นิธิชี้ “ภาษาไต-ไท” เคยเป็นภาษากลางทางการค้าและศาสนาเกือบพันปีมาแล้ว

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเปิดเผยข้อเขียนบางส่วนของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับภาษาตระกูลไต-ไท ว่าในอดีต เกือบพันปีมาแล้ว เคยเป็นภาษากลางทางการค้าและศาสนา ปรากฏหลักฐานมากมาย อาทิ จารึกสุโขทัย , โองการแช่งน้ำ, กฎหมายตราสามดวง, มังรายศาสตร์ รวมถึงตำราทางศาสนา คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดจู่ๆ ภาษาไต-ไท จึงกลายเป็นภาษาที่ใช้ในพิธีกรรมและกฎหมายของราชอาณาจักรบนที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่

ศาสตราจารย์นิธิยังระบุอีกว่า นักปราชญ์สมัยก่อนสันนิษฐานว่าอาจเป็นเหตุผลเรื่องการเคลื่อนย้ายของประชาชนจำนวนมากที่พูดภาษาไต-ไท ซึ่งไม่มีหลักฐานรองรับที่มากพอ ส่วนตนมองว่าภาษาดังกล่าวน่าจะถูกใช้เป็นภาษากลางสำหรับกิจกรรม 2 อย่าง ได้แก่ การค้าทางไกลทางบก และ ตำรา คำสอนพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกา

“จากงานศึกษาของนักมานุษยวิทยาบางคน พบว่าประชาชนในชุมชนขนาดเล็กบางแห่ง แม้ใช้ภาษาที่ต่างจากชุมชนใกล้เคียง ต่างก็สามารถพูดหรืออย่างน้อยเข้าใจภาษาของชุมชนใกล้เคียงได้ ในบางสังคม คนสามารถพูดภาษาต่างกันได้ถึง 4-5 ภาษา แต่การค้าทางไกลเปลี่ยนเงื่อนไขทางภาษาของการซื้อขายแลกเปลี่ยน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่บนเส้นทางการค้าอันยาวไกล พ่อค้าจะสามารถพูดภาษาที่แตกต่างกันมากเช่นนั้นได้”

ศาสตราจารย์นิธิ ยังกล่าวถึงการค้าระหว่างเมืองท่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์กับจีน ซึ่งในอุษาคเนย์นี้มีการตั้งเมืองขนาดใหญ่จนกลายเป็นอาณาจักรคนไต โดยย้ำว่าพ่อค้าไม่จำเป็นต้องมีเชื้อชาติไต-ไท แต่น่าจะเป็นคนที่อยู่ในเมืองที่สามารถรวบรวมสินค้าได้สะดวกที่สุด ตลอดจนร่วมทุนกับคนอื่นที่ต้องพึ่งพิงการค้าทางไกลได้ ทำให้พ่อค้าเหล่านี้พูดภาษาไต-ไท รับวัฒนธรรมประเพณี เพื่อสร้างเครือข่าย ภาษากลางของการค้าทางไกลจึงกลายเป็นภาษาไต-ไทในที่สุด และอาจค่อยๆกลายตัวเองเป็นคนไต-ไทในเวลาต่อมา

Advertisement

“อยากเสนอว่า ไม่เพียงแต่รัฐเล็กๆเท่านั้น แต่รัฐใหญ่ๆซึ่งได้ประโยชน์จากการค้าของป่าทางไกลทำให้ประการในอาณาจักรขนาดใหญ่เช่น เชียงใหม่ สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ,สุพรรณบุรี , ลพบุรี, ศรีรามเทพนคร, เพชรบุรี, นครศรีธรรมราชคุ้นเคยกับภาษาไตเช่นกัน จนทำให้กลายเป็นภาษาที่อาจสื่อสารกันได้ระหว่างกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นข้าไพร่ของอาณาจักรเหล่านั้นอยู่แล้ว
ดังนั้น หลักฐานภาษาไต-ไทที่อาณาจักรเหล่านี้ผลิตขึ้นในช่วงนี้ด้วยตัวอักษรไทยบ้าง อักษรขอมบ้าง จึงอาจไม่ได้สะท้อนว่าประชากรส่วนใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์ไต-ไทก็ได้ แต่ภาษาไต-ไทเป็นภาษาที่กลุ่มชาติพันธุ์นานาชนิดในอาณาจักรเหล่านี้คุ้นเคยพอจะสื่อสารกันได้ ดังที่ในสมัยก่อนหน้านี้ อาจเป็นภาษาเขมร แต่อาจไม่แพร่หลายเท่าภาษาไต-ไทในสมัยหลัง เพราะไม่มีแรงผลักดันจากการค้าของป่าทางไกล”

ทั้งนี้ ข้อเขียนข้างต้นอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม ชื่อว่า “ความไม่ไทยของคนไทย” โดยสำนักพิมพ์มติชน คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image