นักประวัติศาสตร์หนุนจับโปเกมอนใน “โบราณสถาน-พิพิธภัณฑ์” หวังดูดคนเยี่ยมแหล่งเรียนรู้ ตรงแนวคิด “มิวเซียมไร้กำแพง”

พิพัฒน์ กระแจะจันทน์ และ ปติสร เพ็ญสุต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะนี้เกิดกระแสในกลุ่มนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งสนับสนุนให้ใช้โบราณสถานเป็นสถานที่จับโปเกมอน เพื่ออาศัยความนิยมในเกมดังกล่าวดึงดูดให้คนท่องเที่ยวแหล่งประวัติศาสตร์มากขึ้น
นายพิพัฒน์ กระแจะจันทน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ควรมีการพูดคุยกับผู้พัฒนาเกมให้กำหนดโปเกมอนไปอยู่ในพิพิภัณฑ์ วัด โบราณสถาน และห้องสมุด เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้คนเยี่ยมชมเพิ่มขึ้น อีกทั้งรู้จักการสำรวจสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่อีกด้วย

“ถ้ารู้จักฉกฉวยเกมโปเกมอนให้เป็นประโยชน์ น่าจะไปคุยกับผู้พัฒนาเกมได้ก็คือ พวกพิพิธภัณฑ์ วัด โบราณสถาน ห้องสมุดประชาชน หรืออะไรทำนองนี้ ให้เขาช่วยกำหนดให้โปเกมอนไปอยู่แถวๆ นั้น แต่ไม่ใช่ไปอยู่บนตัวโบราณสถาน หรือจุดที่มันไม่เหมาะสม ก็น่าจะเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้เยาวชนหรือคนที่เล่นเกมเข้า ไปเยี่ยมชมสถานที่พวกนี้มากขึ้น ถือเป็นการใช้เกมอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ มองในแง่ประโยชน์อีก เกมนี้จะช่วยทำให้คนเข้าใจปัญหาของผังเมืองของเมืองต่างๆ มากขึ้น ได้รู้จักการไปสำรวจตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมันอาจพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ละแวกที่ตัวเองอยู่” นายพิพัฒน์กล่าว

ด้านนายปติสร เพ็ญสุต นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ กล่าวว่า เกมโปเกมอน โก ทำให้นึกถึงงานมิวเซียมไร้กำแพง (Museum Without Walls) ซึ่งนอกจากความคิดสร้างสรรค์แล้วอาจต้องมาพร้อมกับการรู้จักจังหวะของตลาดด้วย ถือเป็นการทำงานเชิงรุก และปรับเปลี่ยนให้ทันกับโลกที่หมุนเร็ว โดยน่าจะพัฒนาไปเป็นสื่อการเรียนรู้อื่นๆ

“นอกจากการ์ตูน น่าจะพัฒนาไปเป็นอย่างอื่น เช่น สัตว์หายาก แมลง ปลาแปลกๆ ที่หาในกรุงเทพไม่ได้แล้ว หรืออาจจะไปตามโบราณสถานแล้วมีภาพสันนิษฐานว่าถ้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์จะเป็นอย่างไร มีกิจกรรมให้คลิกเล่น เช่น เข้าไปในศาลาการเปรียญแล้วมีสวดชยันโต สวดภาณยักษ์ หน้าพระพุทธรูปก็มีกิจกรรมการหล่อ การเบิกพระเนตร ซึ่งน่าจะทำให้เด็กได้เรียนรู้เพิ่มเติม ถ้าไปกันหลายๆคนก็คงช่วยลดความเสี่ยงเรื่องเน้นความเป็นปัจเจกลงได้” นายปติสรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image