บุก ศธ.ยื่น 4 ข้อเสนอ ปลดแอก… ‘นักเรียนข้ามเพศ’

บุก ศธ.ยื่น 4 ข้อเสนอ ปลดแอก… ‘นักเรียนข้ามเพศ’

นักเรียนข้ามเพศ – ส่อเค้าจะบานปลาย จากปัญหา “ทรงผม” สู่การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทางเพศ ของ “กลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ” ในสถานศึกษาทั่วประเทศ

หลังเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โลกออนไลน์แชร์เรื่องราวนักเรียนถูกลงโทษโดยการตัดผมหลายราย จนเกิดคำถามว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 นั้น โรงเรียนได้ปฏิบัติตาม เพื่อสร้างความเท่าเทียม และไม่ละเมิดสิทธิของนักเรียนหรือไม่ !!

เพราะระเบียบใหม่ที่ออกมานั้น ยังคลุมเครือ เพราะสุดท้ายการให้นักเรียนไว้ทรงผมใด เป็นอำนาจของคณะกรรมการสถานศึกษาที่ต้องร่วมกันตัดสินใจ แม้จะระบุให้หารือกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และกรรมการสถานศึกษา แต่ดูเหมือนโรงเรียนบางส่วนยังยึดติดระเบียบเดิมที่เคยทำมา ด้วยเหตุผลที่ว่าทรงผมนั้น ถือเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียนมาช้านาน

Advertisement

จนตัวแทน “กลุ่มนักเรียนเลว” บุก ศธ.เรียกร้องให้ ศธ.ให้ความชัดเจนเรื่องการบังคับใช้ระเบียบทรงผมฉบับใหม่ พร้อมกับแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการ “ตัดผม” ในแคมเปญเลิกบังคับ หรือจับตัด

นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ. จึงได้ส่งหนังสือซักซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ไปยังหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ.เพื่อให้ปฏิบัติตาม และแจ้งไปยังสถานศึกษาให้ยกเลิกการบังคับใช้ระเบียบสถานศึกษาเดิม เกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2518 โดยให้ยึดหลักความเหมาะสม รวมทั้งให้นักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น ต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ก่อนประกาศใช้

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน ได้ถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้น

Advertisement

เมื่อกลุ่มนักเรียนเลว พร้อมกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQANs+) เดินขบวนไปยื่นหนังสือเรื่องข้อร้องเรียนจากกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ ศธ.

โดยกลุ่มนักเรียนเลวได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การตัดผมของตน การเปลี่ยนชุดจากนักเรียนชายเป็นนักเรียนหญิง หรือการฉีกหนังสือสุขศึกษาที่เขียนเนื้อหาสร้างความเข้าใจผิดเรื่องของความหลากหลายทางเพศ !!

นอกจากนี้ ยังยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ต่อ ศธ.เพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศให้กับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ดังนี้

1.ศธ.ต้องปรับปรุง และแก้ไขระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 โดยระบุให้นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีสิทธิในการเลือกทรงผมตามเพศวิถีของตนเอง

2.นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องมีสิทธิเลือกที่จะใส่ชุดนักเรียนตามเพศวิถีของตนเอง และ ศธ.ต้องออกแบบชุดนักเรียนเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนที่มีความลื่นไหลทางเพศ หรือยกเลิกการบังคับแต่งเครื่องแบบนักเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีสิทธิที่จะแต่งกายได้ตามเพศของตนเอง

3.ตรวจสอบ เรียกคืน และยุติการจัดจำหน่ายหนังสือเรียนที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศในมุมมองที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งให้ยกเลิกแบบประเมิน และกฎระเบียบของโรงเรียนต่างๆ ที่ยังมีการเหยียดเพศ หรือลดทอนศักดิ์ศรีความป็นมนุษย์ของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ

และ 4.ขอให้ ศธ.กำชับครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ปฏิบัติต่อนักเรียนทุกๆ เพศอย่างเท่าเทียมกัน และห้ามดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือกลั่นแกล้งนักเรียนด้วยเรื่องเพศ

นอกจากนี้ กลุ่มนักเรียนเลวยังได้รวมตัวที่ ศธ.อีกครั้ง เพื่อจัดแคมเปญ “นักเรียนไทย ไม่ไหวแล้วโว้ย” เพื่อมาแสดงจุดยืน ข้อเรียกร้องต่อ ศธ.ดังนี้ คุณครูต้องไม่ทารุณ กฎระเบียบต้องไม่ละเมิดสิทธิ และนักเรียนคิดเห็นได้อย่างเสรีภาพ

โดยกลุ่มนักเรียนได้เริ่มจัดกิจกรรม ปราศรัยปัญหาการศึกษาไทยตั้งแต่โครงสร้างยันฉากหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเล่าประสบการณ์การถูกคุกคามสิทธิในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโรงเรียนของตนจนถูกล่าแม่มด เมื่อแสดงความคิดเห็นก็ถูกโรงเรียนตอบกลับว่าถ้าไม่พอใจไปเรียนที่อื่น จนเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมนักเรียนถึงแสดงความคิดเห็นไม่ได้

หรือจะเป็นการสะท้อนปัญหาเรื้อรังเรื่องทรงผมที่มีมานานหลายปี ที่โรงเรียนไม่ปฏิบัติตามระเบียบทรงผมใหม่ที่ออกมาล่าสุด

รวมทั้งกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาสะท้อนว่า ที่ผ่านมามีนักเรียนจำนวนมากถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือถูกครูเหยียดเพศ เมื่อนักเรียนไม่พอใจครูก็ตอบกลับว่าแค่ล้อเล่น เป็นต้น

รวมถึงตั้งคำถามว่าไม้เรียวนั้นสร้างคนจริงหรือไม่ เพราะในระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 กำหนดไว้ว่าห้ามลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง แต่ปัจจุบันนักเรียนกลับถูกครูตี หรือทำร้ายร่างกายอยู่ ซึ่งครูไม่ควรสร้างความรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจกับนักเรียน และทำไม ศธ.ไม่แก้ไขปัญหานี้ ต้องรอให้เกิดเรื่องแล้วแก้ไข รอจนวัวหายแล้วล้อมคอกหรือ

การที่กลุ่มนักเรียนออกมาเรียกร้องสิทธิของตนนั้น นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ถือเป็นเรื่องดีที่นักเรียนตื่นตัว ปัญหากฎระเบียบและทรงผมเป็นรากปมปัญหาความขัดแย้ง ที่กำลังสะท้อนความแตกต่างระหว่างค่านิยม และชุดความคิดทั้ง 2 ฝ่าย ที่ ศธ. ประวัติศาสตร์ และฐานคิดเชิงอำนาจนิยม แต่ในขณะที่นักเรียนจะมีชุดความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ ทำให้เห็นว่ากฎระเบียบที่ออกมาจาก ศธ.แฝงเรื่องอำนาจนิยมอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของนักเรียนไม่มีความเป็นอิสระมากเท่าที่ควร

“การแสดงออกของนักเรียนในเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ผมคิดว่าผู้ใหญ่ควรเปิดใจ และรับฟังสิ่งที่เด็กพูด และแสดงออก เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องดีที่ควรจะหันหน้ามารับฟังซึ่งกันและกัน ถือเป็นการเคารพ และยอมรับซึ่งกันและกัน ปัจจุบันจะเป็นการมารับข้อเสนอแนะและจบ แต่ไม่มีการพูดคุย หารือร่วมกัน หรืออธิบายตรรกะ และเหตุผลมากเพียงพอ” นายสมพงษ์กล่าว

นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้จะเห็นว่าเด็กทั้งประเทศตื่นตัวมากขึ้น การแสดงออก หรือท่าทีของ ศธ.คือรับเรื่อง แต่ไม่ค่อยจริงใจกับสิ่งที่เด็กต้องการให้ ศธ.รับรู้ ทั้งนี้ ไม่ได้มองว่าเด็กถูกทั้งหมด การแสดงออกเป็นเรื่องดี แต่เราต้องเคารพสิทธิของราชการเช่นกัน เพราะสังคมอาจจะมองว่าเด็กก้าวร้าว ดังนั้น เรื่องนี้ต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก การยอมรับ การให้เกียรติ และการรับฟังเหตุผลของกันและกันเป็นเรื่องที่ดีของทุกฝ่าย

นักวิชาการจากรั้วจามจุรีระบุอีกว่า ถ้าดูตามระเบียบที่ ศธ.ออกมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นระเบียบที่มีลักษณะท็อปดาวน์ลงไป รวมทั้งการออกระเบียบที่ยึดติดกับกรอบ ต้องมีวินัย ต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ กรอบของระเบียบเช่นนี้เป็นการละเมิดสิทธิเด็กทางอ้อม แม้จะไม่ได้ระบุโดยตรง แต่เป็นกรอบที่ควบคุม จำกัดว่าเด็กจะต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ ทำให้สิทธิของเด็กในเรื่องการแสดงออกจะถูกปฏิเสธในระบบการศึกษาอยู่ตลอดเวลา และในวงการการศึกษา คำว่าสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และการสร้างพลเมือง เป็นคำลบสำหรับคนในวงการการศึกษา เพราะบุคคลเหล่านี้คิดว่าถ้าเด็กมีสิทธิในเรื่องต่างๆ เด็กจะเรียกร้องไม่มีที่สิ้นสุด

“ผมคิดว่า ศธ.ควรปรับความคิด เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน และสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ายังปฏิเสธความคิดนี้จะเกิดความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด ศธ.ต้องปรับความคิดครู สร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก และกฎระเบียบต่างๆ จำเป็นต้องรื้อ สังคายนา ถ้ายกเลิกได้ขอให้ยกเลิก เพราะระเบียบเหล่านี้เป็นการฝังรากลึก และยึดโยงกับความเชื่อที่ว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่อยู่” นายสมพงษ์กล่าว

หวังว่า ศธ.ภายใต้การนำของนักบริหารรุ่นใหม่อย่าง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จะรับฟังเสียงของนักเรียน พูดคุย ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และจูนเข้าหากัน

ต้องจับตาว่า แรงขับเคลื่อนของกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งระเบียบ กฎเกณฑ์เก่าๆ รวมทั้งเปลี่ยนวิธีคิดของ ศธ.ได้หรือไม่??

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image