ย้ำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไม่ล้ม ‘สกศ.’ เดินหน้าต่อ

ย้ำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไม่ล้ม ‘สกศ.’ เดินหน้าต่อ

นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (กกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบหมายสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เร่งจัดการประชุมประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย 2 ฉบับเพิ่มเติม ประกอบด้วยร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต พ.ศ. …. ซึ่งเดิม สกศ. มีการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. จากหน่วยงานในสังกัด ศธ. รวม 13 หน่วยงาน กลุ่มผู้มีความเห็นต่าง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ครั้ง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2562 รวมทั้งทางเว็บไซต์ สกศ. www.onec.go.th โดยขณะนี้ สกศ. วางแผนเตรียมจัดการประชาพิจารณ์กฎหมายทั้ง 2 ฉบับอีกรอบ จำนวน 3 – 4 ครั้ง ช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2563 ซึ่งมีประเด็นสำคัญ อาทิ การส่งเสริมการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเพื่อส่งเสริมการมีงานทำยังขาดกลไกขับเคลื่อนรองรับ การจัดการศึกษาในภาวะวิกฤตเช่นในสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา การประกันและการประเมินคุณภาพของโรงเรียน สวัสดิการข้าราชการครู รวมทั้งการสร้างความเชื่อมโยงระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีกระแสข่าวความกังวลเกรงว่าวิชาชีพครูจะตกต่ำ หรือความวิตกต่อสถานะผู้บริหารสถานศึกษา อาจมีการเปลี่ยนชื่อผู้อำนวยการเป็นครูใหญ่นั้น ประเด็นดังกล่าวมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ โดย สกศ. มาได้ปิดกั้นการเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับเนื้อหาสาระในมาตราต่าง ๆ เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเป็น “ครูใหญ่” “ผู้ช่วยครูใหญ่” “ใบรับรองความเป็นครู” พบว่ามีหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องจำนวนไม่น้อยเห็นด้วยและสนับสนุนแนวคิดตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฯ ขณะที่ฝ่ายกฎหมาย สกศ. ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวเห็นด้วยกับการใช้ชื่อเดิมคือ “ผู้อำนวยการ” ในฐานะผู้ทำหน้าที่ในการบริหารโรงเรียนอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมุ่งเน้นคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนและการบริหารจัดการของสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพสำคัญกว่าชื่อเรียก

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า สำหรับการเปลี่ยน “ใบประกอบวิชาชีพ” เป็น “ใบรับรองความเป็นครู” มีความเห็นว่าขัดต่อหลักการของคุรุสภาที่กำหนดให้ครูต้องมีใบอนุญาติประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นไปตามหลักการของวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งต้องมีมาตรฐานวิชาชีพและการควบคุม กำกับ ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา และยังมีความสำคัญหากมีการเปลี่ยนจะต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ฯ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา  และปรับบทบาทคุรุสภา รวมถึงการแก้กฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุ แต่งตั้งครู ผู้บริหารสถานศึกษา เงินประจำตำแหน่งและวิทยฐานะของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ  พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา  และ พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

“ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะต้องรอการประชาพิจารณ์อีกรอบในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคมนี้ เพื่อรายงานสรุปความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก่อนนำเสนอคณะรัฐมตรีพิจารณาอีกครั้ง ซึ่ง สกศ. ไม่สามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้โดยตรง” นายสุภัทร กล่าว.

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image