ปธ.บอร์ด กพฐ.แจงรับ น.ร.40 คน/ห้อง เล็งปี’65 ลดเหลือ 35 คนต่อห้อง

ปธ.บอร์ด กพฐ.แจงรับ น.ร.40 คน/ห้อง เล็งปี’65 ลดเหลือ 35 คนต่อห้อง

รับนักเรียน – ปธ.บอร์ด กพฐ.แจงรับ น.ร.40 คน/ห้อง เหตุเตรียมเปลี่ยนใช้หลักสูตรสมรรถนะ-ลดภาระครู-ช่วย ร.ร.รอบๆ ไม่ให้ตาย เล็งปี’65 ลดเหลือ 35 คนต่อห้อง เตรียมขอความร่วมมือ ร.ร.สังกัดอื่นเลิกสอบคัด ป.1 ใช้สัมภาษณ์-จับสลาก ด้าน ผอ.ร.ร.แข่งขันสูงค้าน ขอรับเกิน 40 คนต่อห้อง อ้างความต้องการพ่อแม่-เด็ก

เมื่อวันที่ 20 กันยายน ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีคณะกรรมการ กพฐ.มีมติเห็นชอบร่างนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2564 ให้การรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 ในปีการศึกษา 2564 จำกัดการรับนักเรียนจำนวนไม่เกิน 40 คนต่อห้อง โดยห้ามขยายห้องเรียน ส่วนการรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ห้ามใช้วิธีการสอบแข่งขันเข้าเรียนชั้น ป.1 ในโรงเรียนสังกัด สพฐ.โดยให้ใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์ผู้ปกครองแทน ว่า ที่มีมติให้โรงเรียนรับนักเรียนไม่เกิน 40 คนต่อห้อง เพราะที่ประชุม กพฐ.มองว่าถ้าปล่อยให้โรงเรียนดังรับนักเรียนเกิน 40 คนต่อห้อง โรงเรียนที่อยู่รอบๆ จะไม่มีเด็กเข้าเรียน และการสอนในอนาคตจะใช้หลักสูตรสมรรถนะ ฉะนั้น จำนวนนักเรียนที่ลดลง จะเป็นประโยชน์ต่อครูที่จัดการเรียนการสอนด้วย

ดร.เอกชัยกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมมองว่าในปีการศึกษา 2565 อาจลดจำนวนนักเรียนเหลือ 35 คนต่อห้อง เพราะขณะนี้โรงเรียนดังในกรุงเทพฯ จำนวนนักเรียนลดลงมาก จากหลักพันคนต่อปี เหลือเพียงหลักร้อยคน และหากโรงเรียนเหล่านี้ยังรับนักเรียน 45 คนต่อห้องอยู่ เมื่อนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ จะไม่มีนักเรียนเหลือไปให้โรงเรียนรอบข้างเลย

“เหตุผลที่จำกัดจำนวนนักเรียนเหลือ 40 คนต่อห้อง จะมีประโยชน์ต่อโรงเรียนเอกชนให้อยู่ได้ และโรงเรียนรัฐรอบๆ มีนักเรียน ขณะที่ครูจะสอนไม่เหนื่อยมาก เพราะไม่ต้องรับภาระการสอนนักเรียนถึง 45 คนต่อห้อง ครูมีความสุขกับการสอน ทั้งนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ถ้าเราเชื่อว่าโรงเรียนทุกแห่งมีคุณภาพ ทำไมไม่รับนักเรียนแค่ 40 คนต่อห้อง และเกลี่ยนักเรียนไปโรงเรียนรอบข้าง หลายคนอาจอ้างว่า ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนดัง จะบังคับอย่างไร ซึ่งผมบอกที่ประชุมว่าถ้าเราพูดประโยคนี้เมื่อไหร่ แสดงว่ารู้ว่าคุณภาพการเรียนการสอนไม่เท่ากัน แต่ถ้าบอกโรงเรียนคุณภาพขั้นต่ำเหมือนกัน เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน วิธีนี้คนจะเข้าใจ นอกจากนี้ การกำหนดจำนวนนักเรียน 40 คนต่อห้อง เคยทำมาแล้วในอดีต” ดร.เอกชัย กล่าว

Advertisement

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้หารือในประเด็นดังกล่าวว่าโรงเรียนที่แข่งขันสูงต้องเข้าใจ และเสียสละ ไม่ใช่จะรับนักเรียนจำนวนมากๆ เท่านั้น เพราะถ้ารับเต็มจำนวน และขอขยายจำนวนนักเรียนต่อห้องอีก โรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่อยู่รอบข้างอาจตายได้ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยในการกำหนดจำนวนนักเรียนเหลือ 40 คนต่อห้อง เพราะปัจจุบันโรงเรียนชื่อดังไม่สนใจว่าโรงเรียนสังกัด สพฐ.รอบข้างจะเป็นอย่างไร ขอแค่โรงเรียนมีเด็กก็พอแล้ว เชื่อว่าถ้าพูดด้วยเหตุผลโรงเรียนจะรับฟัง

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า ส่วนการห้ามสอบเข้าชั้น ป.1 นั้น ที่ผ่านมาโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ไม่มีสอบอยู่แล้ว หรือถ้ามีก็น้อย เบื้องต้นจะพบโรงเรียนเปิดสอบ โดยอ้างว่าห้องที่เปิดสอนนั้นเป็นห้องเรียนหลักสูตร English Program (อีพี) จึงต้องสอบเข้า แต่ในความจริง แม้จะเป็นห้องเรียนอีพี ก็ไม่ควรสอบ เพราะเด็กที่จะเข้าชั้น ป.1 โรงเรียนจะสอบอะไร และใน พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 กำหนดชัดเจนใน มาตรา 8 ว่า การจัดการเรียนรู้ของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ต้องเป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย แต่ต้องไม่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการสอบแข่งขันระหว่างเด็กปฐมวัย ฉะนั้น เมื่อมีการสอบ ก็จะเกิดการติว และข้อสอบของโรงเรียนเป็นการคัดเด็กออก ไม่ใช่คัดเด็กเข้า คือใครทำไม่ได้ก็ออกไป

“ดังนั้น ให้ใช้วิธีสัมภาษณ์ แต่หากความต้องการเข้าเรียนมากกว่าจำนวนรับ ให้ใช้วิธีจับสลากถือเป็นวิธีการเสมอภาค และเท่าเทียมมากที่สุด ทั้งนี้ ผู้ปกครองต้องมาเป็นผู้จับ ห้ามให้เด็กจับ เพราะอาจสร้างบาดแผลให้กับเด็กได้ ส่วนโรงเรียนสังกัดอื่นๆ อาจมีการสอบบ้าง ทั้งนี้ สพฐ.จะขอความร่วมมือโรงเรียนสังกัดอื่นๆ ไม่ให้มีสอบเข้าชั้น ป.1 ด้วย” ดร.เอกชัย กล่าว

Advertisement

ดร.เอกชัยกล่าวอีกว่า คาดว่า สพฐ.จะนำเสนอร่างรับนักเรียนปีการศึกษา 2564 ให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ในเร็วๆ นี้

ด้านนายสุพจน์ หล้าธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้โรงเรียนทั่วไปรับนักเรียนไม่เกิน 40 คนต่อห้อง แต่ในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง มีคุณภาพ และสามารถพัฒนานักเรียนได้ ควรเปิดโอกาสให้โรงเรียนเหล่านี้รับนักเรียนเกิน 40 คนต่อห้อง เพราะถือเป็นความต้องการของผู้ปกครอง และนักเรียนที่ต้องการเข้าเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ เพราะโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนยอดนิยมนั้น สามารถพัฒนานักเรียนได้ แต่ถ้าจำกัดส่วนนี้ อาจปิดโอกาสนักเรียนที่สามารถเข้าโรงเรียนยอดนิยมได้น้อยลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image