกร’ สร้างงาน-รายได้แก้จนให้เกษตรกร

‘วิษณุ’ เปิดโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน หวังปั้น ‘ชลกร’ สร้างงาน-รายได้แก้จนให้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแถลงข่าวเปิดโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ภายใต้แนวคิด น้ำเพื่อชีวิต : ปลูกน้ำ ปลูกความคิด สร้างวิถีชีวิตพอเพียง จัดโดยกองทุนบริหารจัดการน้ำฯ มูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และผู้บริหาร ศธ.เข้าร่วม

นายวิษณุ กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ถือเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติโดยให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาจากฐานราก คือมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ นั่นคือ ทำให้ชุมชน หมู่บ้านมีพื้นฐานที่มั่นคงพอสมควรก่อน แล้วจึงสร้างความเจริญและยกระดับเศรษฐกิจให้สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญในรื่องการบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอด โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน

“คุณหญิงกัลยา เคยมาปรารภกับผมว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลให้คนเดือดร้อน ตกงาน ไม่มีงานทำ และมีฐานะยากจน โดยเฉพาะเกษตรกรที่เดิมไม่มีน้ำใช้ ยังมาเจอปัญหาโควิด-19 จนทำนาไม่ได้ ทำขายไม่ออก แล้วจะทำอย่างไรถึงจะช่วยบุคคลเหล่านี้มีรายได้ ซึ่งการช่วยเกษตรกร ต้องให้เขาเหล่านี้มีงานทำมีรายได้ มีน้ำในการบริหารจัดการ ต่อไปบุคคลเหล่านี้สามารถยืนอยู่ด้วยตนเองได้ เชื่อว่าโครงการนี้จะแสดงให้เห็นถึงการปฏิรูปประเทศ 4 ด้าน คือการปฏิรูปการศึกษา ที่ใช้สถานศึกษาเป็นต้นแบบสร้างองค์ความรู้ และหลักสูตร การปฏิรูปชุมชนและท้องถิ่น เพราะเรากำลังจะใช้แรงงานแรงใจในท้องถิ่นมาช่วยกันพัฒนา ต่อมาคือเป็นการปฏิรูปวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะต้องใช้ความรู้เทคโนโลยีมาบรูณาการร่วมกัน และการปฏิรูปสังคม คือการสร้างจิตสำนึกว่าน้ำเป็นสิ่งที่มีค่า และต้องทำนุบำรุงหวงแหนน้ำ โครงการนี้จึงให้บทเรียนหลายอย่าง แม้จะเป็นโครงการเล็กๆ แต่สามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ”นายวิษณุกล่าว

Advertisement

คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ในการขับเคลื่อนและร่วมกับอาชีวะเกษตร เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจน โดยมูลนิธิโยบายสาธารณะไทยที่มีนายโชติ โสภณพนิช เป็นประธานได้บริจาคเงินเพื่อเป็นทุนแรกเริ่มในการตั้งกองทุน จำนวน 100 ล้านบาท ในการนำไปบริหารโครงการโดยร่วมและสร้างโมเดลต้นเบบการกักเก็บน้ำรองรับน้ำฝน บนพื้นที่อาชีวะกษตรก่อนขยายผลไปยังชุมชนโดยรอบ ช่วยสร้างงานสร้างเงินสร้างคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้กับนักศึกษาอาชีวะเกษตรรวมทั้งคนในชุมชน

คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จก็คือชุมชนต้องมีส่วนร่วมเป็น โดยมูลนิลนิธินโยบายสาธารณะไทย จะสนับสนุนนเงินทุน ส่วนรัฐทำหน้าที่สนับสนุนให้องค์ความรู้ และ ศธ.จะใช้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่ง และโรงเรียนการศึกษาพิเศษอีก 176 แห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์เรียนและจะมีหลักสูตรสร้างชลกร คือผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เพื่อช่วยสอนชาวบ้านให้มีความรู้ของการจัดการน้ำในชุมชน

“โครงการนี้จะนำร่องในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ซึ่งวิทยาลัยเหล่านี้จะเป็นหลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนต่อไป” คุณกัลยากล่าว

ด้านนายณรงค์ กล่าวว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 5 แห่งนี้มีความพร้อมที่จะเป็นแกนนำในการร่วมสร้างโมเดลต้นแบบ เพื่อขยายผลไปยังชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทุกแห่งจัดทำหลักสูตรชลกร หรือหลักสูตรที่สร้างความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำให้ให้ผู้เรียน ซึ่งแต่ละวิทยาลัยสามารถออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทและพื้นที่ของตนเองได้

“ผมหารือกับรองนายกรัฐมนตรี และขออยากให้รัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้คนมาเรียนอาชีวะมากขึ้น เช่น เมื่อสนับสนุนการเรียนฟรี 15 ปี อาจจะขยายครอบคลุมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ( ปวส.) ด้วย เพราะขณะนี้มีผู้เรียนอาชีวะน้อย อาจจะขาดแรงจูงใจในการมาเรียน แต่สวนทางกับความต้องการของประเทศที่ขาดกำลังคนด้านอาชีวะอย่างมาก อย่างวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ในภาคใต้มีนักเรียนมาสมัคร 3-5 คนเท่านั้น ซึ่ง สอศ.เพิ่มแรงจูงใจให้คนมาเรียนด้านเกษตรเพิ่มขึ้นแล้ว เช่น ไม่เก็บค่าหน่วยกิต ดูแลเรื่องที่พัก แต่ถ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อาจจะมีคนสนใจมากขึ้น ส่วนจำนวนผู้เรียนอาชีวะลดลงหรือไม่นั้น อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล แต่ผมพบตัวเลขที่น่าตกใจจากวิทยาลัยของอาชีวะเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีคนสมัครเข้าเรียนลดลงเกินกว่า 30%” นายณรงค์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image