เปิดแผน…ปฏิรูปประเทศด้าน ‘การศึกษา’ เพิ่มคุณภาพ-ลดเหลื่อมล้ำ ??

เปิดแผน…ปฏิรูปประเทศด้าน ‘การศึกษา’ เพิ่มคุณภาพ-ลดเหลื่อมล้ำ ??

ปฏิรูปการศึกษา – “การศึกษา” ของไทย ประสบปัญหามาอย่างยาวนาน ถึงขั้น “เรื้อรัง” ไม่ว่าจะเป็น “คุณภาพ” ที่พบว่านักเรียนทั้งประเทศ มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาค่อนข้างต่ำ “ความเหลื่อมล้ำ” หรือปัญหาของ “ระบบ” ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดต่างๆ ในระบบการศึกษา ที่ทำให้การจัดการศึกษา ไม่สามารถปรับตัว และพัฒนาตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทัน ทั้งยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนตามความถนัด และศักยภาพ รวมทั้ง ไม่สามารถชี้นำผู้เรียนให้เรียนในสาขาที่ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะด้านอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา

ปัญหาต่อมา คือการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา ยังไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง การจัดโครงสร้าง และความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่เอื้อต่อการความรับผิดรับชอบ ผลการดำเนินการ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ และการกระจายอำนาจเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้สถานศึกษาของรัฐต้องรับภาระจากคำสั่งจากส่วนกลาง จนทำให้ครูไม่มีเวลาสอนนักเรียนในห้องเรียนได้อย่างเต็มที่

ประกอบกับปัจจุบัน บริบทของประเทศ และโลก กำลังเปลี่ยนแปลง เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ระบบการศึกษาต้องพัฒนาให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเพื่อส่งเสริมสมรรถนะ และช่วยให้ผู้เรียนตนเองได้เต็มศักยภาพ

Advertisement

ปัญหาการศึกษาของประเทศ แต่ละรัฐบาลได้ดำเนินการปฏิรูป และพัฒนาการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อปี 2560 รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เพื่อจัดทำแผนปฏิรูปการศึกษาของประเทศ โดยมี ศ.กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน แต่ในปี 2562 กอปศ.หมดวาระลง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจเพื่อการจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามที่ที่รัฐบาลกำหนด

ซึ่งคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจฯ มีอำนาจ และหน้าที่ พิจารณาเสนอความเห็น หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรังปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพื่อเสนอต่อสภาการศึกษา และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้ง ดำเนินการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาฉบับปรับปรุง

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจฯ ได้ปรับปรุงแก้ไข “แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา” จากเดิมที่ กอปศ.ได้กำหนดแผนงานไว้ 7 เรื่อง 29 ประเด็น 131 กิจกรรม เป็น 7 เรื่อง 28 ประเด็น 90 กิจกรรม และกำหนดงบประมาณดำเนินการไว้ 6,920 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

เรื่องที่ 1 การปฏิรูประบบการศึกษา และการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ และกฎหมายลำดับรอง มีประเด็นปฏิรูป 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นกฎหมายกลางในการวางหลักการจัดองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตามภารกิจ 4 ภารกิจ คือ ด้านนโยบาย ด้านการจัดการศึกษา ด้านการสนับสนุนการจัดการศึกษา และด้านติดตามตรวจสอบประเมินผลการจัดการศึกษา 2.การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเอกชน เพื่อการจัดการศึกษา 3.การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต เพื่อการพัฒนาตนเองตามศักยภาพ และเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตรองรับการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต 4.การทบทวน และปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติ และ 5.การจัดตั้งสำนักสภานโยบายการศึกษาแห่งชาติ

เรื่องที่ 2 การปฏิรูปการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีการปฏิรูป 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบการดูแล การพัฒนา และการจัดการเรียรรู้ เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และสมองอย่างเต็มศักยภาพให้สมกับวัย 2.การสื่อสารสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาเด็กปฐมวัย และ 3.การผลิต และการใช้นวัตกรรมการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเต็มรูปแบบ

เรื่องที่ 3 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มี 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ปรับปรุง พ.ร.บ.การจัดการศึกษาของคนพิการ พ.ศ.2551 2.การดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับผู้เรียน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เรียนด้อยโอกาสทางการศึกษาอันเนื่องจากสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม กลุ่มผู้เรียนประเภทผู้พิการ และกลุ่มผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษต่างๆ และ 3.การพัฒนาสถานศึกษาที่มีผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จะวางระบบคัดกรองผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษประเภทต่างๆ เพื่อให้สถานศึกษาจัดให้บริการทางการศึกษาได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม

เรื่องที่ 4 การปฏิรูปกลไกและระบบผลิต การคัดกรอง การพัฒนาและการบริหารงานบุคคล ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา มี 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ปฏิรูปกลไก และระบบการผลิตครู บุคลากรทางการศึกษา และอาจารย์สถาบันผลิตครู 2.ปฏิรูปกลไกระบบการคัดกรองครู บุคลากรทางการศึกษา และอาจารย์สถาบันผลิตครู 3.ปฏิรูปกลไก และระบบการพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และอาจารย์สถาบันผลิตครู 4.ปฏิรูปกลไก และระบบการบริหารงานบุคคลครู บุคลากรทางการศึกษา และอาจารย์สถาบันผลิตครู และ 5.ปฏิรูปองค์กรวิชาชีพครู และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรวิชาชีพครู

เรื่องที่ 5 การปฏิรูประบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 มี 8 ประเด็น ได้แก่ 1.หลักสูตรที่เน้นสมรรถนะ และการจัดการเรียนการสอนที่เน้นคุณธรรม และจริยธรรม 2.ระบบ และกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน และภายนอก 3.ระบบ และกลไกการวัด และประเมินผลการศึกษาระดับชาติ 4.การปฏิรูปวิธีการวัด และประเมินผลผู้เรียนในสถานศึกษา และสถาบันการศึกษา 5.วิธีการรับเข้าศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น 6.การปฏิรูประบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียนในสถานศึกษา และสถาบันการศึกษา 7.ระบบ และกลไกการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ 8.การปฏิรูปอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติ

เรื่องที่ 6 การปรับโครงสร้างชองหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา มี 3 ประเด็น ได้แก่ 1.สถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหาร และจัดการศึกษา 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านบริหารงานบุคคล และด้านบริหารงานทั่วไป 2.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ 3.การปรับปรุงโครงสร้างของ ศธ.

เรื่องที่ 7 การปฏิรูปการศึกษา และการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล มี 2 ประเด็น ได้แก่ 1.การปฏิรูปการศึกษา และการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และความเป็นพลเมืองดิจิทัล และ 2.การปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา

ส่วนการตั้งเป้าเพื่อบรรลุผลของการปฏิรูปการศึกษานั้น ทางคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจฯ ตั้งเป้าเห็นผลใน 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน หรือภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 ระยะสั้น หรือภายใน 2 ปี คือปี 2564-2565 และระยะกลาง-ระยะยาว คือภายใน 5-10 ปี

และจากการประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกศ.) ที่มี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นประธาน ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ไปปรับปรุงแผนเพื่อให้มีความครบถ้วน โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 คาดว่าการปรับปรุงจะเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์ เพื่อเสนอที่ประชุม สกศ.อีกครั้งในวันที่ 25 กันยายนนี้

ต้องรอดูว่า แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จะมีหน้าตาออกมาอย่างไร สามารถยกระดับมาตรฐาน สร้างคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานได้หรือไม่ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image