ผู้ปกครองรับผิด บันดาลโทสะกระโดดถีบ “ครูจุ๋ม” สช.ชี้ครูอาจมีพฤติกรรมเลียนแบบ

ผู้ปกครองรับผิด บันดาลโทสะกระโดดถีบ “ครูจุ๋ม” สช.ชี้ครูอาจมีพฤติกรรมเลียนแบบ

รายการโหนกระแสวันที่ 6 ต.ค. “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 เกาะติดกรณีฉาวคลิปครูโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ทำร้ายนักเรียนอนุบาลออกมาเรื่อยๆ  โดยสัมภาษณ์เปิดใจ แม่ลี่ แม่น้องต้นข้าว-น้องต้นหอม , พ่อวิทย์ พ่อน้องเสือ และถูกครูจุ๋มแจ้งความ “ดร.อรรถพล ตรึกตรอง” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และ “รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี” กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม

แม่ลี่ วันนี้แม่บอกว่ามีคลิปเกิดอีกเหรอ?

แม่ลี่ : “ดูคลิปวันที่ 23 เจอน้องโดนกระทำอีก เหมือนน้องนั่งดูโทรทัศน์ช่วงเวลา 08.53น. เช่ออิงจับน้องต้นหอมนั่งตัก แล้วไถตัวเข้ามาใกล้น้องต้นข้าวและดึงผมจนน้องหัวเซ แล้วดึงย้ำอีกที ดึงสองที น้องก็ถอยหนีเหมือนกลัว เจ็บ เช่อแพรวยืนมองอยู่ ก็เอาเก้าอี้มาวาง และจับน้องต้นข้าวขึ้นนั่ง แล้วเช่ออิงเหมือนหันหน้าเข้าหาน้องแล้วยกมือเหมือนตีไปโดนหน้าน้อง แล้วก็กำมือตีไปที่ขา น้องก็วิ่งหนี”

Advertisement

ระหว่างเกิดกับน้องต้นข้าว น้องต้นหอมก็เห็นเหตุการณ์ตลอดว่าพี่ตัวเองโดนอะไร?

แม่ลี่ : “ใช่ค่ะ”

พ่อวิทย์ วันนั้นยอมรับว่าไปทำร้ายครูจุ๋มจริง?

Advertisement

พ่อวิทย์ : “ยอมรับครับ ต่อหน้าต่อตา เหมือนฟิวส์ขาด เหมือนลูกชายโดนกระทำรุนแรง เราเป็นพ่ออยากช่วยลูกแต่ช่วยไม่ได้ จังหวะนั้นเราขาดสติ เห็นเขาอยู่ใกล้ๆ เลยบันดาลโทสะ”

คลิปน้องต้นข้าว ต้นหอม น้องต้นข้าวคือโดนดึง ครูทำอะไร?

แม่ลี่ : “เขาคุยกันเอง หัวเราะ ทั้งที่เด็กโดนกระทำ ตีที่ขาน้องอย่างแรง น้องก็วิ่งหนีเลยไปนั่งอยู่มุมห้อง นี่คือคลิปใหม่ที่เห็นมา”

เมื่อวานเจอที่สตูฯ น้องตัวเล็กนิดเดียว เกาะพ่อร้องไห้ เด็กมากจริงๆ หมอดูแล้วรู้สึกยังไง?

นพ.สุริยเดว : “ไม่มีใครไม่เสียใจ ประเด็นที่สำคัญคืออันนี้สะเทือนใจแน่ ที่สำคัญอย่างยิ่งถ้าเป็นเนอร์สเซอรี่ การจัดห้องเรียนลักษณะนี้ไม่ได้กำลังเรียนรู้ผ่านการเล่นแน่นอน อันนี้คือการเรียนรู้โดยยัดเนื้อหาวิชาอะไรก็ว่ากันไป มันผิดหลักจิตวิทยาพัฒนาการอยู่แล้ว กระบวนการในการจัดห้องแบบนี้ มันก็ผิดหลัก”

การที่ตีขาเด็ก?

นพ.สุริยเดว : “อย่างที่เคยคุย มายเซ็ตทั้งระบบมันเสีย ครูที่อยู่ในโรงเรียนเสียมายเซ็ตทั้งหมด เขาไม่รู้จักคำว่วินัยเชิงบวก ไม่รู้ว่าวิธีการจัดการพฤติกรรมโดยใช้วิธีที่ไม่จำเป็น การลงโทษกับเด็กวัยนี้ ใครก็ตามที่ใช้ ก็ไม่ได้เรียกว่านี่คือผู้ใหญ่ที่รักเด็ก หัวใจอยู่ตรงนั้น ถ้าครูทำในลักษณะนี้ ถ้าไม่รู้วิธีการ ก็น่าจะแพลนศักยภาพของครูทำให้ครูรู้ทักษะว่าเวลาอยากทำให้เด็กนั่งอยู่กับที่ เรามีวิธีการใช้เสียงเพลง ร้องเพลง ให้เด็กสามารถเข้าสู่กระบวนการได้ มันมีวิธีการตั้งเยอะที่สามารถทำได้”

พ่อวิทย์ ล่าสุดช้ำใจเข้าไปอีก เห็นใหม่อีกแล้ว?

พ่อวิทย์ : “เจอน้องกำลังเจาะนมแล้วเจาะผิด นมกระฉอกหก ก็ใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ด ครูฟาดที่หน้าอกเต็มๆ”

ก่อนหน้านี้โดนอะไร?

พ่อวิทย์ : “โดนดึงหู ลากแขนไปอีกฝั่งนึง โดนตบหลัง ทุบหลัง โดนเยอะมาก น่าจะเป็นคนนึงที่โดนแทบทุกวัน ครบทุกอย่าง ขนาดลูกผมนั่งเฉยๆ ยังโดน”

ครูจุ๋มไปแจ้งความคุณอีก?

พ่อวิทย์ : “ถูกครับ ผมก็ยังงง”

คุณเป็นพ่อเห็นแบบนี้ ก็ทนไม่ไหว ก็แถมหน่อย คุณทำอะไรบ้าง?

พ่อวิทย์ : “ก็ไปกระโดนถีบเขา  แทบจะไม่โดนเพราะเขาหลบ โดนช่วงขา”

หลายคนบอกว่าพ่อทำไม่ถูก เพราะต้องให้โดน?

พ่อวิทย์ : “(หัวเราะ) ให้โดนหน้าใช่มั้ย แต่ไม่โดน เขาหลบ”

แม่น้องเสือไปตบเหมือนกัน ?

พ่อวิทย์ : “ใช่ แต่เขาหลบเหมือนกัน”

กังวลใจมั้ยมุมที่เขาไปแจ้งความ?

พ่อวิทย์ : “เราก็ยอมรับผิดว่าเราทำผิด เราเสียค่าปรับตามกฎหมายอาญา เรายอมรับผิดว่าเราบันดาลโทสะจริงๆ แต่เราไม่มีจิตใจไปทำร้ายเขาหรอก เพราะผมกับจุ๋มไม่ได้มีปัญหากันเลย เราชื่นชมเขาด้วยซ้ำที่เราให้เขาดูแลลูกเราอย่างดี แต่สุดท้ายพอเจอเหตุการณ์แบบนี้ ผมผิดหวังในใจมาก”

ลูกเป็นยังไง?

พ่อวิทย์ : “มีอาการหลอนๆ ใครเข้าใกล้ก็หันซ้ายหันขวา ขัดใจไม่ได้ กรี๊ดรุนแรง”

ภรรยาคุณบอกว่าลูกมีอาการทำร้ายพ่อ?

พ่อวิทย์ : “ใช่ครับ ตีต่อยพ่อ เมื่อก่อนไม่เป็น ไม่เคยทำ”

อย่างนี้มันมีผลมั้ย?

นพ. สุริยเดว : “เป็นพฤติกรรมเลียนแบบ เวลาเด็กมีความเครียดมีสองแบบที่แสดงออกได้ หนึ่งคือแรงมาแรงไป อีกอันคือถ้าเป็นพื้นฐานอารมณ์บางคนก็เก็บกด ไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร ซึ่งถ้าอ่อนไหว ขณะเดียวกัน เด็กบางคนจะรู้สึกว่าการใช้ความรุนแรงเป็นภาวะปกติ พวกนี้ไม่ได้เป็นพฤติกรรมอันพึงประสงค์อยู่แล้ว มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ของเขาในวิถีที่เกิดการเรียนรู้ขึ้นมา”

เห็นว่าจะเรียกร้องเงินค่าเยียวยา 5 ล้าน

พ่อวิทย์ : “อันนี้เป็นการตกลงกันของผู้ปกครองที่ไปยื่นที่อัยการสูงสุด เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ปกครองแต่ละท่าน เราก็ยื่นกันไป ผมก็เรียกเท่านั้น”

อยู่ที่ทางโรงเรียนพิจารณา?

พ่อวิทย์ : “ครับผม แต่ยังไงต้องมีการเยียวยา ดูจากในคลิปมันเกินไปจริงๆ สำหรับเด็กตัวเล็กๆ คนนึงที่ต้องมาเก็บกดอารมณ์ ไม่รู้วันนึงจะระเบิดเมื่อไหร่ ผมว่าน่าจะฝังอยู่ในความทรงจำอีกนาน เป็น 10 ปี”

เห็นว่าอยากให้มีการปิดแผนกอนุบาล?

พ่อวิทย์ : “อันนี้ผมมองว่าทำไม่ถูก เพราะเด็กหลายคนก็เดือดร้อน บางคนเด็กไม่ได้ถูกกระทำ ก็เดือดร้อนพ่อแม่เขา แต่อยากให้รีเซ็ตระบบสักนิด ทั้งการเรียนการสอนมันผิดอย่างที่อาจารย์พูด การตีทำร้ายเด็ก การทำโทษก็ผิดหมดเลย ต้องมีการรีเซ็ตระบบใหม่ อาจไม่ต้องปิด พักไว้สักแป๊บ รีเซ็ตระบบ แล้วเอามาใช้ใหม่ หยุดสักอาทิตย์สองอาทิตย์ จะดีกว่ามั้ย”

คุณไม่ให้น้องไปเรียนที่นี่แล้ว?

พ่อวิทย์ : “น้องเขาไม่ไป น้องเขากลัว เขาหลอน”

แม่ล่ะ?

แม่ลี่ : “หนูก็ไม่แล้วค่ะ ได้คุยกับทางหมอเด็ก เขาบอกว่าให้น้องไปเรียนเป็นคอร์ส เยียวยาจิตใจก่อน พาไปทำกิจกรรมให้พ่อแม่อยู่กับน้องตลอดเวลา ให้น้องอุ่นใจก่อน”

ครู 13 คนที่จะถูกดำเนินคดี รวมกันทั้งหมดทำเด็ก 58 ครั้ง ผู้ปกครองแจ้งความ 32 คนถ้าหารกับการกระทำความผิด แสดงว่าแต่ละคนที่ไปแจ้ง น่าจะทำร้ายลูกมากกว่า 1 ครั้ง ถึงเป็น 58 ครั้ง ทีนี้ครู 13 คน บางท่านสอนอยุ่อนุบาล 1 เป็นไปได้มั้ยเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ครูห้องเอเห็นครูห้องซีทำแล้วไม่มีความผิด ก็คิดว่าทำได้?

นพ.สุริยเดว : “ก็เป็นไปได้ เพราะถ้าครูคุยกันเอง เขาก็คงถ่ายทอดประสบการณ์วิธีการควบคุมดูแล อย่าลืมว่าเด็กเล็กพื้นฐานอารมณ์เขาไม่เหมือนกัน บางคนบ้าพลัง ให้เขานั่งนิ่งๆ เป็นไปไม่ได้ เรื่องจัดห้องถึงบอกว่าผิดหลักจิตวิทยา บางคนเขาต้องการพลังเยอะๆ เขาสมาธิสั้น ซึ่งสั้นทั้งโลกไม่ได้สั้นแค่เด็กไทย มันสั้นอยู่แล้วในเด็กวัยแค่นี้ ถ้าคุณครูมีความคาดหวังสูงบนแรงกดดันอะไรบางอย่างที่เขาต้องเร่งรัดเรียนก็จะออกมารูปแบบนี้ ก็คงถ่ายทอดกันว่าถ้าใช้วิธีนี้เอาเด็กอยู่ก็เลยเกิดเป็นพฤติกรรมเลียนแบบกันเอง แต่ระบบที่มีปัญหาที่ย้ำมาตลอดว่าระบบบริหารตรงนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะระบบรับครู ระบบในการพัฒนาครู คณะกรรมการศึกษา รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนต้องรู้สิ ต้องลงมาภายในดูว่านโยบายที่ให้ไว้ ตกลงเป็นอย่างนั้นมั้ย คุณมีซีซีทีวีไม่ได้เป็นหลักประกัน อันนี้จะเห็นว่ามันหลวมทั้งระบบ”

วิธีการแก้คืออะไร?

นพ.สุริยเดว : “มีสามคำ หนึ่งสำนึก สองจริงใจ สามคือจริงจัง สำนึกที่จะทำให้วันนี้หยุดกระแสพี่น้องมวลชนพี่น้องทั้งประเทศ แรงเหวี่ยงไปสู่ผู้ปกครองทั้งประเทศ เมื่อเป็นลักษณะแบบนี้ ผู้บริหารต้องแสดงความสำนึก เขาขอโทษแล้ว แต่เข้าใจว่าการเสนอบทลงโทษตัวเองสำคัญ กฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง แต่จริยธรรมและคุณธรรมปรากฎในตัวอยู่แล้วว่าสิ่งที่ทำมันเห็นว่าหลวมและละเลย ต้องจริงใจ แทนที่จะไปฟ้องผู้ปกครอง โรงเรียนเอาควรเอาจิตแพทย์ นักจิตแพทย์ กุมารแพทย์ เงินคุณมีอยู่แล้ว ตร.ด้วย ผู้ปกครองคนไหนต้องการฟ้องตัวเองก็ไม่เป็นไร เราบริการให้ตรงนั้น ความจริงใจตรงนี้จะซื้อใจผู้ปกครอง ถ้าคุณแสดงความจริงใจ สำนึกต่อเนื่อง ไม่มีใครหรอก ผิดพลาดไปแล้วจะไม่ให้อภัย”

เรื่องนี้ท่านมองยังไง?

ดร.อรรถพล : “ประเด็นแรกที่คุณหนุ่มพูดว่ามีครู 13 คน ข้อเท็จจริงคือไม่ใช่ครูทั้งหมด เราเรียกกันไปเอง ประเด็นแรกกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าผมหรือใครรัฐมนตรีหรือใครต่อใคร ก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ลำพังเสียใจแล้วไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ใช่ ต้องแก้ปัญหาช็อตต่อช็อต ผมลงพื้นที่ตลอด และสั่งการ จริงๆ โรงเรียนเอกชนไม่ได้โบ้ยความรับผิดชอบ แต่โรงเรียนเอกชนในประเทศนี้ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ให้เลขาธิการกระทรวงผมดูแล ถ้าโรงเรียนอยู่เขตจังหวัดไหนก็มอบศึกษาธิการจังหวัด ผู้ว่าฯ จังหวัด โอกาสโดยระบบราชการ โอกาสลงลึกเหมือนโรงเรียนของรัฐค่อนข้างยาก  การพัฒนาครูในส่วนนี้เราให้เครดิตโรงเรียน วันนี้มองว่าสิ่งที่เกิดจะทำยังไง หนึ่งคนที่ทำผิดต้องได้รับโทษ และเราพร้อมให้ความช่วยหลือเต็มที่ คนผิดต้องได้รับโทษ และเราเชื่อว่าครูดียังมีอีกเยอะ แต่ขณะเดียวกันก็มีแกะดำ เราก็ต้องจัดการให้เห็นๆ ขณะนี้ส่วนสช.เราดูแลหนึ่งความปลอดภัยอันดับแรก ตอนนี้โรงเรียนเขาก็กำลังทำอยู่ ถ้าห้องน้ำไม่ปลอดภัยก็สั่งให้จัดการ ผมลงไปดูด้วยตัวเอง สองปัญหาเกิดจากคน”

จะเข้าไปล้วงลูกกับคนที่ไม่ใช่ครูยังไง?

ดร.อรรถพล : “วันนี้ต้องยื่นคำขาด ความบกพร่องคือผอ.หละหลวม ผอ.มีแต่ไม่ปรากฎตัว และเซ็นเอกสารอย่างเดียว ตอนนี้ผู้รับอนุญาตเขาเลยถอดถอดผอ.คนเก่าและแต่งตั้งคนใหม่ และเมื่อวานผมเข้าไปสั่งการเพิ่มว่าภายใน 15 วันคุณต้องแต่งตั้งรองผอ.ให้ครบ ที่ผ่านมารองผอ.ก็ไม่มี มีแต่ผอ.ซึ่งไม่รู้เป็นใคร ปกตินักเรียนแค่ร้อยกว่าคน คนเดียวยังทำไม่ทันเลย แล้วนี่มีนักเรียน 3 พันกว่า มีผอ.คนเดียวจะทันได้ยังไง”

นพ.สุริยเดว : “พอไม่มีผอ. อันนี้แหละที่ขอเรียกร้องว่าสำนึกผู้บริหารคืออะไร และเขาจะลงโทษตัวเองอย่างไร วันนี้คุณเองต้องประมาณตนเองด้วยว่า วันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องท้าทายใคร แต่คุณจะแสดงความรับผิดชอบตรงนี้ยังไง”

ทนายเดชาเขาเข้ามารับเป็นที่ปรึกษาโรงเรียนสารสาสน์ฯ พาครูจุ๋มไปแจ้งความผู้ปกครอง อีกประเด็นแกบอกว่าโรงเรียนอื่นๆ ก็ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ?

ดร.อรรถพล : “เรียนตรงๆ ว่าเรื่องใบประกอบวิชาชีพครู เดิมเราไม่มี แต่วันที่มีพ.ร.บ.การศึกษา เราเห็นว่าครูควรเป็นวิชาชีพควบคุม และให้หน่วยงานคุรุสภาดำเนินการ เพื่อให้ครูที่มีมาตรฐานวิชาชีพ มีจรรยาบรรณ มีความรู้ มีประสบการณ์ เราก็กำหนดกันค่อนข้างเยอะ แต่สุดท้ายผมเข้าใจนะว่าปี 2542 ไม่อาจเอาคนมานั่งวัดเป็นรายบุคคล ดังนั้นใครเป็นครูอยู่ก่อนที่พ.ร.บ. สภาครูมีผลบังคับก่อนปี 46 เขาจะให้ทุกคนโดยอัตโนมัติ 5 ปี และมีการต่อ”

พวกที่เป็นครูพี่เลี้ยง?

ดร.อรรถพล : “พวกนี้ไม่มี เพราะโดยวิชาชีพไม่ให้เขาสอน พี่เลี้ยงมีหน้าที่คอยใส่เสื้อ ใส่กางเกง อาบน้ำ จูงเด็ก”

พี่เลี้ยงมีสิทธิ์ถอดเสื้อผ้าเด็กผู้หญิงต่อหน้าครูผู้ชายมั้ย?

ดร.อรรถพล : “อันนี้ก็ไม่ได้ แต่ไม่วิจาร์ดีกว่า เข้าใจว่าไปยื่นฟ้องให้ศาลว่ากัน หนึ่งภาพมันเบลอ สองไม่ขออนุญาตให้ความคิดเห็นในส่วนนี้ เพราะถ้าข้อมูลนี้สุดท้ายไหนๆ ก็ฟ้องกันแล้ว ศาลว่าผิดหรือไม่ผิดก็ว่ากันไปตามกระบวนการ”

ผู้ช่วยครูหรือครูพี่เลี้ยง ท่านบอกคนพวกนี้ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ต้องผ่านการคัดกรองในมุมไหน กรณีครูจุ๋มทำแบบนี้แล้วบอกว่าชีวิตลำบาก เขามีความกดดัน กดดันแล้วมาดูแลเด็กได้เหรอ?

ดร.อรรถพล : “ขณะนี้้ต้องยอมรับความจริงว่าทั้งประเทศเราไม่ได้ทำส่วนนี้ เราทำเรื่องวิชาชีพระยะสั้นอยู่บ้าง ถึงเวลาเอาเหตุการณ์นี้มาวางให้เป็นบรรทัดฐาน”

ต้องดูเรื่องจิตใจหรือสุขภาวะปากก่อน?

ดร.อรรถพล : “สิ่งที่สังคมคาดหวังเป็นสิ่งที่ควรทำทั้งนั้น บังเอิญว่ากฎหมายไปให้อำนาจกับผู้รับอนุญาตในการสรรหาสิ่งเหล่านี้ เราราชการไม่มีสิทธิ์ไปก้าวล่วง เราเป็นนโยบาย ตอนนี้เรื่องกฎหมายให้คณะทำงานยกร่างอยู่ เพราะเหตุการณ์สารสาสน์ต้องมากางดู”

นพ.สุริยเดว : “ถ้าผู้บริหารโรงเรียนใช้ไม่ได้ ผอ.ใช้ไม่ได้เหมือนลอยลม ถ้าใช้ไม่ได้ก็เอาออก ไม่ต้องรอให้เหตุเกิด”

สื่อต่างประเทศเอาเรื่องราวสารสาสน์ไปออกกัน แล้วก็พูดว่าถ้าเรื่องแบบนี้เกิดในประเทศที่เจริญแล้ว โรงเรียนนี้มีสิทธิ์ปิดไปเลย มองยังไง?

ดร.อรรถพล : “ถามว่าเราคิดมั้ยเราก็คิดนะ แต่การลงพื้นที่เขาก็ปรับปรุงแก้ไข บรรยากาศที่ไปโรงเรียนตั้งแต่วันเสาร์ เราเห็นภาพบรรยากาศผู้ปกครองที่นักเรียนไม่โดนกระทบ เขาก็มานั่งทำกิจกรรมกับลูกปกติ การเรียนการสอนก็เป็นไปตามปกติ เราก็ถามผู้ปกครองว่าถ้าต้องปิดบางชั้นผู้ปกครองคิดยังไง เขาบอกว่าตอนโควิดเขาก็เดือดร้อนทีนึงแล้ว พ่อแม่เขาต้องทำมาหากิน ครู โรงเรียนต้องช่วยดูแลในช่วงนั้นได้ การหยุดเรียนช่วงโควิดก็มีเสียงบ่นกับผู้ปกครองมากว่าเขาไม่สามารถไปทำมาหากินได้ เด็กระดับอนุบาลโรงเรียนนี้ มี 800 กว่าคน เราก็เห็นใจเด็กที่ได้รับผลกระทบ แต่ถ้าหากปิดแล้วเด็กอื่นทำยังไง”

กรณีที่มีการตีเด็ก จะหมดสารบบประเทศ?

ดร.อรรถพล : “เราก็อยากให้หมด เราไม่อยากเห็นภาพเหล่านี้เลย คนหมู่เยอะว่าต่อไปนี้ครูทุกคนต้องผ่านการคัดกรองสุขภาพจิตก็ทำได้ แต่ไม่ได้รับประกันว่าการผ่านการคัดกรองแล้ว เหตุการณ์ผ่านไป บริบทเปลี่ยนไปจะไม่มีเหตุการณ์นี้อีก เราก็ได้แค่สร้างมาตรการมากขึ้น ตรวจตราให้มากขึ้น”

ถ้าเป็นกฎหมายเมื่อไหร่ก็บันเทิง ?

ดร.อรรถพล : “ผมได้หารือผู้ใหญ่ เช่นรมต. ท่านก็อยากให้เป็นกฎกติกาที่ชัดเจน แต่บังเอิญวันนี้เรามีพ.ร.บ. ถ้าพ.ร.บ.ไม่อนุญาตให้เรากำหนดได้ เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้”

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image