วัดใจ ‘บิ๊กตู่’ จัดทัพ ‘อว.’ ส่งมือดี…หรือแค่’เกมการเมือง’ ?

วัดใจ ‘บิ๊กตู่’ จัดทัพ ‘อว.’ ส่งมือดี…หรือแค่’เกมการเมือง’ ?

หลังมีกระแสมานาน ว่าจะถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในที่สุดนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ หนึ่งในกลุ่ม 4 กุมารยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) เปิดทางให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้โควต้าไปจัดทัพ คณะรัฐมนตรี (ครม.) “ประยุทธ์” 2/2

ระหว่างนี้ แต่งตั้งให้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการอว. ไปก่อน คาดว่า ไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้ จะได้เห็นหน้าตารัฐมนตรีว่าการอว.คนใหม่
ซึ่งนาย ณัฏฐพล เองก็ออกตัวว่า มาช่วยขัดตาทัพระยะสั้น คงไม่เข้าไปยุ่งในรายละเอียดมากนัก แต่จะเข้าไปช่วยดูเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณให้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่เกิดปัญหา

โดยมี 3 ชื่อที่มีข่าวว่าจะเข้ามาชิงตำแหน่งนี้ คือ นายอนุชา นาคาศัย หรือ เสี่ยแฮงค์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) จากกลุ่มสามมิตร ส.ส.เฮ้ง หรือ นายสุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้าพรรค พปชร. และ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.)…

เห็นชื่อแล้วคนในแวดวงอุดมศึกษา อาจไม่คุ้นหูนัก!!

Advertisement

โดย ศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า รัฐบาลมองอว. เป็นกระทรวงเกรดซี ที่ใช้เป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง ถือเป็นความผิดพลาด เพราะหลายประเทศ ใช้เรื่องงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศ แต่รัฐบาลกลับไม่ให้ความสำคัญผลักดันให้เป็นกระทรวงแถวหน้า แต่ใช้เป็นโควต้าทางการเมือง เหมือนเป็นการดูถูกชาวอุดมศึกษา ดังนั้นคงไปไม่ถึงจุดหมายประเทศไทย 4.0 ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้

“ตรงนี้คือความล้าหลังของการเมืองไทย ซึ่ง 5-6 ปีที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลปฏิรูปการเมืองล้มเหลว เพราะยังวนเวียนอยู่กับน้ำเน่าเดิมๆ ที่มีการเมืองเข้าแทรกแซงไปทุกที่ อว. ถือเป็นกระทรวงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ไม่มีใครอยากมา เพราะผลประโยชน์น้อยนักการเมืองก็ไปแย่งกระทรวงที่มีผลประโยชน์มาก ๆ อย่างกระทรวงพลังงาน” ศ.สมพงษ์ กล่าว

ศ.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมาดูที่ตัวบุคคล ที่มีชื่อว่าจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการอว. เริ่มจาก ส.ส.เฮ้ง หรือนายสุชาติ หากตามประวัติแล้วเหมาะที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมากกว่า ขณะที่นายอนุชา เองไม่พบประวัติหรือผลงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการ หรืองานด้านอุดมศึกษาเลย หากได้มาดูอว. จริงอาจมีเสียงร้องยี้ออกมา ดังนั้นควรเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเหมาะสมกว่า

Advertisement

ส่วนนายเอนก ช่วงที่เป็นอาจารย์และนักวิชาการ ถือว่าอยู่ในระดับแถวหน้าของเมืองไทย แต่พอหันมาเล่นการเมือง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่าง 14 ตุลา 16 ทำให้ต้นทุนทางการยอมรับบกพร่องไป เพราะนักวิชาการบางส่วนรับไม่ได้ ตรงนี้อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้ารับตำแหน่ง แต่ถ้าให้เปรียบเทียบ 3 ชื่อที่ออกมา คิดว่า นายเอกนก มีภาษีดีกว่าทุกคน

ขณะที่นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บอกคล้ายกันว่า อว.เป็นกระทรวงที่เพิ่งเกิดใหม่ กำลังเดินไปข้างหน้าเพราะ ระเบียบกติกาต่าง ๆ ทั้งเรื่องการจัดทำงานวิจัย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยก็ยังจัดทำได้ไม่เต็ม100 เปอร์เซนต์ ส่วนตัวก็รู้สึกเสียดาย เพราะนายสุวิทย์ เองก็ทำงานได้ดี ส่วนตัวบุคคลที่มีชื่อจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการอว. นั้น คงไม่คอมเมนท์คุณสมบัติ แต่อยากได้คนที่รู้ระบบงานวิจัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และหากได้คนที่มีประสบการณ์ด้านงานบริหารมหาวิทยาลัยมาบ้าง จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพื่อจะได้เข้าใจปัญหา และเข้ามากำหนดทิศทางการบริหารงานร่วมกับมหาวิทยาลัยได้อย่างตรงจุด ผลักดันให้อว. เป็นกระทรวงสำคัญที่ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง

ปิดท้ายด้วย นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) ซึ่งค่อนข้างกังวลกับอนาคต อุดมศึกษาไทย โดยระบุว่า เป้าหมายสำคัญของการตั้งอว. นำงานวิจัยมาร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อให้อว.เป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งนายสุวิทย์เอง วางฐานไว้ค่อนข้างดี ดังนั้นคนที่จะเข้ามาสานงานต่อ ควรต้องมีคุณสมบัติสำคัญสองประการ คือ เป็นนักเทคโนแครต และเป็นนักการเมือง ซึ่งนายสุวิทย์ มีทั้งสองอย่าง แต่ทั้ง 3 คน มีแต่ความเป็นนักการเมือง ไม่มีความเป็นนักเทคโนแครต แม้จะบอกว่ารัฐมนตรีทำหน้าที่เพียงกำหนดนโยบาย สามารถตั้งที่ปรึกษาเข้ามาช่วยงาน ก็ไม่ใช่ทางแก้ เพราะอว. เป็นกระทรวงที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถเรื่องานวิจัย และการบริหารมหาวิทยาลัยอยู่บ้างจึงจะสามารถทำงานได้อย่างถูกทิศทาง

“ผมยอมรับว่า ค่อนข้างเป็นห่วงมาก เท่าที่ดูทั้ง 3 คนไม่มีใครอยากมาเป็นรัฐมนตรีว่าการอว. ซึ่งหากประเทศไทยมีแค่ 3 คนให้เลือกมาดำรงตำแหน่งนี้ ผมก็มองว่า นายเอกนกดูจะเหมาะสมที่สุด เพราะถึงแม้จะไม่อยากมา แต่ก็เคยเป็นอาจารย์ผ่านงานมหาวิทยาลัยแม้จะเป็นสายสังคม ก็เชื่อว่า หากได้มานั่งในตำแหน่งนี้ ก็จะพยายามทำงานอย่างเต็มที่ ” นายอดิศรกล่าว

ต้องจับตามดูว่า ปรับครม.ครั้งนี้หวยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอว. จะไปออกที่ใคร แต่เท่าที่ฟังเสียงคนในแวดวงอุดมศึกษาแล้ว ก็อดเป็นห่วงตามไปด้วยไม่ได้

เพราะเหตุผลสำคัญของการแยกอุดมศึกษา ออกจากศธ. นอกจากเรื่องโครงสร้างที่เทอะทะ ดูแลไม่ครอบคลุมแล้ว หัวใจหลักอีกย่างหนึ่งคือ หวังให้อว. ซึ่งรวมเรื่องานวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาด้วย เป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างประเทศ สร้างงานวิจัย นวัตกรรมระดับสากล ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกมาตอบโจทย์ เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0

ดังนั้นหัวรถจักรหรือตัวรัฐมนตรี จึงสำคัญ !!

ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ใจ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะวางให้อว. เป็นแค่กระทรวงเกรดซี ไว้จัดโควต้าการเมือง หรือจะให้เป็นหัวรถจักร ตามเป้าหมายที่ฝันไว้แต่แรก …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image