ศธ.เล็งปรับหลักสูตรให้ความรู้เพศศึกษาเข้มข้น แก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ศธ.เล็งปรับหลักสูตรให้ความรู้เพศศึกษาเข้มข้น แก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ศธ.จับมือ2 สธ.-พม.แก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เล็งปรับหลักสูตรให้ความรู้เพศศึกษาเข้มข้น

เมื่อวันที่ 14 กันยายน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษาได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม และแถลงนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยนายอนุทิน กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคมทำให้เสียโอกาสทางการศึกษา การมีอาชีพ การมีรายได้ การทอดทิ้งเด็กและความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น ดังนั้นจึงได้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพ.ศ.2559 ส่งผลให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงทำให้สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มลดลง
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า แต่ยังพบว่า บางส่วนไม่สามารถเข้าถึงบริการและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายโดยเฉพาะประเด็นการให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ตั้งครรภ์ในสถานศึกษาให้ได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมจึงได้ดำเนินการเตรียมการช่วยเหลือดูแลและคุ้มครองสิทธิวัยรุ่น โดยทางานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.กรณีวัยรุ่นมีความประสงค์จะตั้งครรภ์ต่อ จะมีระบบบริการให้คำปรึกษาและมีบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ที่ได้มาตรฐานสำหรับผู้รับบริการซึ่งเป็นวัยรุ่น ตั้งแต่การฝากครรภ์ ไปจนถึง การดูแลหลังคลอด 2.กรณีส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของแม่วัยรุ่น ไม่สามารถที่จะตั้งครรภ์ต่อได้จะมีบริการให้คำปรึกษาทางเลือกที่วัยรุ่นสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง 3.สธ. ได้เตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า2019หรือโควิด-19 และภาวะวิกฤติอื่นๆ โดยจัดบริการผ่านระบบโทรเวชกรรมประกอบด้วย การให้คำปรึกษาทางไกล การส่งเวชภัณฑ์ คุมกำเนิด หรือยายุติการตั้งครรภ์ ไปที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน และ4.ในปี 2564 จะ ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดตั้งศูนย์ประสานการดูแลช่วยเหลือวัยรุ่น

นายณัฏฐพล กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต้องใช้ความร่วมมือหลายภาคส่วนลงไปข้อมูลเพื่อวางแนวทางแก้ไขในอนาคตที่สำคัญคือบิ๊กดาต้าหรือฐานข้อมูลที่ทั้ง 3 กระทรวงต้องแชร์กันในทุกเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ หากเราสามารถให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ทันสมัยเป็นที่เข้าใจของเยาวชน ก็น่าจะทำให้ปัญหาดังกล่าวลดความรุนแรงและจำนวนลง ขณะเดียวกันหากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เรื่องนี้ได้ก็ต้องดูอย่างดีที่สุดเพราะสุดท้ายเยาวชนเหล่านี้ก็คืออนาคตของประเทศ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังต้องมีความเข้าใจเรื่องนี้อีกพอสมควรเป็นโอกาสที่ศธ.จะปรับหลักสูตรให้ตรงกับสภาพความเป็นจริงที่สำคัญหากสามารถทำหลักสูตรเรื่องเพศศึกษาที่มีความเข้มข้น จะทำให้คนเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และจะสามารถป้องกันเรื่องเหล่านี้ได้

นายสากล กล่าวว่า จะดูในเรื่องของสวัสดิการให้ความช่วยเหลือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมตั้งแต่ก่อนคลอน ไปจนถึงหลังคลอดให้สามารถมีอาชีพดูแลตัวเองและลูกที่เกิดมาได้ หรือหากไม่พร้อมที่จะเลี้ยงทางพม.ก็จะหาครอบครัวอุปถัมภ์ช่วยดูแลให้ได้อย่างไรก็ตามสำหรับสถิติเดิมตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา นักเรียน 1,000 คนจะประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม 50 คน แต่ปัจจุบันตัวเลขลดลงอยู่ที่ 1,000 คนจะพบเยาวชนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม 30 คน ซึ่งถือว่าลดลงเพราะมีการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้มากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image