ผอ.ศิลปากรสั่งทำผัง ‘สุสาน 3 พันปี’ เตรียมขุดค้น ยันไม่กระทบชาวบ้านทำนา

ผอ.ศิลปากรสั่งทำผัง ‘สุสาน 3 พันปี’ เตรียมขุดค้น ยันไม่กระทบชาวบ้านทำนา

สุสาน 3 พันปี – จากกรณีการพบแหล่งฝังศพยุคหินใหม่อายุราว 3,000 ปี ที่ ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง โดยเป็นการค้นพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ครั้งแรกของ จ.อ่างทอง ซึ่งผู้เขี่ยวชาญระบุว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อวงวิชาการนั้น

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายจารึก วิไลแเก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รายงานข้อมูลเบื้องต้นไปยังส่วนกลางแล้ว ว่ามีการพบแหล่งโบราณคดีดังกล่าว ซึ่งตนได้สั่งการนักโบราณคดีสำรวจก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึง จะพาช่างสำรวจลงพื้นที่เพื่อทำแผนผังแหล่งโบราณคดีว่ามีขนาดเท่าใด เพื่อวางแผนการดำเนินงานต่อไป โดยจะพิจารณาเลือกพื้นที่การขุดค้นในจุดสำคัญ นอกจากนี้ ยังนัดหมายพูดคุยกับฝ่ายปกครองท้องถิ่น รวมถึง ขออนุญาตเจ้าของที่ดินด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่เอกชน ส่วนความกังวลว่าจะกระทบการทำนานั้น ขออย่ากังวล ยืนยันว่าไม่กระทบ

“ช่างสำรวจจะทำผังทั้งหมด ว่าอาณาเขตแหล่งโบราณคดีนี้มีขนาดใหญ่เท่าไหร่ และนักโบราณคดีจะพิจารณาแนวทางการศึกษา ขุดค้น
และคุยกับชาวบ้านที่เก็บโบราณวัตถุไว้ ว่าได้มาอย่างไร ศักยภาพพื้นที่มีอยู่แล้ว แต่ต้องประเมินสภาพพื้นที่ ว่าควรขุดตรงไหน และเมื่อเป็นที่ดินเอกชน ต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่
ส่วนกรณีใกล้ฤดูทำนา เราไม่ได้ขุดทั้งหมดเต็มพื้นที่ ไม่กระทบกับการทำนา โดยอาจวางแผนต่อเนื่องในแต่ละปี ไม่ได้ทำครั้งเดียว โดยจะเลือกพื้นที่ซึ่งเป็นเนิน และกระทบกับชาวบ้านน้อยที่สุด” นายจารึก กล่าว

Advertisement

นายจารึกกล่าวอีกว่า โบราณวัตถุสำคัญที่พบคือ ชิ้นส่วนหม้อสามขา ซึ่งคล้ายคลึงกับที่พบในแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร และหนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี แต่มีลักษณะต่างจากหม้อสามขาที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี นอกจากนี้ ยังมีขวานหินขัดแบบมีบ่า และชิ้นส่วนฉมวก และใบหอกที่ทำจากกระดูกสัตว์ รวมถึง สัมฤทธิ์ ซึ่งพิจารณาแล้วมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรมหม้อสามขานี้ ในประเทศไทยมีการศึกษาตั้งแต่ พ.ศ.2504 หรือกว่า 60 ปีมาแล้ว ในโครงการโบราณคดีไทย-เดนมาร์ก ทำการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ที่ อ.บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ต่อมายังมีโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซีย ซึ่งกรมศิลปากรเป็นเจ้าภาพ เพื่อศึกษาวัฒนธรรมหม้อสามขาร่วมกัน เนื่องจากมีการพบหม้อสามขาทางภาคใต้ของไทยลงไปจนถึงรัฐสลังงอร์ และเคดาห์ สหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งควรรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกองโบราณคดี กรมศิลปารในส่วนกลาง

นายจารึกกล่าวต่อว่า แหล่งโบราณคดีที่ ต.สีบัวทองนี้ ตนเชื่อว่านอกจากเป็นแหล่งฝังศพยุคหินใหม่แล้ว น่าจะสืบเนื่องมาถึงยุคสัมฤทธิ์ และเหล็กด้วย รวมถึง ทวารวดี และอยุธยา ตามลำดับ กล่าวคือมีการอยู่อาศัย หรือใช้งานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่ อ.แสวงหา ก็มีเมืองสมัยทวารวดี ที่พัฒนาขึ้น เมื่อวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาเช่นกัน

Advertisement

“หากเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ แห่งอื่นๆ อย่างบ้านโนนวัด และบ้านธารปราสาท
อ.โนนสูง นครราชสีมา ซึ่ง ศ.ดร.ชาร์ล ไฮแอม กับ ดร.รัชนี ทศรัตน์ ขุดค้น 10 กว่าปี พบว่า ชั้นล่างสุดเป็นสมัยหินใหม่ มีโครงกระดูกมนุษย์ และเศษภาชนะดินเผา แต่รูปแบบต่างจากที่พบใน ต.สีบัวทอง แห่งนี้ และต่างจากหนองราชวัตร รวมถึง บ้านเก่า แต่เบื้องต้น ที่นี่ถือว่าคล้ายหนองราชวัตร ซึ่งขุดค้นตั้งแต่ปี 2543

สำหรับความเชื่อมโยงบ้านโนนวัด ซึ่งอยู่ในภาคอีสาน ก็สามารถเชื่อมต่อมายังภาคกลาง บริเวณลำสนธิ ด่านขุนทด ลงมายัง อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่งก็เชื่อมกับ จ.อ่างทอง แต่บ้านโนนวัดไม่พบหม้อสามขา นี่คือความแตกต่างอีสานกับภาคกลาง” นายจารึก กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image