ทปอ.ให้อิสระ ‘ม.’ รับทีแคสรอบ 1 เปิดรับสมัครเอง-ยื่นพร้อมระบบ 5 ม.ค.64

ทปอ.ให้อิสระ ‘ม.’ รับทีแคสรอบ 1 เปิดรับสมัครเอง-ยื่นพร้อมระบบ 5 ม.ค.64

ทีแคส – เมื่อวันที่ 28 กันยายน นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยเริ่มวางแผนการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ประจำปีการศึกษา 2564 แล้ว โดยเริ่มส่งข้อมูลหลักสูตรที่จะเปิดรับสมัครให้ ทปอ.ซึ่งปีนี้การรับในรอบที่ 1 พิจารณาจากแฟ้มสะสมงาน ทปอ.เปิดให้มหาวิทยาลัยเปิดรับได้อย่างอิสระ จากเดิมที่เปิดรับพร้อมกันในช่วงเดือนธันวาคม ดังนั้น มหาวิทยาลัยตัดสินใจได้ว่าจะเปิดรับในช่วงนี้ หรือจะรับสมัครพร้อมการเปิดระบบของ ทปอ.ในวันที่ 5 มกราคม 2564 ซึ่งขณะนี้มีหลายแห่งอยู่ระหว่างเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนในรอบที่ 1 แล้ว ทั้งกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มรภ.) มหาวิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยในกลุ่ม ทปอ.

“การให้อิสระมหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษารอบแรก โดยไม่กำหนดช่วงเวลานั้น ทปอ.ไม่กังวล เพราะเห็นแล้วว่า แม้จะให้เปิดรับสมัครพร้อมกัน เด็กก็ยังเลือกสมัครหลายแห่งอยู่ดี” นายพีระพงศ์ กล่าว

นายพีระพงศ์กล่าวต่อว่า ส่วนการปรับการสอบทีแคสครั้งใหญ่ ที่จะเริ่มในปีการศึกษา 2566 นั้น ในเดือนตุลาคม ทปอ.เตรียมขอเข้าหารือกับ นายอัมพร พินะสา ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คนใหม่ เพื่อขอความชัดเจนเรื่องการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต เฉพาะในส่วนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งต้องใช้ผลสอบโอเน็ตเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก ว่าจะให้สอบทุกคน หรือเป็นการสุ่มสอบ เพราะหากสุ่มสอบเหมือนการสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติ หรือ PISA เท่ากับว่านักเรียนไม่มีคะแนนโอเน็ตครบทุกคน ดังนั้น ทปอ.จะขอยุติการใช้คะแนนโอเน็ต และผลการเรียนตลอดหลักสูตรชั้นมัธยมปลาย หรือ GPAX มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก เพราะหากไม่มีโอเน็ตแล้ว การใช้ GPAX ในการคัดเลือกอย่างเดียว อาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เพราะแต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานในการให้คะแนนต่างกัน

“ทั้งหมดนี้ ต้องรอความชัดเจนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หากไม่สอบโอเน็ตนักเรียนชั้น ม.6 ทุกคน ก็คงไม่หาข้อสอบอื่นมาแทน เพราะโอเน็ตเป็นองค์ประกอบในส่วนของเนื้อหาทางวิชาการ ซึ่งมีทั้งการสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT อยู่แล้ว แต่จะเพิ่ม TGAT ที่จะวัดซอฟต์สกิล หรือทักษะที่เป็นความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งยังขาด และที่ผ่านมาทำให้เกิดปัญหา เพราะบางคนเข้ามาเรียนได้ด้วยทักษะทางวิชาการ แต่เมื่อเรียนไปแล้ว พบว่าไม่มีทักษะในสาขาที่เรียน ทำให้เกิดปัญหาออกกลางคัน” นายพีระพงศ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image