ห่วงเลิก ‘รีไทร์’ ทำเด็กเรียนยาว เอื้อ’อจ.’ดึงช่วยงาน-ไม่ปล่อยจบ

ห่วงเลิก ‘รีไทร์’ ทำเด็กเรียนยาว เอื้อ’อจ.’ดึงช่วยงาน-ไม่ปล่อยจบ

ห่วงเลิก ‘รีไทร์’ ทำเด็กเรียนยาว เอื้อ’อจ.’ดึงช่วยงาน-ไม่ปล่อยจบ มธ.แนะตัดเงินที่ปรึกษาบัณฑิตนับจำนวนน.ศ.มีงานวิจัย รายงานต่อเนื่อง

นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) มีมติยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละระดับปริญญา กรณีกำหนดให้สำเร็จการศึกษาได้ไม่เกินกี่ปีการศึกษา โดยให้ยกเลิกการรีไทร์หรือถูกให้ออกจากมหาวิทยาลัย ตามนโยบายของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งทั้งของรัฐและเอกชน สามารถกำหนดเกณฑ์ระยะเวลาได้เองให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น เท่าที่ดูมหาวิทยาลัยต่างขานรับ เพื่อให้การจัดการศึกษามีความยืนหยุ่นและเอื้อต่อการเรียนการสอน ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เปิดกว้างให้นักศึกษา สามารถทำงานระหว่างเรียนได้ ไม่ใช่มุ่งแต่ปริญญาอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา
นายอดิศรกล่าวต่อว่า จากนี้มหาวิทยาลัยต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์ที่สอดคล้อง โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการศึกษา ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มขึ้นในส่วนของการรักษาสถานภาพ กรณีใช้เวลาเรียนค่อนข้างนาน อาทิ เรียน 4 ปี เว้นวรรคไป 2 ปี ช่วงที่เว้นวรรคไปอาจจะต้องมีค่ารักษาสถานภาพ ตรงนี้ทางอว.ต้องให้อิสระแต่ละมหาวิทยาลัย ในการดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่า แต่ละแห่งจะกำหนดค่าใช้จ่ายในอัตราที่เหมาะสม
“หลักเกณฑ์ใหม่นี้ผมค่อนข้างเห็นด้วยและเชื่อว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย การจะเรียนกี่ปีอยู่ที่ดุลยพินิจของผู้เรียน ซึ่งโดยอุปนิสัยของคนไทยแล้ว จะเร่งเรียนจบให้เร็วที่สุด ส่วนคนที่ใช้เวลาเรียนนานอาจเพราะต้องทำงานไปด้วย การกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่นี้จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้เรียนสามารถเรียนไปทำงานไปด้วยได้ เป็นการเพิ่มสมรรถนะผู้เรียนตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย”นายอดิศรกล่าว
นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวว่า ภาพรวมทางมธ.เห็นด้วย เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะสอดรับการสถานการณ์ปัจจุบันที่ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต เปิดกว้างให้สามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้ แต่ทางมธ. มีข้อกังวลอยู่ 2 ประเด็น คือ อาจารย์ที่ปรึกษา 1 คนจะมีนักศึกษาที่อยู่ในความดูแลมากเกินไป เพราะสั่งสมมาเรื่อย ๆ อาจทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถรับนักศึกษาใหม่เข้าเรียนได้ ทางแก้กรณีนี้ อาจจะต้องมีการนับจำนวนนักศึกษาใหม่ โดยนับเฉพาะนักศึกษาที่เป็น active student มีความต่อเนื่องในการเรียน ทำวิจัย หรือมีส่วนร่วมในการเรียนอย่างต่อเนื่อง อีกประเด็น คือ หลักเกณฑ์นี้อาจเป็นการเปิดช่องให้ อาจารย์ไม่ยอมปล่อยนักศึกษาให้จบการศึกษา เพื่อให้ช่วยทำงานวิจัย หรืองานอื่น ๆ ตามที่ต้องการต่อเนื่องจนกว่าจะพอใจ เพราะไม่มีลิมิตเวลา ทางแก้ในส่วนนี้คือ นับเฉพาะ active student เช่นเดียวกัน และลดจำนวนค่าตอบแทนลงกรณีที่อาจารย์ปล่อยให้นักศึกษาจบช้า
“ภาพรวมเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์นี้ แต่ก็เชื่อว่าคงต้องใช้เวลา เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องกำหนดไว้ในร่างมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ซึ่งเมื่อมีการตั้งอว. ต้องจัดทำใหม่และต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใช้เวลา หรือหากอว.ต้องการให้ประกาศได้เร็วขึ้น ก็อาจใช้วิธี ปรับแก้ในเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรเดิม และประกาศใช้ ไปก่อน ซึ่งหากอว.ใช้แนวทางนี้ มหาวิทยาลัยก็พร้อมยกร่างหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้อง ทั้งนี้เกณฑ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นประโยชน์กับนักศึกษา ดังนั้นจะมีผลบังคับใช้กับนักศึกษาที่เรียนอยู่ในปัจจุบันด้วย”นายชาลีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image