‘ยูเนสโก’ เปิดเวทีสะท้อนปัญหา ‘โอกาส-ความท้าทาย’ ของการศึกษาไทย

‘ยูเนสโก’ เปิดเวทีสะท้อนปัญหา ‘โอกาส-ความท้าทาย’ ของการศึกษาไทย

ยูเนสโก – เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้เปิดเผย “รายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2563 ระดับชาติ” ซึ่งรายงานดังกล่าว ยูเนสโกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นกลไกติดตาม และรายงานผลของเป้าหมายการพัฒนาการศึกษา โดยในปี 2563 ยูเนสโกได้กำหนดหัวข้อรายงานเรื่อง “ความครอบคลุมและการศึกษา : ทั้งหมดหมายถึงทุกคน”

โดยมีสาระสำคัญที่เรียกร้องประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาอันเนื่องมาจากเรื่องเพศ การยายถิ่น การอพยพ ชาติพันธุ์ ภาษา ชาติพันธุ์ ภาษา ความยากจน ความพิการ หรือคุณลักษณะอื่นๆ ตลอดจนสร้างความเข้าใจ และความเคารพในแนวคิดเรื่อง “การศึกษาที่ครอบคลุม” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาปัจเจกบุคคลตามความถนัด และความจำเป็นบนแนวคิดที่หลากหลาย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากนี้ รายงานยังให้ข้อเสนอแนะเพื่อสร้างการศึกษาที่ครอบคลุมกับประเทศไทยด้วย คือสร้างความเข้าใจเรื่องการศึกษาแบบครอบคลุมผู้เรียนทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์ ภูมิหลัง หรือความสามารถ มุ่งเป้าหมายการสนับสนุนการเงินไปยังผู้ที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ใช้ความชำนาญ และทรัพยากรร่วมกัน มีการปรึกษาหารือกับชุมชน และผู้ปกครองอย่างมีความหมาย มีพื้นที่ให้ผู้มีบทบาทนอกภาครัฐในการร้องถาม และเติมส่วนที่ขาด เตรียมพร้อม สร้างพลัง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ทำงานด้านการศึกษา เก็บข้อมูลเกี่ยวกับความครอบคลุม และเพื่อความครอบคลุมด้วยความเอาใจใส่ และความเคารพ

Advertisement

ซึ่งยูเนสโกยังได้จัดเสวนาเรื่อง “โอกาส ความท้าทาย และความสำคัญของการจัดการศึกษาแบบครอบคลุมในประเทศไทย” เชิญผู้แทนแต่ละหน่วยงานพูดถึงการทำงานที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาในประเทศ

นายสุพจน์ จิตร์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาไทย (มท.) กล่าวว่า เชื่อว่าถ้าทุกหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนการศึกษา จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้ มท.มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน และในส่วนของการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเป้าหมายจัดการศึกษาที่เสมอภาค เท่าเทียม ครอบคลุม และเข้าถึงทุกคน ซึ่ง อปท.มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่นอกจากจะนำเด็กเข้ามาส่งเสริมพัฒนาการให้ครบทุกด้าน ยังอยากให้เด็กเข้ามาอยู่ในสถานที่ปลอดภัยเหมือนที่บ้าน พ่อแม่สามารถไว้ใจ และทำงานได้อย่างเต็มที่ ปัจจุบัน อปท.มีสถานศึกษาในสังกัดกว่า 20,000 แห่ง แบ่งเป็น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 18,000 แห่ง และโรงเรียนกว่า 1,720 แห่ง

“อปท.เป็นกลไกที่สำคัญอีกกลไกหนึ่ง ที่ขับเคลื่อนให้ประเทศไปสู่เป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อทุกคนได้ เนื่องจาก อปท.กระจายตัวอยู่ทุกแห่งทั่วประเทศ สามารถดูแลการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดได้อย่างดี” นายสุพจน์ กล่าว

Advertisement

น.ส.กัญญภัค สุขอยู่ ผู้จัดการศูนย์เดอะฮับสายเด็ก กล่าวว่า ศูนย์เดอะฮับสายเด็ก เป็นศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไม่จำกัดเพศตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี ที่เป็นเด็กเร่ร่อนเด็กกำพร้า เด็กที่ถูกทอดทิ้งในพื้นที่เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ ที่ตั้งของศูนย์อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่เด็กจะเดินทางมาจากทุกจังหวัดในประเทศได้สะดวก มีที่พัก อาหาร 3 มื้อ ห้องสุขา และยารักษาโรค พร้อมกิจกรรมการเรียนการสอนในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และยังมีกิจกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของตน พร้อมกับพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิต สร้างการยอมรับ และเป็นคนดีของสังคมต่อไป

“ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอ คือเด็กมีความคิด และคำถามที่ว่าจะให้คิดถึงอนาคต จะให้คิดเรื่องเรียนไปทำไม ขนาดพ่อแม่ยังไม่เอาหนูเลย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เดอะฮับต้องทำความเข้าใจ และมอบโอกาสการเรียนรู้ให้กับเด็ก ปัจจุบันมีนักเรียน 21 คน แบ่งเป็น ประถม 7 คน มัธยมต้น 10 คน และมัธยมปลาย 4 คน” น.ส.กัญญภัค กล่าว

น.ส.นันทนุช สุวรรนาวุธ สำนักบริหารการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ในอดีตผู้พิการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมในสถานศึกษา อาจเป็นเพราะบุคลากรในสถานศึกษา ทั้งครู และผู้บริหารไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และไม่เปิดใจยอมรับ นอกจากนี้ ยังพบการเข้าถึงสื่อการสอนที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเด็กพิการ และเด็กปกติ ปัจจุบันในโรงเรียนที่มีผู้พิการ จะมีสื่อการสอนสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ รวมทั้ง กฎหมายที่มีการพัฒนา มีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ที่ไทยเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาโดยการให้สัตยาบัน หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนพิการ เช่น พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 เป็นต้น

“แต่ปัจจุบันยังพบปัญหาความท้าทายต่างๆ ทั้งโรงเรียนปฏิเสธนักเรียนพิการ ขาดสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม ขาดบุคลากรด้านการศึกษาพิเศษ ปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น ผู้ปกครอง การเดินทาง เป็นต้น ทั้งนี้ อยากเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาคนพิการ คือการปรับปรุงรูปแบบประเมินครูและการเรียนรู้ของนักเรียน ปรับมาตรฐานและตัวชี้วัดสถานศึกษา บรูณาการความรู้คนพิการในหลักสูตรแกนกลาง นำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาช่วยจัดการเรียนหารสอนและผลิตสื่อในคนพิการ จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ และมีระบบการจัดการงบที่มีประสิทธิภาพ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” น.ส.นันทนุช กล่าว

นายไกรยศ ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากการสำรวจของ กสศ.พบสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนี้ มีนักเรียนยากจน/ ด้อยโอกาส 2.1 ล้านคน มีเด็กนอกระบบ (6-14 ปี) 4.3 แสนคน มีเด็กและเยาวชนพิการ 62.58% คุณภาพโรงเรียนในชนบทล้าหลังเมื่อเทียบกับโรงเรียนในเมือง 2 ปีการศึกษา และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 หากอ้างอิงจากรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนยากจนพิเศษ ในปีที่ผ่านมาพบว่าจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นถึง 300,000 คน ที่เสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา

“เด็กยากจนเหล่านี้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเฉลี่ยเพียง 5% ต่อรุ่น โดยช่องว่างการเข้าถึงการศึกษาระหว่างคนรายได้น้อยกับปานกลางห่างกันถึง 20 เท่า ซึ่ง กสศ.ตั้งขึ้นเพื่อทำงานประสานร่วมกับหลายกระทรวง ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการศึกษาต่อไปอีกหลายปี กสศ.พยายามตั้งรับ และแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในระยะยาว” นายไกรยศ กล่าว

น.ส.ดุริยา อมตวิวัตน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่หลักฐานทะเบียนราษฏร หรือไม่สัญชาติไทย ที่เดิมเคยจำกัดไว้ให้บางกลุ่ม บางระดับการศึกษา ถือเป็นการเปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในไทยเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัด ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา พร้อมทั้งจัดสรรงบอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่สถานศึกษาที่จัดศึกษา ให้แก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียบราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย ตั้งแต่ระดับก่อนประถมถึงมัธยมปลาย พร้อมทั้งให้ ศธ.จัดการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสมแก่เด็กและเยาวชนที่หนีภัยจากการสู้รบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์

“การดำเนินการ ศธ.ในปีการ 2562 จากการสำรวจพบว่า มีนักเรียน นักศึกษา ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียบราษฏร หรือไม่มีสัญชาติไทย ทั้งสิ้น 73,647 คน นอกจากนี้ ศธ.ได้ออกระเบียบว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษา พ.ศ.2548 จัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียบราษฏร หรือไม่มีสัญชาติไทย ฉบับปรับใหม่ พ.ศ.2560 พร้อมออกประกาศ ศธ.เรื่อง การรับนักเรียน นักศึกษา ที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฏร หรือไม่มีสัญชาติไทย พัฒนาระบบกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนเพื่อเข้ารับบริการศึกษาสำหรับผู้ไม่มีหลักฐานทางทะเบียน และจัดสรรงบอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษา” น.ส.ดุริยา กล่าว

หวังว่ารายงานของยูเนสโกฉบับนี้ รวมถึง ปัญหา และอุปสรรคที่ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันสะท้อน จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน นำไปเป็นแนวทางในการแก้ไข และพัฒนาการศึกษา เพื่อสร้างความเท่าเทียมและครอบคลุมแก่คนไทยทั้งประเทศ!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image