ม.ทักษิณ รวมพลัง กศน.สทิงพระ สร้างความมั่นคงทางอาหาร 11 ตำบล

ม.ทักษิณ รวมพลัง กศน.สทิงพระ สร้างความมั่นคงทางอาหาร 11 ตำบล

ม.ทักษิณ – “กศน.เปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย เพื่อสร้างความเจริญงอกงามให้กับบุคคล และสังคม นอกจากมีผู้เรียนในหลักสูตรการศึกษานอกระบบแล้ว ยังมีผู้รับบริการหลักสูตรระยะสั้นเพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต … การอบรมในวันนี้ จึงได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก เพราะเป็นเรื่องที่นำไปใช้ได้ เกิดประโยชน์จริง พื้นที่น้อยก็ทำได้ ไม่ต้องใช้แรงงานมาก หลายคนที่เคยเข้าอบรมแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ได้นำไปใช้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี” ผอ.สรัญญา นิยมไทย หญิงแกร่งแห่ง กศน.อำเภอสทิงพระ กล่าว

เธอเองเป็นผลผลิตจาก มหาวิทยาลัยทักษิณ นอกจากจะได้รับการปลูกฝังแนวคิดการบริหารองค์กรแล้ว ยังได้รับความเมตตาจากสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นพี่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มพัฒนาหลักสูตร ถ่ายทอดความรู้ นำศึกษาดูงานในชุมชน และร่วมติดตามผล เมื่อพบว่ามีหลายคนได้นำไปใช้ได้ผล ก็ยิ่งทำให้มีกำลังใจ และดีใจที่ได้ร่วมงานสถาบันที่ศึกษา

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอําเภอสทิงพระ จ.สงขลา หรือ กศน.สทิงพระ ได้จัดอบรมเพื่อปรับกระบวนทัศน์การใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประชาชนใน 11 ตำบลของ อ.สทิงพระ จ.สงขลา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ บทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 แสดงให้เห็นว่าหากเราสามารถพึ่งพาตนเองได้จากการมีอาหารเพียงพอในครัวเรือน ส่วนที่เหลือสร้างรายได้

Advertisement

ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเดือนร้อนมากนัก ดังนั้น ในการจัดอบรมครั้งล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ จึงได้เห็นภาพคนหลายวัย หลายอาชีพ เข้ามาเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติการผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตร ICOFIS ซึ่งใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่นจากธรรมชาติที่สมบูรณ์บนผืนป่าเขาบรรทัดที่สถาบันปฏิบัติการชุมชนฯ ได้คัดเลือกมา จึงใช้ชื่อย่อของสถาบัน (ICOFIS) เป็นชื่อสูตรปุ๋ย

โดยหลายปีที่ผ่านมา ได้เผยแพร่การผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตรนี้ไปยังกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่ม ทั้งใน จ.พัทลุง และ จ.สงขลา ติดตามผลการใช้งานจนมีความมั่นใจในคุณภาพ จัดอบรมหลักสูตรการปลูกผักอินทรีย์วิถีพอเพียง โดยใช้ถุงปลูกแสนดี ผลิตภัณฑ์จากบริษัทไทยฟอร์โมซาพลาสติกอินดัสทรี จำกัด ภาคเอกชนที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ที่ได้ใช้นวัตกรรมยืดอายุการใช้งานถุงปลูกได้นาน 5-8 ปี ซึ่งสะดวกต่อการปลูกในพื้นที่จำกัด และแก้ปัญหาดินบริเวณบ้านไม่ดีไม่เหมาะกับการปลูกพืช เช่น ดินทราย โดยเฉพาะชุมชนริมทะเล หรือบริเวณบ้านเป็นดินถมมีแต่ก้อนกรวดก้อนหิน อีกทั้ง หากพื้นดิน แฉะชุ่มน้ำในช่วงฝนตกหนัก ก็สามารถเคลื่อนย้ายไปวางตำแหน่งอื่นได้

Advertisement

ทำให้ประชาชนที่เข้ารับการอบรม ได้ทั้งความรู้ เมล็ดพันธุ์ ต้นกล้าผัก พร้อมถุงปลูก และปุ๋ยอินทรีย์ ICOFIS ผลงานจากการเรียนรู้กลับบ้านไปด้วย บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และความสนุกสาน แม้สภาพอากาศไม่ค่อยเป็นใจ มีฝนตกหนักในบางช่วงก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคของการเรียนรู้แต่อย่างใด

คุณลุงสายัณห์ พันธุ์มณี ข้าราชการบำนาญวัย 67 ปี ใช้พื้นที่ 1 ไร่ ที่บ้านปลูกมะม่วง มะละกอ พืชผักพื้นบ้านทั้งกิน และแบ่งปันเพื่อนบ้านเล็กๆ น้อยๆ กล่าวว่า ลุงได้รับการแนะนำให้มาร่วมกิจกรรมกับ กศน.จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย ปกติที่บ้านจะใช้ขี้วัวเป็นหลัก แต่ก็ยังมีปุ๋ยเคมีเสริมบางช่วง จากนี้จะเริ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ดูบ้าง ต้องทำเองให้ได้ผลดีก่อนจะได้ชักชวนคนอื่นได้

คุณยายกลิ่น นิคมจิต วัย 84 ปี แต่ยังดูแข็งแรงอยู่มาก แม้จะหันมาเย็บใบจากใบตาลโตนดแทนการทำสวนด้วยข้อจำกัดด้านวัย ก็ยังคงมีเรี่ยวแรงปลูกผักเล็กๆ น้อยๆ ทานเองในครัวเรือน คุณยายเข้าอบรมกับ กศน.เป็นวันที่สี่แล้ว เป็นตัวอย่างที่ดีของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เล่าว่า “อยู่บ้านทำไม กินแล้วนอน เดี๋ยวจะอ้วน โรคภัยถามหา…นี่ยายไม่มีโรคอะไรเลยนะ”

คุณประพันธ์ เพชรสุวรรณ เป็นเกษตรกรอีกผู้หนึ่งที่มีความสนใจทำการเกษตรบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เสาะแสวงหาความรู้ แม้จะศึกษาดูงานมาแล้วหลายพื้นที่ ก็ยังไม่หยุดที่จะเข้ามาเรียนรู้ด้วยความรู้สึกชื่นชมการทำงานของ กศน.และมหาวิทยาลัย ได้มอบข้าวโพดฝักงามอวบงาม ผลผลิตอินทรีย์จากน้ำพักน้ำแรงเพื่อเป็นกำลังใจให้กันและกัน

“เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง” คุณประพันธ์ กล่าว

ครูดารารัตน์ รอดผล กศน.ตำบลคลองรี เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ได้นำองค์ความรู้ไปใช้ จนเกิดเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ และความสุขทางใจ กล่าวว่า ใช้เวลาไม่มากนักช่วงก่อนเข้าทำงาน และหลังเลิกงาน ปลูกสิ่งที่ชอบกิน คือผักสลัด มีผลผลิตไม่มากแต่ก็เหลือ ก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ขายได้ จึงทำเป็นสลัดโรลขาย ใช้ผักไม่มาก คนก็นิยมสั่งซื้อ เขาเห็นโพสต์ปลูกผักโชว์ผักในเฟซบุ๊กทุกวันๆ เพราะมีความสุข ได้เห็นการงอกงามแล้วมีความสุข พอวันหนึ่งจะขายสลัดผักที่ปลูกเอง ก็มีคนสนใจ น้ำสลัดก็ทำเอง ปลอดภัย เพื่อนๆ คนรู้จักก็สั่งซื้อ ขายได้ทุกวัน มีความสุข มีรายได้ด้วย

ทุกวันนี้ครูดารารัตน์มีรายได้เสริมจากสิ่งที่เธอรักทุกวันๆ เงินรายได้ 300 บาทต่อวัน อาจจะดูไม่มาก แต่ความสุขนั้นมากนัก

ปิดท้ายที่ ดร.เปลื้อง สุวรรณมณี ผู้อำนวยการสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ กล่าวกับผู้เข้ารับการอบรมว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การท่องจำ แต่เป็นวิถีที่มุ่งให้เกิดความสุขในชีวิต เบื้องต้นต้องมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้หมายถึงมีบ้านใหญ่โต แต่คือการมีพอกิน ไม่มีหนี้สิน เราจะทำเกษตรอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้ ทำอย่างไรให้มีสุขภาพที่ดี ทุกวันนี้คนเป็นมะเร็งกันมาก ทั้งสังคมเมือง สังคมชนบท เพราะในวิถีชีวิตเราเต็มไปด้วยสารพิษ เราจึงควรปลูกผักกินเองในครัวเรือน หลีกเลี่ยงสารเคมีตั้งแต่ต้นทาง โดยทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง จึงเชิญชวนพี่น้องมาลงมือ กุศลก็จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อเลิกใช้สารเคมี ก็เท่ากับไม่เอาสารพิษลงสู่แม่ธรณี ไม่ปล่อยสารพิษสู่แม่คงคา ที่สำคัญ ขอให้ลงมือทำ พิสูจน์ด้วยตนเอง เหมือนคำกล่าว ร้อยรู้ไม่สู้หนึ่งลงมือทำ

สำหรับประชาชนในเขตพื้นที่ อ.สทิงพระ ที่สนใจผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ICOFIS เพื่อการพึ่งพาตนเอง สามารถติดต่อศูนย์ กศน.อำเภอสทิงพระ เพื่อขอความรู้ และหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อนำไปขยายต่อได้ หรือหากต่างพื้นที่ต้องการรับบริการองค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง รวบรวมกลุ่มเกษตรกรผู้สนใจขอรับบริการ ติดต่อที่สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image