ทปอ.จับตา ‘ณัฏฐพล’ ‘เลิก-ไม่เลิก’ สอบ ‘โอเน็ต’ ส่อป่วนมหา’ลัยคัดเลือก น.ศ.

ทปอ.จับตา ‘ณัฏฐพล’ ‘เลิก-ไม่เลิก’ สอบ ‘โอเน็ต’ ส่อป่วนมหา’ลัยคัดเลือก น.ศ.

ยกเลิกโอเน็ต – ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคการศึกษา ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จากเดิมเดือนพฤษภาคม เลื่อนไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม รวมทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องวางแผนรับมือจัดการเรียนการสอนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการสอนในห้องเรียน การสอนผ่านโทรทัศน์ และการสอนผ่านออนไลน์

หลังจากเปิดภาคเรียนได้ไม่นาน นักเรียนจากทุกภาคส่วนได้สะท้อนปัญหา ว่าการจัดการเรียนการการสอนผ่านรูปแบบต่างๆ ทำให้นักเรียนไม่ได้รับความรู้อย่างเพียงพอ และเท่าเทียมกันทั่วประเทศ เพราะแต่ละคนนั้น มีต้นทุนอุปกรณ์เพื่อใช้ในการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น หากจะนำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ มาใช้ในการสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การสอบ 9 วิชาสามัญ การสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ไปใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ก็อาจเกิดความเหลื่อมล้ำ

เพราะเมื่อการเรียนการสอนประสบปัญหานักเรียนได้รับความรู้ไม่เท่าเทียมกัน เมื่อเข้าสอบแล้ว อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีมากนัก เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเลื่อน หรือยกเลิกการสอบ โดยเฉพาะการสอบโอเน็ตของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

Advertisement

นอกจากนี้ จากการสำรวจของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ผ่านทางเว็บไซต์ nataphol.com ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง เห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกการสอบโอเน็ต โดยข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน มีผู้ร่วมโหวต 12,292 คน ในจำนวนดังกล่าว ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก 9% เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิก 80% และเห็นด้วยที่จะยกเลิกบางระดับชั้น 11%

จนกลายเป็นกระแสว่า “การสอบโอเน็ต” นั้น ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และถ้าจำเป็นสอบอยู่ จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอบให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างไร

ในประเด็นนี้ นายณัฏฐพลให้คำตอบว่า จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปีนี้การศึกษาไม่เท่าเทียมกันทั่วประเทศ เพราะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คงต้องพิจารณาว่าการสอบโอเน็ตยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากจะยกเลิก หรือปรับเปลี่ยนการสอบโอเน็ตจริง จะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบก่อน

Advertisement

“ผมยังไม่อยากเคาะว่าการสอบโอเน็ตจะยกเลิกหรือไม่ เบื้องต้นที่ผมได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าชั้น ม.6 มีข้อจำกัดเรื่องของการใช้ผลคะแนนโอเน็ตมาเทียบวัดความสามารถในการเข้ามหาวิทยาลัย ฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็นคำตอบในตัวว่าคงจะยาก หากจะยกเลิก ส่วนระดับชั้นอื่นๆ ขอให้ตกผลึกที่ชัดเจนก่อน ว่าความเหมาะสมในการสอบจะเป็นอย่างไรในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้” นายณัฏฐพล กล่าว

แม้นายณัฏฐพลระบุว่าถ้าจะเลิกสอบโอเน็ตชั้น ม.6 นั้น เป็นเรื่องยาก แต่ยังไม่ฟันธง 100% ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการสอบโอเน็ต ทั้งนี้ ต้องจับตาความเห็นทางฝากฝั่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ผู้ออกแบบ และจัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ซึ่งเป็นรูประบบการรับเข้ามหาวิทยาลัยที่นักเรียนส่วนใหญ่จะเข้ามาใช้บริการด้วย

นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบทีแคส กล่าวว่า ทปอ.ยังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจาก ศธ.ว่าจะปรับการสอบโอเน็ต โดยหลักการแล้ว ทปอ.ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการออกเกณฑ์การสอบคัดเลือก หากเปลี่ยนแปลง จะต้องแจ้งให้นักเรียนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี เพราะนักเรียนจะได้มีเวลาเตรียมตัวตั้งแต่เข้าเรียนชั้น ม.4 และหากปีนี้จะเปลี่ยนแปลงการสอบโอเน็ต หรือไม่สอบโอเน็ต จะส่งผลกระทบต่อระบบทีแคส รอบ 4 หรือแอดมิสชั่นส์ 2 แน่นอน เพราะเกณฑ์การคัดเลือกส่วนใหญ่ใช้คะแนนสอบโอเน็ต ซึ่ง ทปอ.ต้องรอความชัดเจนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก่อน โดยจะสอบถามในการประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดช่วงเวลาการส่งคะแนนผลการเรียนของนักเรียนชั้น ม.6 ในเร็วๆ นี้

“สพฐ.ได้เกริ่นกับ ทปอ.ว่าในปีการศึกษา 2566 สพฐ.จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอบโอเน็ต จากที่ต้องให้นักเรียนทุกคนสอบ กลายเป็นการสุ่มสอบ เหมือนกับการสอบของ PISA จะทำให้นักเรียนไม่มีคะแนนโอเน็ตทุกคน ดังนั้น ระบบทีแคส ในรอบแอดมิสชั่นส์ 2 ซึ่งใช้คะแนนโอเน็ต 30% เป็นองค์ประกอบ จึงใช้ไม่ได้ และต้องยุติ เพราะเด็กไม่มีคะแนนโอเน็ตทุกคน” นายพีระพงศ์ กล่าว

ขณะที่ นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานทีแคส กล่าวว่า ทปอ.ได้รับการเกริ่นจาก สพฐ.ว่าอาจมีแนวโน้มยกเลิกการสอบโอเน็ต หรืออาจเปลี่ยนวิธีการสอบ โดยจะเป็นการสอบแบบสุ่มแทน ซึ่ง ทปอ.วางแผนไว้แล้วว่าจะมีหรือไม่มีการสอบโอเน็ตก็ตาม จะไม่ใช้โอเน็ตเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกในระบบทีแคสแล้ว และจะใช้คะแนน 9 วิชาสามัญ มาเป็นองค์ประกอบแทน แต่คะแนนโอเน็ตจะกลายเป็นเกณฑ์หนึ่งที่บางคณะ/สาขาวิชา นำไปใช้ได้

หลังจาก ทปอ.ออกมาแสดงความคิดเห็น และรอความชัดเจนจาก ศธ.แล้ว นักวิชาการแวดวงการศึกษา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้เช่นกัน

เริ่มจาก นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การยกเลิกโอเน็ตนั้น ประเด็นที่ควรถาม ไม่ใช่เรื่องยกเลิก หรือไม่ยกเลิก แต่ควรถามว่าจะทำอย่างไรให้ข้อสอบดีมีคุณภาพ และจะนำผลสอบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างไร ซึ่ง ศธ.กำลังจะปรับหลักสูตรจากที่เน้นเนื้อหา 8 กลุ่มสาระวิชา มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ดังนั้น การทดสอบจึงควรปรับมาเน้นวัดสมรรถนะผู้เรียนให้สอดคล้องกับหลักสูตร

นอกจากนี้ นายอรรถพลยังได้เสนอ 3 ข้อเสนอ เพื่อเปลี่ยนแปลงการสอบโอเน็ต คือ 1.เปลี่ยนจากข้อสอบวัดตามตัวชี้วัดที่ยังยึดสาระความรู้ มาเป็นข้อสอบวัดสมรรถนะบางเรื่องที่วัดได้ด้วยข้อสอบปรนัย เช่น การอ่าน การคำนวณ การแก้ปัญหา การใช้เหตุผล ส่วนสมรรถนะอื่นๆ ให้ไปวัดระดับชั้นเรียน

2.เปลี่ยนจากการวัดส่งท้ายช่วงชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 เป็นการวัดตอนกลางเทอมต้น ชั้น ป.4, ม.1 และ ม.4 เพื่อให้ได้ผลเป็นข้อมูลพื้นฐานมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน

3.เปลี่ยนจากการเอาคะแนนมาใช้ผูกโยงกับการประเมิน ทั้งประเมินโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อนำผลมาใช้ในการวางแผนพัฒนาให้โรงเรียนจัดการสอน และประเมินสมรรถนะผู้เรียนระหว่างเรียน 3 ปี เปลี่ยนมาใช้การประเมินผู้อำนวยการ ครู และโรงเรียนจากรายงานการวิเคราะห์ผู้เรียน กำหนดแผนรายปี ราย 3 ปี ในการพัฒนาผู้เรียน และการสรุปรายงานการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน

งานนี้ “เสมา 1” ในฐานะผู้ดูแลภาพรวมการศึกษาทั้งหมด คงต้องกลับมาคิดถึงข้อดีข้อเสียของการปรับวิธีทดสอบโอเน็ต พร้อมกับเปิดรับฟังทุกความคิดเห็น จากทุกภาคส่วน ว่าต้องการปรับวิธีการทดสอบ หรือรูปแบบข้อสอบโอเน็ตนั้น ให้มีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร

ถือเป็นโจทย์ยาก และท้าทายอย่างยิ่ง เพราะหลายคนมองว่าท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักเรียนได้รับการศึกษาไม่เท่าเทียมกันทั่วทั้งประเทศ ดังนั้น การปรับวิธีการทดสอบ หรือรูปแบบข้อสอบ “โอเน็ต” หรือการนำการทดสอบอื่นๆ มาทดแทน จะสามารถตอบโจทย์ และวัดความรู้ความสามารถของนักเรียนได้จริงหรือไม่ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image