ทปอ.จ่อเลิกใช้แต้ม ‘โอเน็ต’ ปี66 แย้มใช้คะแนน9วิชาสามัญแทน จุฬาฯต้านโละสอบ-แนะปรับปรุง

ทปอ.จ่อเลิกใช้แต้ม ‘โอเน็ต’ ปี66 แย้มใช้คะแนน9วิชาสามัญแทน จุฬาฯต้านโละสอบ-แนะปรับปรุง

นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานทีแคส เปิดเผยถึงแนวคิดในการปรับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังไม่ได้ประสานมายัง ทปอ.เพื่อหารือถึงการปรับการทดสอบโอเน็ตอย่างเป็นทางการ แต่ตนทราบข่าวมาบ้างแล้ว และหากนักเรียนม.6 ไม่ได้สอบโอเน็ตในปีนี้ จะกระทบระบบทีแคส ในรอบแอดมิสชั่นส์ 1 เพราะจะมีบางคณะ/สาขา กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่าจะต้องได้คะแนนสอบโอเน็ต รวมถึงโอเน็ตจะเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การรับของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ด้วย ส่วนรอบที่จะมีผลกระทบมาก คือ รอบแอดมิสชั่นส์ 2 เพราะในรอบนี้ จะนำคะแนนโอเน็ต 30% มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกด้วย แต่ขณะนี้ ทปอ.ยังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากศธ.ว่าจะมีการปรับการสอบโอเน็ตในปีนี้หรือไม่ แต่ถ้า ศธ.แจ้งอย่างเป็นทางการมาแล้ว ทปอ.จะนำเรื่องนี้มาหารือภายในอีกครั้งว่าจะปรับระบบทีแคสอย่างไร

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ทปอ.ได้สะท้อนข้อดีข้อเสียของการปรับการสอบโอเน็ตกับ ศธ.ไปแล้วว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งขณะนี้รอดูแนวโน้มของ ศธ.ว่าจะทำจริงหรือไม่ และถ้าศธ.ทำจริง ทปอ.จะแจ้งข้อดีข้อเสีย และผลกระทบอย่างเป็นทางการให้ ศธ.รับทราบอีกครั้ง แต่การเปลี่ยนเกณฑ์อะไรต่างๆ ถ้ามาแจ้งกระทันหันเช่นนี้ ตนมองว่าต้องแจ้งนักเรียนล่วงหน้าด้วย เพราะนักเรียนต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว อย่างระบบทีแคส หากจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์อะไร ทปอ.จะต้องแจ้งให้นักเรียนทราบล่วงหน้า 3 ปี เพื่อให้นักเรียนมีเวลาเตรียมตัว

“แต่ถ้าจะยกเลิกโอเน็ตปี 2563 ผมคิดว่าไม่น่าจะยกเลิก เพราะจะส่งกระทบกับนักเรียนอย่างมาก ทั้งนี้ทปอ. คิดไว้แล้วว่าในปี 2566 จะไม่นำคะแนนโอเน็ตมาใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเข้าอุดมศึกษา เพราะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เกริ่นกับทปอ. ว่าอาจจะมีแนวโน้มยกเลิกการสอบโอเน็ต และจะเปลี่ยนวิธีการสอบ โดยจะเป็นการสอบแบบสุ่มแทน ซึ่ง ทปอ.วางแผนไว้แล้วว่าจะมีหรือไม่มีการสอบโอเน็ตก็ตาม จะไม่ใช้โอเน็ตเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกในระบบทีแคสแล้ว และจะใช้คะแนน 9 วิชาสามัญ มาเป็นองค์ประกอบแทน แต่คะแนนโอเน็ตจะกลายเป็นเกณฑ์หนึ่งที่บางคณะ/สาขาวิชา สามารถนำมาใช้ได้” นายชูศักดิ์ กล่าว

นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบทีแคส กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2566 สพฐ.จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอบโอเน็ต จากที่ต้องให้นักเรียนทุกคนสอบ ก็จะกลายเป็นการสุ่มสอบ เหมือนกับการสอบของ PISA ซึ่งสุ่มสอบ ก็จะทำให้นักเรียนไม่ได้มีคะแนนโอเน็ตทุกคน ดังนั้นระบบทีแคส ในรอบแอดมิสชั่นส์ 2 ซึ่งใช้คะแนนโอเน็ต 30% เป็นองค์ประกอบ จึงใช้ไม่ได้และต้องยุติ เพราะเด็กไม่มีคะแนนโอเน็ตทุกคน สำหรับการยกเลิกการใช้คะแนนโอเน็ตในการคัดเลือกแอดมิสชั่นส์ 2 ปีการศึกษา 2566 ทปอ.จะต้องประกาศให้เด็กทราบล่วงหน้า 3 ปี โดยจะต้องประกาศให้เด็กทราบภายในเดือน ธันวาคม 2563 ซึ่งขณะนี้ ทปอ.ต้องรอความชัดเจนจาก สพฐ.ก่อน โดยจะมีการสอบถามในวันที่ 14 กันยายนนี้ ที่ ทปอ.จะประชุมร่วมกับ สพฐ

Advertisement

นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการศธ. เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องเห็นด้วยไหมกับการยกเลิกการสอบโอเน็ตนั้น มองว่า ประเด็นที่ควรถาม ไม่ใช่เรื่องยกเลิก หรือไม่ยกเลิก แต่ควรถามว่าจะทำอย่างไรให้ข้อสอบดีมีคุณภาพ และจะนำผลสอบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างไร ซึ่งศธ.กำลังจะปรับหลักสูตรจากที่เน้นเนื้อหา 8 กลุ่มสาระวิชา มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ดังนั้นการทดสอบจึงควรปรับมาเน้นวัดสมรรถนะผู้เรียนให้สอดคล้องกับหลักสูตร

“ผมมีข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลง 3 เรื่อง คือ 1. เปลี่ยนจากข้อสอบวัดตามตัวชี้วัดที่ยังยึดสาระความรู้ มาเป็นข้อสอบวัดสมรรถนะบางเรื่องที่วัดได้ด้วยข้อสอบปรนัย เช่น การอ่าน การคำนวณ การแก้ปัญหา การใช้เหตุผล ส่วนสมรรถนะอื่น ๆ ให้ไปวัดระดับชั้นเรียน 2.เปลี่ยนจากการวัดส่งท้ายช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, มัธยมศึกษาปีที่ 3 และม.6 เป็นการวัดตอนกลางเทอมต้นป.4 ม.1 และม.4 เพื่อให้ได้ผลเป็นข้อมูลพื้นฐานมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน และ3.เปลี่ยนจากการเอาคะแนนมาใช้ผูกโยงกับการประเมินทั้งประเมินโรงเรียนและผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อนำผลมาใช้ในการวางแผนพัฒนาให้โรงเรียนจัดการสอนและประเมินสมรรถนะผู้เรียนระหว่างเรียน 3 ปี เปลี่ยนมาใช้การประเมินผู้อำนวยการ ครู และโรงเรียนจากรายงานการวิเคราะห์ผู้เรียน กำหนดแผนรายปี ราย 3 ปี ในการพัฒนาผู้เรียน และการสรุปรายงานการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน” นายอรรถพล กล่าว และว่า ทั้งหมดนี้เปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานของการประเมินผล จากการประเมินสรุปรวมผลของการเรียนรู้ เป็นการประเมินเพื่อทำความเข้าใจผู้เรียนระหว่างเรียน และเป็นการประเมินผลที่นำไปสู่การพัฒนาผู้เรียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง เห็นด้วยไหมกับการยกเลิกการสอบโอเน็ต ผ่านทางเว็บไซต์ nataphol.com ข้อมูลล่าสุด วันที่ 9 กันยายน มีผู้ร่วมโหวตจำนวน 12,292 คน โดยในจำนวนดังกล่าว ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก 9% เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิก 80% และเห็นด้วยที่จะยกเลิกบางระดับชั้น 11%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image