‘เชลล์’ แข่งจำลองเมืองแห่งอนาคต ดึงนิวเจนฯ ‘ลับสมอง-ประลองจินตนาการ’

‘เชลล์’ แข่งจำลองเมืองแห่งอนาคต ดึงนิวเจนฯ ‘ลับสมอง-ประลองจินตนาการ’

เชลล์ – แม้ว่าอนาคตคือความไม่แน่นอน แต่ความท้าทายต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น สามารถนำไปสู่สถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าได้หลากหลายรูปแบบ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน และการพักผ่อนหย่อนใจได้มากมาย

“เชลล์” เป็นผู้บุกเบิก และคิดค้นการวางแผน และออกแบบจำลองสถานการณ์ โดยนำทักษะเหล่านี้มาใช้เพื่อส่งเสริม และผลักดันให้เยาวชนได้ร่วมลับคมความคิด และจินตนาการ ในการจำลองสถานการณ์อนาคต ตอบสนองต่อความท้าทายด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มีปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหลายประการ อาทิ พฤติกรรมมนุษย์ทั้งที่ส่งผลกระทบ และรักษาสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง และเป็นสากล ตลอดจนความร่วมมือในระดับภูมิภาค และแนวคิดทางสังคม-การเมือง เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่เป็นไปได้ในอนาคต บนพื้นฐานการให้ความสำคัญกับพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน ตลอดจนความท้าทายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ผ่านการแข่งขัน “Imagine the Future Scenarios Competition 2020”

ในปีนี้ มีนิสิตนักศึกษา 432 คน จาก 83 ทีม เข้าร่วมการแข่งขัน ที่ได้ดำเนินมาจนถึงรอบสุดท้ายในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง ต่างนำเสนอความรู้ความสามารถ ผนวกกับจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อร่วมผลักดันบทบาทพลังงานที่ยั่งยืนกับชีวิตวิถีใหม่ ผ่านสถานการณ์จำลองในอีก 30 ปีข้างหน้า ภายใต้หัวข้อ “More and Cleaner Energy in an Asia Pacific or Middle Eastern city in 2050 – How will residents live, work, and play?”

โดยทีมที่เข้าแข่งขันนำเสนอสถานการณ์จำลองเมืองแห่งอนาคตต่อคณะกรรมการ และทีมผู้ชนะการแข่งขันประจำปีนี้ได้แก่ ทีมจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้นำเสนอสถานการณ์จำลอง Koshi vs Banbo ส่วนทีมจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้รองชนะเลิศอันดับ 1

Advertisement

นายปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ สำหรับทีมเยาวชนไทย มีความภูมิใจ และหวังว่าน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะนำองค์ความรู้ และประสบการณ์ ตลอดจนมิตรภาพในระดับภูมิภาคนี้ ไปต่อยอดทางความคิด และส่งต่อพลังงานที่สร้างสรรค์ของพวกเขา เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และดียิ่งขึ้น

โดยในปี ค.ศ.2050 ในมุมมองเยาวชนรุ่นใหม่ เริ่มจากสถานการณ์จำลอง Honeybee vs Lazy Sloth โดย มธ.ซึ่งทีมประเทศไทยจำลองสถานการณ์โดยใช้สิ่งแวดล้อมเป็นตัวแปรหลัก อย่างการตั้งคำถามว่าภัยธรรมชาติจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสังคม พฤติกรรมมนุษย์ และเทคโนโลยีอย่างไร ในสถานการณ์ “Honeybee” ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ทำให้ผู้คนต้องรวมตัวกัน เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เพื่อปกป้องสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม ส่งผลให้หลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ธุรกิจประกันภัยเติบโตสอดคล้องกับสถานการณ์ ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่น อาทิ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องออกแบบใหม่

Advertisement

ในสถานการณ์จำลอง “Lazy Sloth” ภัยพิบัติเป็นสิ่งที่แทบจะไม่เกิดขึ้น ผู้คนมักมีแนวคิดปัจเจกนิยม ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ขณะที่มุ่งหน้าเพื่อก้าวไปสู่การผลิตสินค้า และบริการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ส่วนสถานการณ์จำลอง Koshi vs Banbo โดย มหาวิทยาลัย Nanyang Technological สิงคโปร์ ได้นำเสนอสถานการณ์จำลองรอบการแข่งขันระดับประเทศ ตัวแปรหลักที่ทีมสิงคโปร์นำมาจำลองสถานการณ์คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยได้เลือกจำลองสถานการณ์ 2 สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพราะโตเกียวเป็นเมืองที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ อาทิ สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) การใช้พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และความเหลื่อมล้ำทางรายได้

สถานการณ์แรก “Koshi” ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึง พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล เปรียบเสมือนภาพของโลกที่เชื่อมต่อรวมกันในยุคโลกาภิวัตน์ และเต็มไปด้วยความคิดแบบเสรีนิยมในเรื่องการใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้มีการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย อาทิ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ เมืองลอยได้ การรับประทานพืชเป็นหลัก การดัดแปลงทางพันธุกรรม และการควบคุมสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยในโลกแบบ “Koshi”

สถานการณ์ที่สอง “Banbo” หมายถึง ความมั่นคง และปลอดภัย จะตรงข้ามกับสถานการณ์จำลองแรกแบบ “Koshi” ด้วยแนวคิดชาตินิยม และอนุรักษ์นิยม ทำให้มีการคุ้มครองผู้คนจากอิทธิพลภายนอก ดังนั้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจึงแตกต่างจากสถานการณ์จำลองแบบแรก อาทิ การใช้เทคโนโลยีจำลองสถานการณ์เพื่อคาดการณ์อนาคต อย่างเทคโนโลยีสื่อเสมือนจริง (Augmented Reality – AR) และเทคโนโลยีโลกเสมือน (Virtual Reality – VR) ในการจำลองสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการในการใช้พลังงาน และภูมิอากาศโลก เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีการใช้เทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัย และมีประโยชน์สูงสุดก่อนนำมาใช้จริง

ปิดท้ายที่สถานการณ์จำลอง A Diamond in the Rough vs For Mother Africa! โดย มหาวิทยาลัย University of Science and Technology at Zewail City ประเทศอียิปต์

ทีมจากอียิปต์นำความร่วมมือในภูมิภาคแอฟริกา และอุดมกาณ์ทางสังคม และการเมืองมาเป็นตัวแปรสำคัญ เพื่อนำเสนอสถานการณ์จำลอง 2 สถานการณ์ โดยสถานการณ์จำลองแรก “A Diamond in the Rough” เมืองอัสวาน ประเทศอียิปต์ เป็นการดำเนินความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างจำกัด มีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ปรับตัวเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และศึกษาวิธีการทางการเกษตรที่ยั่งยืน รวมถึง การเกษตรที่ยังเป็นข้อโต้แย้ง อย่างการเพาะปลูกแบบไร้ดิน ทำฟาร์มแมลง และการดัดแปรพันธุกรรม

ในทางกลับกัน เมืองอัสวานในสถานการณ์จำลองแบบ “For Mother Africa!” จะเป็นเมืองที่มีความร่วมมือระดับภูมิภาคสูง และมีอุดมการณ์สังคม และการเมืองที่เน้นความก้าวหน้า และส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในสถานการณ์นี้ เมืองอัสวานกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นประตูสู่ภาคพื้นทวีป และจุดศูนย์กลางที่เชื่อมโยงภูมิภาค

ตัวแทน ทีม Good Night Consulting จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.เปิดเผยความรู้สึกหลังการแข่งขันรอบสุดท้ายว่า พวกเราขอแสดงความยินดีกับทีมสิงคโปร์ที่ชนะการแข่งขันในครั้งนี้ แม้พวกเราจะไม่ได้อันดับหนึ่งในรอบภูมิภาค แต่รู้สึกภูมิใจ และดีใจที่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน Imagine the Future ที่ได้เข้ามาช่วยยกระดับ และขยายมุมมองโลกทัศน์ของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ความสำคัญของพลังงาน การพัฒนากระบวนการคิด และการจำลองสถานการณ์ที่ถูกต้อง และครอบคลุม นอกจากนี้ การเข้าแข่งขัน Imagine the Future ยังเป็นประสบการณ์ที่มีค่า และหาที่อื่นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นทีมเวิร์ค การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์จากเชลล์ ซึ่งล้วนสำคัญทั้งต่อการใช้ชีวิต และการทำงานของเราในอนาคต

ด้าน ดร.วาเลอรี โชว ที่ปรึกษาและประธานกรรมการตัดสินการแข่งขัน Imagine The Future ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2559 เชลล์ได้สนับสนุน และส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาเข้าร่วมการออกแบบ และจำลองสถานการณ์เมืองแห่งอนาคตในทวีปเอเชียและตะวันออกกลาง ปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ของ Shell Scenarios ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างแบบจำลองสถานการณ์อนาคตของเชลล์ ทั้งนี้ นับเป็นเวลากว่าหลายทศวรรษแล้วที่เชลล์เล็งเห็นถึงความสำคัญของเครื่องมือแบบจำลองสถานการณ์อนาคต เพื่อการวางนโยบาย การออกแบบเมืองและผังเมือง เครื่องมือแบบจำลองนี้ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน โดยจัดให้คำนึงถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบในอนาคต และแน่นอนว่าสถานการณ์รูปแบบต่างๆ ในอนาคตนั้น ถูกประมวลผล และออกแบบมาให้ท้าทายกระบวนการทางความคิดของเรา ตลอดจนขยายกรอบความเป็นไปได้ต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นในอนาคต

“อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ หลักการออกแบบจำลองสถานการณ์นี้ กำหนดให้เราต้องเริ่มลงมือทำสิ่งที่คิดว่าควรทำในปัจจุบัน โดยคาดหวังว่าในอนาคตจะเป็นไปตามที่ออกแบบไว้” ดร.โชว กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image