น.ร.ลุกฮือ..ทวงคืนสิทธิ ‘ชู 3 นิ้ว-ติดโบขาว’ เสียงเล็กๆ ที่.. ‘ผู้ใหญ่’ ต้องฟัง !!

น.ร.ลุกฮือ…ทวงคืนสิทธิ ‘ชู 3 นิ้ว-ติดโบขาว’ เสียงเล็กๆ ที่… ‘ผู้ใหญ่’ ต้องฟัง !!

มอบนักเรียน – ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การนำของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องรับมือกับ “ม็อบนักเรียน” ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มนักเรียนเลว” หรือ “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทย” ที่มาเรียกร้องสิทธิของตน

รวมถึง เรียกร้องให้ ศธ.จริงจังกับการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ทรงผม”, “การแต่งกาย” ที่บังคับให้แต่งตามเพศกำเนิดโดยไม่สนใจเพศวิถี หรือความเป็น LGBT+ ของเด็ก และเนื้อหาวิชาสุขศึกษาที่มีเนื้อหาไม่ทันสมัย ทันโลก และสร้างความเข้าใจผิดในเรื่องควาทหลากหลายทางเพศ เป็นต้น

การเรียกร้องของนักเรียน เกิดขึ้นพร้อมๆ กับกลุ่ม “นักศึกษา” ที่เรียกตนเองว่า “เยาวชนปลดแอก” ลุกขึ้นมาชุมนุนต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นไม่นาน “เยาวชนปลดแอก” ประกาศชื่อใหม่เป็น “คณะประชาชนปลดแอก” เพราะการเรียกร้องทางการเมืองไม่ได้หยุดแค่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา เท่านั้น การเมืองควรเป็นเรื่องของทุกคนที่สามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมได้

ซึ่งคณะประชาชนปลดแอก ได้จัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยคณะประชาชนปลดแอกได้แถลงการณ์จุดยืน 3 ข้อเรียกร้อง คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และรัฐบาลต้องยุบสภา บน 2 หลักการ คือ ต้องไม่มีการรัฐประหาร และการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

Advertisement

แรงกระเพื่อมจากการชุมนุมครั้งนี้ ส่งผลให้ “นักเรียน” ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ได้ลุกขึ้นมา “ชู 3 นิ้ว ต้านเผด็จการ” ซึ่งการชู 3 นิ้ว หมายถึง “เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพ” ระหว่างเข้าแถวหน้าเสาธงเพื่อเคารพธงชาติ หรือการผูกโบสีขาว ชูกระดาษเปล่าหน้าโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

แต่ปฏิกริยาเมื่อนักเรียนแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองในโรงเรียน กลับถูกครู และผู้บริหารสถานศึกษาบางคนห้ามปราม ไม่ว่าจะเป็นการชี้หน้าด่า พร้อมขู่ไล่นักเรียนออก หรือตบนักเรียนที่ถ่ายคลิป เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในฐานะผู้ดูแลภาพรวมของ ศธ.ทั้งหมด ได้ออกมาเน้นย้ำว่า อยากให้นักเรียนระมัดระวัง เพราะเข้าใจดี การแสดงออกอย่างไรก็เป็นสิทธิ แต่อยากให้นึกถึงความละเอียดอ่อนที่ก่อให้เกิดความแตกแยกของสังคม อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าครู และผู้บริหารเข้าใจในเรื่องละเอียดอ่อน การสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจกระตุ้นไฟในกองเพลิง

Advertisement

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกมาให้ความเห็นกับการที่นักเรียนชู 3 นิ้ว ว่าเห็นถึงความ “บริสุทธิ์ใจ” ของเด็ก ทั้งนี้ สิ่งที่ทราบมาจากการรับฟังความคิดเห็นจากเด็กๆ หลายคน บอกบางทีในสถานศึกษามีการ “บูลลี่” ถ้าใครไม่มา จะถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมชมรม เข้ากลุ่ม บางคนไม่ได้อยากจะมีส่วนร่วม แต่ถูกบูลลี่ ถูกกีดกัน ขอให้ทุกคนหารือด้วยเหตุและผล

การเรียนร้องของนักเรียนยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อ “กลุ่มนักเรียนเลว” พร้อมประชาชนกว่า 500 คน ได้มาชุมนุมที่ ศธ.พร้อมปราศัย สะท้อนปัญหาที่พบในสถานศึกษา และจัดกิจกรรม “#เลิกเรียนไปกระทรวง ผูกโบว์ขาว ชูสามนิ้ว เป่านกหวีดไล่ณัฏฐพล” โดยระบุว่า เป็นการออกมาปกป้องอนาคตของชาติ ออกมาปกป้องนักเรียน ผูกโบขาวให้กระทรวง ชู 3 นิ้ว ร้องเพลงชาติ และเป่านกหวีดไล่รัฐมนตรีว่า ศธ.ไปพร้อมๆ กัน

บรรยายกาศการชุมนุม นอกจากจะมีนักเรียน และประชาชนเข้าร่วม ยังมี นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดยนายณัฏฐพลออกมารับฟังข้อเรียกร้องของนักเรียนท่ามกลางเสียงโห่ร้อง และเป่านกหวีดขับไล่

ทั้งนี้ นักเรียนได้แสดงออกถึงความอัดอั้นจากการถูกบีบคั้นโดยระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกฎโรงเรียนละเมิดกฎ ศธ.และยังละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 รวมถึงละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ ซึ่งการออกกฎยังแฝงให้เพศชายเป็นใหญ่

เมื่อนักเรียนออกมาตั้งคำถาม และเรียกร้อง กลับถูกครูบางส่วนตำหนิว่าเป็นการสร้างชื่อเสียงที่ไม่ดีให้กับโรงเรียน ทางกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว จึงคาดหวังว่านักเรียนจะลุกขึ้นสู้กับอำนาจมืดของโรงเรียน โดยหวังว่านักเรียนจะได้รับสิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างที่ควรจะได้รับเสียที

พร้อมกับเรียกร้องให้ ศธ.กลับมาปกป้องนักเรียน

นอกจากนี้ ปัญหา “คุณภาพ” ซึ่งครูมีภาระงานมาก บางคนสอนไม่รู้เรื่อง เด็กต้องพึ่งกวดวิชา จึงอยากให้โรงเรียนมีคุณภาพเท่าเทียมกัน เด็กจะได้ไม่ต้องพึ่งกวดวิชา ที่สำคัญ อยากให้นโยบายที่ออกมาบังคับใช้ได้จริง มีการลงไปตรวจสอบจริงๆ แบบไม่ใช่ผักชีโรยหน้า

ซึ่งนายณัฏฐพลให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนว่า ดีใจที่นักเรียนให้ความสนใจอนาคตของตนเอง พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น และรวบข้อมูลเพื่อหาทางแก้ไขปัญต่อไป หากนักเรียนจะมาชุมนุมที่ ศธ.อีก ก็พร้อมที่จะรับฟัง แต่ขอให้มาพูดคุยกันอย่างสันติวิธี และสงบ

อีกทั้ง ศธ.ได้แสดงท่าทีตอบรับการมาของนักเรียนทันที โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด เรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ถึงหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด

รวมทั้งการปฏิบัติตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 สถานศึกษาได้ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวตามข้อ 7 แตกต่างกันไปจนเกิดปัญหาต่อนักเรียน นักศึกษาบางส่วน ซึ่ง ศธ.อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนรายละเอียดของระเบียบดังกล่าว โดยเบื้องต้น รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีนโยบายขอให้งดการดำเนินการตามระเบียบข้อ 7 ไว้พลางๆ ก่อน

หลังจากนักเรียนออกมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิของตน กลับเป็นประเด็นที่สังคมออกมาวิพาษ์วิจารณ์กันจำนวนมาก มีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

โดยฝั่งผู้ที่เห็นด้วย มองว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ นักเรียนสามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องในสิ่งที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมได้ ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย มองว่านักเรียนควรมุ่งเรียน ไม่ควรสนใจการเมือง หรือเรื่องอื่นๆ และการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ดูจะก้าวร้าว

ในประเด็นนี้ นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นไว้ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนมีการดำเนินการที่มีเป้าหมาย ถือเป็นการปะทะสังสรรค์ทางความคิดของกลุ่มที่ต่างวัย ตนคิดว่าเป็นภาพที่ดี ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ลงมารับฟังเสียงของเด็ก และเยาวชนครั้งแรก ยอมรับกติกา และเงื่อนไขที่เด็กเคยถูกกระทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการต่อแถว เป็นต้น

นายสมพงษ์มองว่า เรื่องนี้ควรเป็นการฝึกฝนประชาธิปไตย และเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้ช่องว่างระหว่างตัวรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และเด็กดีขึ้น ไม่อยู่ห่างกันอีกต่อไป แต่สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.รับฟัง และจดปัญหานั้น ปัญหาที่นักเรียนสะท้อนถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ความไม่เท่าเทียมในสถานศึกษา หรือกระบวนเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ ศธ.ไม่ต้องเข้าไปแก้ปัญหาเป็นจุดๆ แต่ควรปฏิรูปการศึกษากันทั้งระบบได้แล้ว

“หลักๆ คือเด็กต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ศธ.จะทำอย่างไรกับกฎระเบียบที่ออกมานั้น ลิดรอนสิทธิทางร่างกายของเด็กค่อนข้างมาก และแฝงเรื่องของการใช้อำนาจนิยมอยู่ ซึ่งผมมองว่ากฎเรื่องทรงผมควรจะยกเลิก แต่การจะยกเลิกอะไร ควรจะฟังความคิดเห็นของนักเรียนคนอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดการเหลื่อมล้ำทางความคิดเห็น โดยเฉพาะการแต่งกายของนักเรียน ที่ต้องพิจารณาถึงเด็กที่ยากจนด้วย ถ้าเลิกกฎนี้ไป จะส่งผลกับนักเรียนเหล่านี้อย่างไร” นายสมพงษ์กล่าว

อาจารย์จากรั้วจามจุรีกล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากสะท้อนให้เห็นคือ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องดำเนินการอย่างจริงใจกับนักเรียนด้วย เพราะถ้าไม่เทใจ และไม่จริงใจ อาจจะไม่ได้ใจเด็ก และการเปิดเวทีรับฟังจะเป็นแค่การรับฟัง แต่ไม่ได้ยิน ซึ่งเราต้องเรียนรู้ด้วยว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เด็กได้เรียนรู้ และเก็บเกี่ยวปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่เกี่ยวข้องกับตนเองจากสังคมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้สู่โลกอนาคต และเด็กสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากครูที่สอนจากหนังสือ และตำราเพียงเล่มเดียว ที่ล้าสมัย คับแคบ และตกยุค

ดังนั้น การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้นท่ามกลางความรู้ที่แตกต่างกัน ควรจะเป็นการสนทนาที่เท่าเทียมกัน มีอิสระ และเป็นกลาง ได้ครูที่ฟังเสียงนักเรียน มีความรู้ทันยุคทันสมัยด้วย ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องออกแบบให้ดี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการให้ความรู้ และครอบงำนักเรียนแทน

นายสมพงษ์กล่าวเห็นว่า เมื่อรับฟังเด็กแล้ว ศธ.จะมีแนวทาง หรือนโยบายอะไรเพื่อตอบโจทย์ และแก้ไขปัญหาของเด็กต่อไป จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีระยะเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจนด้วย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการเปิดเวทีซื้อเวลา เพื่อไม่ให้การแสดงออกของนักเรียนนั้น สูญเปล่า

“การชุมนุมของนักเรียนครั้งนี้ ที่บางส่วนมองว่าเด็กก้าวร้าว ขอให้ทำความเข้าใจเด็กด้วย เพราะเด็กถูกกระทำ ถูกอำนาจกดทับ พอมาเข้าร่วมเวที อาจจะแฝงเรื่องความรุนแรง ก้าวร้าว เพราะได้แสดงออกหลังจากถูกกดดันมานาน การที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ร่วมรับฟังความคิดเห็น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ดังนั้น นักเรียนควรลดความก้าวร้าว ควรแสดงออกทางเหตุผล และตรรกะให้มากขึ้น โดยมุ่งสู่สาระการเรียกร้องว่าต้องการให้ ศธ.แก้ไขเรื่องใดบ้าง การชุมนุมของนักเรียนเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องดี เป็นการเบ่งบานทางประชาธิปไตย และเป็นต้นกล้าทางประชาธิปไตยของประเทศ” นายสมพงษ์กล่าว

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ทุกคนในสังคม ควรหันมาเข้าหากัน พูดคุยกัน เพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง เปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อหาทางออกอย่างสันติวิธี

เพราะคนในสังคมมีความหลากหลาย มีที่มาต่างกัน และความคิดเห็นไม่เหมือนกัน ฉะนั้น จะห้ามไม่ให้เห็นต่างคงไม่ได้

จึงควรจะมองคนที่เห็นต่าง ไม่ใช่ในฐานะศัตรู แต่มองอย่างเข้าใจ และเคารพในความเห็นต่าง ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้

โดย ศธ.ควรสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนในการแสดงออก และรับฟังเสียงสะท้อนของเยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ว่าต้องการอนาคตของตนเองแบบไหน !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image