กมว.ผุดไอเดีย เช็กสุขภาพจิตครูทำร้ายเด็กก่อนต่อ ‘ตั๋ว’

กมว.ผุดไอเดีย เช็กสุขภาพจิตครู ทำร้ายเด็กก่อนต่อ ‘ตั๋ว’

กมว.ผุดไอเดีย เช็กสุขภาพจิตครู ทำร้ายเด็กก่อนต่อตั๋ว โดยเฉพาะเด็กอนุบาลและประถม หากพบเกิดเหตุขึ้นสั่งพักใบอนุญาตฯทันที 

เมื่อวันที่ 21 กันยายน นายเอกชัย  กี่สุขพันธ์  ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกมว. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับทราบและเห็นชอบในหลักการ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู  ซึ่งจะมาใช้แทนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือป.บัณฑิต  ตามที่คณะอนุกรรมการปรับปรุงประสิทธิภาพหลักสูตรป.บัณฑิต เสนอ   โดยหลังจากนี้สำนักมาตรฐานวิชาชีพ คุรุสภา จะไปจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอให้กมว. พิจารณา จากนั้นจะไปจัดทำร่างประกาศเพื่อเสนอคณะกรรมการคุรุสภาให้ความเห็นชอบต่อไป  สำหรับแนวทางเบื้องต้นของหลักสูตรดังกล่าว จะกำหนดให้เรียนวิชาครู 34 หน่อยกิต  ตามาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.2) แบ่งเป็น การเรียนวิชาบังคับหรือวิชาพื้นฐาน 22 หน่วยกิต ปฏิบัติการสอน 12 หน่วยกิต  คนที่จะมีสิทธิเรียนในหลักสูตรนี้ จะมีด้วยกัน 4 กลุ่ม กลุ่มที่จบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แล้ว แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และกำลังสอนอยู่   กลุ่มที่สองคนที่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว แต่ไม่ได้สอน กลุ่มที่สามคือ คนที่เรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ปี3 และปี4 และคนที่ไม่ได้เรียนสายครู และกลุ่มที่สี่ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียนเพื่อเก็บหน่วยกิต

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า  สำหรับมหาวิทยาลัยที่จะเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูได้ จะต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เท่านั้น ต่างจากที่ผ่านมา ที่ทุกมหาวิทยาลัยสามารถเปิดสอนหลักสูตรป.บัณฑิตได้ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการหารายได้จากการเปิดสอน  ทั้งนี้ ยอมรับว่า อาจจะมีการต่อต้าน อย่างไรก็ตามหลักสูตรใหม่นี้  ต้องการเน้นให้คนที่ไม่ได้เรียนครูเข้ามาเรียน  โดยจะต้องผ่านกระบวนการสร้างความเป็นครูอย่างเข้มข้นเหมือนได้เรียนในสายครู ระดับปริญญาตรี  4 ปี หรือ 5 ปี ยึดหลักว่า ให้เรียนก่อน จากนั้นจึงไปสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯให้ได้ ก่อนที่จะไปสอนจริง ต่างจากป.บัณฑิตที่ให้ไปสอนก่อน แล้วค่อยมาขอรับใบอนุญาตฯ

“นอกจากนี้ ที่ประชุม กมว.ยังพิจารณาเรื่องจรรยาบรรณ โดยมีมติเพิกถอนใบอนุญาตฯ 2 ราย กรณีครูทำร้ายเด็กเกินกว่าเหตุ โดยรายหนึ่งไม้บรรทัดเหล็กเลื่อยใบหูเด็ก อีกรายเป็นกรณีครูตบเด็ก ซึ่งทั้งสองกรณี เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กระดับประถมศึกษา โดยทราบว่า ทางโรงเรียนต้นสังกัดของทั้งสองคนได้ย้ายทั้งคู่ออกจากงานสอนให้ไปหน้าที่อื่นแล้ว แต่เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นครูได้อีกกมว. จึงมีมติเพิกถอนใบอนุญาตฯ  ทั้งนี้ ผมได้ย้ำในที่ประชุมว่า หากเกิดเหตุการณ์ครูทำร้ายเด็กอีก ต้องดำเนินการลงโทษด้วยความรวดเร็ว พักใบอนุญาตฯ และทันที โดยเฉพาะกรณีทำร้ายเด็กระดับอนุบาล และเด็กประถม เกินกว่าเหตุจนเด็กได้รับอันตราย อย่างเช่น  ตบหน้า หยิกท้อง หรือทำท่าจะใช้เท้าถีบไปที่ร่างกายเด็ก ทั้งหมดนี้กมว.จะตีความไว้ก่อน ว่าครูรายนั้นมีความผิดปกติทางจิต ก่อนมาขอต่อใบอนุญาตฯ ครูที่ถูกพักใบอนุญาตฯ เหล่านี้ จะต้องพบจิตแพทย์เพื่อตรวจสอบสุขภาพจิตก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าคนคนนั้นไม่มีความผิดปกติ สามารถเป็นครูได้จริง” นายเอกชัย กล่าว

Advertisement

นายเอกชัย กล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ตามการที่กมว.มีมติเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ต่อไปครูจะแตะต้องนักเรียนไม่ได้  อีกทั้งตามพ.ร.บ.การลงโทษนักเรียน พ.ศ.2550 ไม่มีข้อใดที่เขียนว่า ครูห้ามตีเด็ก แต่เขียนว่า การลงโทษเด็กต้องเป็นไปเพื่อการสั่งสอน ไม่ใช่ใช้อารมณ์และต้องไม่เป็นการลงโทษเกินกว่าเหตุอันเหมาะสม  ดังนั้นการพิจารณาของกมว. จะยึดตามกฎหมายนี้เป็นหลัก ซึ่งกรณีการใช้ไม้บรรทัดเลื่อนหูเด็กประถมและการตบเด็กจนได้รับบาดเจ็บ จึงถือว่าเป็นความรุนแรงเกินกว่าเหตุควรลงโทษเพิกถอนใบอนุญาตฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image