ถาปัตย์ ม.รังสิต ตะลุยภูชี้ฟ้า ผุด “เฮือนฮ่วมใจ๋” สถานีควบคุมไฟป่า

ถาปัตย์ ม.รังสิต ตะลุยภูชี้ฟ้า ผุด “เฮือนฮ่วมใจ๋” สถานีควบคุมไฟป่า

ม.รังสิต – “เฮือนฮ่วมใจ๋” เป็นเรือนร่มใจ ร่มฤดี ร่มเรือนที่ทำให้จิตใจสงบ เรือนสำหรับผู้เข้าอบรมใช้รับประทานอาหาร และแบ่งกลุ่มเพื่อปรึกษาหารือการป้องกันไฟป่า เรือนที่รวมตัวพวกเราทุกคน สร้างขึ้นมาด้วยมือ และหัวใจ โดย นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก Studio Design Lab มหาวิทยาลัยรังสิต

อาจารย์ไพบูลย์ กิตติกูล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในฐานะประธานโครงการ เล่าว่า เป็นโครงการต่อเนื่องจากการศึกษาโครงการ 4+1 และวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม 6 (ARC429) ภาคการศึกษาที่ 2/2562 ภายใต้ชื่อโครงการทัศนศึกษาและปฏิบัติการ (Workshop)

ทั้งนี้ นักศึกษาจาก Studio Design Lab กว่า 10 คน ลงพื้นที่ทดลองก่อสร้างงานที่ออกแบบด้วยการลงมือทำจริง สร้างศาลาอเนกประสงค์ “เฮือนฮ่วมใจ๋” อาคารไผ่ รองรับคนได้ 40-50 คน สำหรับเป็นที่พักผ่อน และรับประทานอาหาร แก่เจ้าหน้าที่ดับไฟ ณ สถานีควบคุมไฟป่าภูชี้ฟ้า จ.เชียงราย และมอบให้ทางสถานีควบคุมไฟป่า ภูชี้ฟ้า เพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์

Advertisement

โครงการนี้บูรณาการการเรียนการสอนร่วมระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เน้นการเรียนการสอนในชั้นเรียน ควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงนอกห้องเรียน เพื่อประสบการณ์ตรงในการพบเห็น และเรียนรู้ การ Workshop หนึ่งในรูปแบบที่ช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักศึกษาระหว่างสถาบัน

 

แนวทางการลงพื้นที่ภาคสนามก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์ Studio Design Lab ได้ประสานงานร่วมกับสถาปนิกผู้รับผิดชอบโครงการปรับปรุงซ่อมแซม และทางสถานีควบคุมไฟป่าภูชีฟ้า เพื่อเตรียมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับความประสงค์ของสถานี มาพัฒนาออกแบบก่อนขั้นต้น และระหว่างการก่อสร้างอาคาร จะสอดแทรกเทคนิค ความรู้ในงานไม้ และฝีมือในเชิงช่างจากประสบการณ์จริง โดยมีอาจารย์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่า และสถาปนิกโครงการ ให้คำแนะนำการทำงานจริงตลอดกว่า 1 สัปดาห์

Advertisement

นายสันธาน เวียงสิมา หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ และสถาปนิกประจำโครงการ กล่าวว่า นักศึกษามีศักยภาพ มีพื้นฐานที่ดีจากการเรียนในห้อง ขณะที่ส่วนหน้างาน นักศึกษาได้สัมผัสการทำงาน เข้าใจว่าการก่อสร้างด้วยวัสดุทางธรรมชาติที่ไม่ง่าย ต้องใช้ความอดทน ความพยายาม นักศึกษาลงมือเลื่อยไผ่เอง ได้เรียนรู้วิธีการแต่ละขั้นตอนด้วยตัวเอง แบ่งทีมรับผิดชอบ แก้ปัญหาปรับเปลี่ยนหน้างานอยู่ตลอด และนักศึกษาก็ทำได้ ที่สำคัญ มีทัศนคติที่ดีต่องานออกแบบของตนเอง

 

นายสราวุธ ค้อมคำพันธ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าภูชี้ฟ้าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เทิง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ระบุว่า สถานีตั้งอยู่ที่ อ.เทิง รับผิดชอบพื้นที่ประมาณ 187,500 ไร่ มีหน้าที่รณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องกันไฟป่า ปฏิบัติงานด้านการควบคุมไฟป่า รวมถึง ประสานงาน สนับสนุน ร่วมปฏิบัติงานดับไฟป่า และบรรเทาภัยธรรมชาติ

“เราต้องการพื้นที่ในส่วนที่นำมาเป็นสถานที่อบรมการป้องการไฟป่าอย่างถูกวิธีให้แก่ราษฎรในพื้นที่ แต่ขาดพื้นที่ที่ใช้พักคุยงาน รับประทานอาหาร รวมถึง ประชุมงานระหว่างเจ้าหน้าที่ และราษฎรที่มาเข้ารับการอบรม” นายสราวุธ กล่าว

น.ส.สุรัญชญา พลนครเดช และ นายพิพัฒนพงศ์ นวดิจศุภกร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า เราแบ่งหน้าที่เป็นฝ่ายออกแบบ ฝ่ายก่อสร้าง และฝ่ายจัดเตรียมวัสดุ คนที่ทำโครงสร้างจะดูแบบ และทำโครงสร้างพวกข้อต่อต่างๆ ส่วนเพื่อนจะจัดเตรียมไผ่ ขนาดที่ต้องการตามแบบไว้ให้ เพื่อนที่รับผิดชอบก่อสร้าง ขึ้นแบบ 3D แยกย้ายกันทำ แต่ละคนรับงานต่อกันโดยพูดคุยกัน แก้ปัญหาร่วมกันตลอด เพื่อให้งานออกแบบก่อสร้างสมบูรณ์ที่สุด

“วัสดุทำจากธรรมชาติทั้งหมด พวกเราได้ศึกษาหาข้อมูล เตรียมการก่อนลงพื้นที่บ้าง ข้อมูลที่ได้รับจากการเรียนในห้องเรียน ประกอบกับคำแนะของอาจารย์ และที่ปรึกษา รวมถึง การได้แชร์ความคิดเห็นกับพี่ๆ เจ้าหน้าที่ เจ้าของสถานที่ ทำให้ปรับเปลี่ยนแผนการทำงานหน้างานได้ดี แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ได้กำลังใจ และพวกเราตั้งใจในการลงพื้นที่ทำงานจริง สุดท้าย การได้ทำงานออกแบบจากพื้นฐานความรู้สถาปัตยกรรมที่เรียนมากับการใช้วัสดุท้องถิ่น ผลงานออกแบบ ก่อสร้างอาคารนี้เกิดขึ้นจริง ส่งต่อให้พี่ๆ เจ้าหน้าที่ได้ใช้ประโยชน์ รู้สึกดีใจ และภูมิใจกับผลงาน”

โดยได้ร่วมกันตั้งชื่ออาคารหลังนี้ว่า “เฮือนฮ่วมใจ๋”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image