เปลี่ยน ‘TECH’ เป็น ‘TEACHER’ ปรับโฉม ‘ห้องเรียน’ หลังโควิด-19

เปลี่ยน ‘TECH’ เป็น ‘TEACHER’ ปรับโฉม ‘ห้องเรียน’ หลังโควิด-19

โควิด-19 – แม้โรงเรียนจะกลับมาเปิดเทอมตามปกติ แต่แน่นอนว่ารูปแบบการสอน และการเรียนรู้ของเด็กไทยจำต้องเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบกับโลกในหลายด้าน การเรียนรู้ยุคใหม่จึงต้องก้าวตามทันความเปลี่ยนแปลง ทิศทางการศึกษาไทยจึงเป็นยุคแห่งการเข้ามาของเทคโนโลยี และต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

จึงเป็นที่มาของ STARTDEE EDUCATION FORUM 2020 กับคำถามที่ร่วมกันหาคำตอบว่า “เมื่อโฉมหน้าห้องเรียนหลังเปิดเทอมเปลี่ยนไป ออกแบบการศึกษาอย่างไร ให้เด็กไทยเรียนรู้ได้อย่างไร้รอยต่อ” พร้อมเชิญผู้คร่ำหวอดในวงการการศึกษาไทย ร่วมระดมความคิดสะท้อนมุมมองจาก 5 ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเทคโนโลยีทางการศึกษา ภาคบุคลากรทางการศึกษา หรือคุณครู และภาคสื่อการเรียนรู้ หรือตัวแทนผู้ปกครอง

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้ง StartDee แอพพลิเคชั่นด้านการศึกษา โต้โผของการจัดงาน กล่าวว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้การศึกษาใน New Normal เป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ โดยใช้แนวคิด “TURN TECH TO TEACHER” นำเทคโนโลยีมาช่วยปลดล็อกการศึกษา ดังนี้

Advertisement

T – Teaching เนื้อหาการสอน ให้บริการบทเรียนคุณภาพที่ให้ความรู้อย่างครอบคลุมทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิตที่จำเป็น, E – Experience ประสบการณ์การเรียน สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สนุก สั้นกระชับ และเข้าใจง่าย ตอบโจทย์ผู้เรียนยุคใหม่, C – Classroom ตัวช่วยครูในห้องเรียน เป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสอนให้กับครู ไม่ได้มาแทนที่ และ H – Handmade/Personalized เฉพาะบุคคล การเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน ราวกับออกแบบมาให้เราคนเดียว

ายพริษฐ์ยังแบ่งปันมุมมองว่า สิ่งที่ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีการศึกษาควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ การออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องไปกับประสบการณ์เรียนออนไลน์ (online experience) ของผู้เรียน 3 ด้าน ดังนี้

“จูงใจ” เริ่มจากการดึงดูดผู้เรียนให้อยากเข้ามาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ โดยทำให้การเรียนกลายเป็นเรื่องสนุก ผ่านฟีเจอร์ StartDee World ที่สอดแทรกความเป็นเกม (Gamification) เข้าไปในการเรียนรู้ พบว่า ช่วยให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นถึง 72% นับเป็นองค์ประกอบในการเรียนรู้ ที่ช่วยให้เด็กตั้งใจเรียนได้ แม้ไม่มีคุณครูคอยกำกับการเรียนการสอน

“จดจ่อ” เมื่อจูงใจให้เข้ามาใช้งานได้แล้ว ต้องออกแบบบทเรียนที่ดึงความสนใจให้เรียนจนจบได้ จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการรับชมวิดิโอกว่า 3,000 รายการ พบว่า คลิปที่มีความยาวประมาณ 2-3 นาที มีอัตราการชมคลิปจนจบสูงถึง 70-80% ขณะที่คลิปซึ่งมีความยาวเกิน 6 นาที จะมีคนรับชมคลิปจนจบน้อยลงเรื่อยๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ และหากยาวเกิน 10 นาที จะเหลือผู้เรียนที่รับชมคลิปจนจบเพียง 50% แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เนื้อหาที่จะช่วยให้ผู้เรียนจดจ่อได้ ต้องไม่ยาวจนเกินไป

“จดจำ” สุดท้ายนี้ การจะออกแบบบทเรียนออนไลน์ให้สัมฤทธิ์ผลสูงสุดได้ ต้องเข้าใจ และจดจำได้ง่าย ซึ่งบทเรียนของ StartDee ใช้วิธีการ Story-telling คือเริ่มต้นคลิปด้วยบทบาทสมมติที่สอดคล้องกับเนื้อหาในแต่ละบทเรียน พร้อมแอนิเมชั่นและ real-time pop-up text ที่ช่วยให้ journey ในการเรียนลื่นไหล และง่ายต่อการจดจำ

ขณะที่ นายทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิชาการด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ไทยยังมีข้อจำกัดในการเรียนทางไกลค่อนข้างสูง ทิศทางการปรับตัวในอนาคต ต้องเริ่มจากการตั้งวัตถุประสงค์การเรียนรู้ให้ชัด แล้วเริ่มหาทางออกที่สอดคล้องกับบริบทใหม่

“ทุกภาคส่วนต้องมองหาวิธีการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษามากขึ้นนั้น เป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องเปิดโอกาสให้การออกแบบการสอนยืดหยุ่นมากขึ้น ผสมผสานระหว่างระบบออฟไลน์ และออนไลน์ ให้ตรงกับบริบทการสอนที่หลากหลาย”

ด้านตัวแทนคุณครูรุ่นใหม่ ครูร่มเกล้า ช้างน้อย ครูคณิตศาสตร์จากโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม เจ้าของไอเดียขับเคลื่อนการสอนรูปแบบใหม่ใน Inskru เล่าถึงหัวใจของการปรับการสอนให้สอดคล้องกับบริบทการเรียนที่เปลี่ยนไปว่า ต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจนักเรียนก่อน ว่าพร้อม-ไม่พร้อมอย่างไร และต้องศึกษาทุกความเป็นไปได้ในการจัดการเรียนการสอน

“ตัวอย่างผลงานที่เคยทำ คือ QR Sheet เป็นเอกสารประกอบการเรียนที่มี QR code ไปสู่คลิปบทเรียน กำกับในเนื้อหาแต่ละเรื่อง ออกแบบมาให้สอดคล้องกับ journey ของผู้เรียน มีระดับความง่าย-ยาก ไล่เรียงกันไป”

นายเมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง BASE Playhouse โรงเรียนแนวใหม่ที่ให้เด็กทุกคนจะเติบโต และเก่งในแบบของตัวเองได้ ได้แชร์มุมมองถึงการออกแบบการเรียนรู้นอกห้องเรียนในอนาคต ว่า นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ต้องคำนึงถึง ทักษะ หรือความสามารถอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานด้วย โดยผสานการฝึกฝนผ่านกิจกรรมต่างๆ เข้ากับเทคโนโลยี ให้เกิดเป็นประสบการณ์เรียนที่สนุกอย่างแท้จริง
“โจทย์ในยุคต่อจากนี้ คือการสร้างทักษะให้เด็กยุคใหม่เก่งได้ โดยใช้สัดส่วนของออนไลน์แพลตฟอร์มมาช่วยอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ทำลายความสนุก และเสน่ห์ของการฝึกผ่านการลงมือทำจริง”

ปิดท้ายที่ น.ส.กัญญาภัค บุญแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด เห็นว่า พ่อแม่ และผู้ปกครอง จะเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในการส่งเสริมการเรียนหลัง new normal ของลูก แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องปรับตัวให้เท่าทันรูปแบบการเรียน และความสนใจของลูกในยุคดิจิทัลให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเปิดใจ และยอมรับพฤติกรรมการเสพข้อมูลบนโลกออนไลน์ของลูก ช่วยเฟ้นหาตัวเลือกเทคโนโลยีด้านการศึกษาที่เหมาะสมกับลูกที่สุด ไปจนถึงการปลูกฝังการรักการอ่าน และทักษะชีวิตที่สำคัญในโลกอนาคต

“ที่ผ่านมาพ่อแม่ และผู้ปกครอง อาจทิ้งภาระ และความคาดหวังทางการเรียนของลูกไว้ที่โรงเรียน แต่โควิด-19 ได้สอนบทเรียนให้เรารู้ว่า การสนับสนุนจากสถาบันครอบครัวนั้นสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด”

นับว่าเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาไทย และทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน โรงเรียน คุณครู รวมถึง ผู้ปกครอง ในการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยงแปลงของการศึกษาโลกในยุคใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาเป็นตัวช่วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image