‘ครูไทย’ ร่วมแชร์ไอเดีย หลากวิธีสอนสไตล์ ‘นิว นอร์มอล’

‘ครูไทย’ ร่วมแชร์ไอเดีย หลากวิธีสอนสไตล์ ‘นิว นอร์มอล’

นิว นอร์มอล – จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ทำให้การเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2563 ไม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะโรงเรียนต้องเตรียมการสอนแบบ New Normal โดยต้องปรับตัวกันใหม่ ทั้งรูปแบบการสอนที่ต้องผสมผสานระหว่างการเรียนทางไกล กับการเรียนแบบปกติ ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึง การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ที่ต้องจัดพื้นที่ในโรงเรียนกันใหม่ โดยยึดหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม และดำเนินการตามมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ซึ่ง EDUCA แพลตฟอร์มการสื่อสารเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับ กลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ (Thailand Principals Forum: TPF) จัดสัมมนาออนไลน์ผ่าน Facebook Live ในหัวข้อ “บทเรียนร่วมกัน รวมพลังโรงเรียนไทย ฝ่าวิกฤต COVID-19” ซึ่งมีโรงเรียนสมาชิกของกลุ่ม TPF มาร่วมแบ่งปันวิธีการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ

เริ่มจากโรงเรียนขนาดใหญ่ อาจารย์วิสา จรัลชวนะเพท ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา ในพระอุปถัมภ์ฯ จ.ภูเก็ต ได้วางแผนงานว่า วันแรกของการเปิดเรียน จะให้เด็กอนุบาลเรียนเพียงครึ่งวันเช้า เพราะพื้นที่ของห้องเรียนไม่เพียงพอสำหรับการนอนในช่วงบ่ายของเด็กที่ต้องเว้นระยะห่างกัน ส่วนการทำกิจกรรม จะแบ่งเด็กแต่ละห้องออกเป็น 2 กลุ่ม สลับกันทำกิจกรรมกลางแจ้ง และในห้องเรียน ขณะที่เด็กชั้นประถม และมัธยม จะแบ่งเด็กเป็นกลุ่มเอ และบี เพื่อสลับวันเรียนกลุ่มละ 3 วัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ โดยให้เด็กมาเรียนวิชาหลักเท่านั้น สำหรับวิชาพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพ จะมอบหมายงานไปทำที่บ้าน ขณะเดียวกันเด็กห้องโครงการพิเศษที่ต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเข้มข้น โรงเรียนได้เตรียมโปรแกรมการเรียนออนไลน์ไว้ให้

Advertisement

“มาตรการอื่นๆ ในการดูแลนักเรียน เราเตรียมเจลแอลกอฮอล์ เทอร์โมมิเตอร์ ฉากกั้นในโรงอาหาร และห้องเรียน ซึ่งจะจัดประชุมออนไลน์กับผู้ปกครองก่อนเปิดเทอมด้วย เพื่อทำความเข้าใจ และรู้ว่าโรงเรียนได้เตรียมแนวทางการสอนเด็กในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 อย่างไร” อาจารย์วิสา กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของโรงเรียน พบว่า มีนักเรียน 22% ที่ไม่มีความพร้อมกับการเรียนออนไลน์ เพราะไม่มีเครื่องมือ และอุปกรณ์ ดังนั้น จึงมองถึงการเปิดเรียนตามปกติเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการเรียนรู้

Advertisement

สถานการณ์ดังกล่าวคล้ายคลึงกับ โรงเรียนไทรโยคมณีกาญจน์วิทยา จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนชายขอบ และมีปัญหาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต โดย อาจารย์ไชยพร มะลิลา ผู้อำนวยการโรงเรียนโรงเรียนไทรโยคฯ กล่าวว่า โรงเรียนได้ทดลองการสอนทางไกล แต่ด้วยความที่นักเรียนส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ได้ จึงวางแผนการสอนเป็น 2 ระบบ คือ ออนไลน์ และออฟไลน์ ซึ่งได้นำคู่มือการเรียนการสอน และแบบเรียนไปให้นักเรียนที่บ้าน

“จากการสำรวจพบว่า ที่อยู่อาศัยของนักเรียนส่วนใหญ่ อยู่บริเวณเดียวกันกับกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน วัด และป้อมตำรวจ ซึ่งมีทีวี และอินเตอร์เน็ต โรงเรียนจึงสร้างเครือข่ายกับกลุ่มข้างต้น แล้วให้นักเรียนไปเรียนในพื้นที่นั้นๆ พร้อมกับครูที่นำสื่อการสอนเข้าไปทำกิจกรรมด้วย ทำให้โรงเรียนสามารถผสมผสานการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และออฟไลน์ได้ในช่วงเปิดเทอม” อาจารย์ไชยพร กล่าว

ในส่วนของ โรงเรียนเพลินพัฒนา ที่เปิดเทอมก่อนกำหนดการของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ได้จัดการเรียนรู้แตกต่างกันของระดับอนุบาล ประถม และมัธยม ในรูปแบบของ Home-Based Learning (HBL) ซึ่ง อาจารย์วีณา ว่องไววิทย์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา กล่าวว่า โรงเรียนจัดทำ Plearn Learning Box สำหรับเด็กอนุบาล ด้วยการบรรจุแผนงานการทำกิจกรรม และสื่อการสอน ผู้ปกครองสามารถสแกน QR Code ที่ให้ไว้ เพื่อเจอกับคลิปวิดิโอการสอนของครูได้ทันที ส่วนระดับประถมศึกษา นักเรียนจะใช้เครื่องมือออนไลน์ประสานกับครู และเพื่อนนักเรียนในบางช่วงเวลา โดยครูจะมีตารางเวลาเรียนที่ชัดเจน เน้นการแจกโจทย์ให้ไปทำโปรเจ็คต์ด้วยอุปกรณ์ที่มีอยู่ในบ้าน แล้วมาแชร์ไอเดียกับเพื่อนๆ

“สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมจะเป็นการเรียนรู้ออนไลน์เต็มตัว ผสมผสานทั้งชั่วโมงโฮมรูม การเรียนรู้ ตามกำหนด และการเรียนเสริม โดยแอพพลิเคชั่นหลักที่ใช้ในการเรียนคือ Zoom เพราะเห็นหน้าเด็กพร้อมกันหมด อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนของเราที่เน้นเรื่อง Collaborative ซึ่ง Zoom มีฟีเจอร์ Breakout Rooms ที่เด็กสามารถรวมกลุ่มทำงานด้วยกัน และครูเวียนดูงานตามกลุ่มได้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้แอพพลิเคชั่น Kahoot, Padlet และ Google Suite เข้ามาเสริมอีกด้วย” อาจารย์วีณา กล่าว

ปิดท้ายที่ รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา และประธานกลุ่ม TPF สรุปว่า การจัดสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ ช่วยสะท้อนให้เห็นภาพการเตรียมความพร้อมของหลากหลายโรงเรียนภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจารย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และบุคลากรทางการศึกษาที่เข้ามาร่วมรับฟั งสามารถนำกรณีศึกษาไปปรับใช้กับโรงเรียนของตนได้ เพื่อสร้างแนวทางการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เข้ามาดิสรัปวงการการศึกษา ให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

อย่างไรก็ตาม การแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ของเพื่อนครู จะช่วยให้ครูไทยสามารถพาโรงเรียนฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ และอาจเป็นโมเดลการจัดการการเรียนการสอน สำหรับรองรับเหตุการณ์ไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image