เปิดใจ ‘ธนพร สมศรี’ เคลียร์ทุกข้อครหา-ปักธงปฏิรูปสกสค.

เปิดใจ ‘ธนพร สมศรี’

เคลียร์ทุกข้อครหา-ปักธงปฏิรูปสกสค.

หมายเหตุ – นายธนพร สมศรี เข้ารับตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา “มติชน” ถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ เปิดใจทุกข้อครหาของการก้าวเข้ามารับตำแหน่งบิ๊ก สกสค. พร้อมทิศทางการทำงาน นโยบาย รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาทุจริตที่เกิดมายาวนาน…

เข้ามาทำงานตรงนี้หนักใจหรือไม่?

“ไม่หนักใจ ผมว่าการเมืองน่าหนักใจกว่า มีความสุขดีในชีวิตของคนคนหนึ่งที่เกิดเป็นลูกครู เหมือนพระเจ้าใส่ซองมาให้ได้มาทำงานตอบแทนอาชีพนี้ คงเป็นครั้งเดียวที่มีโอกาส ซึ่งจะทำให้ดีที่สุด”

ก่อนหน้าจะเข้ามาทำตรงนี้ ทำอะไรมาก่อน?

Advertisement

“ทำการเมือง เป็นผู้ช่วยของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม เป็นผู้จัดการทีมชาติ ชุดที่ได้แชมป์อาเซียน และทำธุรกิจส่วนตัวด้านอาหาร เข้ามาทำงานตรงนี้ได้จากตำแหน่งในสำนักนายกรัฐมนตรี ให้มาประจำ ศธ.ประสานงานแต่ละองค์กรหลักให้กับรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้พบกับ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ในช่วงที่เป็นรักษาการเลขาธิการ สกสค. ขอให้มาช่วย เป็นรองเลขาธิการ สกสค. ประกอบกับจะมีการสรรหาเลขาธิการ สกสค. ก็ได้รับคัดเลือก”

มีข้อครหาว่า ถูกวางตัวมาจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ?

“ไม่จริง ยอมรับว่าเคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 41 ของ พปชร. แต่หลังเลือกตั้งเสร็จ ผมก็ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับพรรค คนในพรรคบางคนยังไม่เคยรู้จักผมเลย สาเหตุที่ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจเพราะพรรคมองว่าเป็นจุดขายตรงที่เป็นคนกีฬา”

Advertisement

นายณัฏฐพลบอกให้ลงสมัครสรรหา?

“นายณัฏฐพลไม่ได้บอกให้สมัคร แต่ก็ไม่ได้ห้าม หรือเชียร์ เพราะถ้าเชียร์แล้วทำได้ไม่ดี ก็เข้าตัว นายณัฏฐพลก็เดือดร้อน เพราะเป็นองค์กรใต้กำกับ ตอนนี้เป็นเวลาที่ผมต้องพิสูจน์ตัวเอง แต่คนที่ชวนจริงๆ คือนายดิศกุล”

งานยากของ สกสค.และองค์การค้าฯคือเรื่องใด?

“เรื่องความโปร่งใส จึงใช้สโลแกน “โปร่งใส ทันสมัย และใส่ใจบริการ” ขับเคลื่อนการทำงาน”

การทำงานใน สกสค.เป็นอย่างไรบ้าง?

“คิดว่าปัญหาใหญ่ที่สุดและเป็นเรื่องแรกของ สกสค.ที่ควรจะทำ คือเรื่องคน ทั้งนี้เพราะเป็นองค์กรที่ไม่ใหญ่ แต่มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่มาก ในการให้บริการสวัสดิการและสวัสดิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่ง สกสค.ไม่มีทางจะทำภารกิจนี้ได้เลย ถ้าคนของ สกสค.ยังมีปัญหา ทั้งในเรื่องคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องานไม่ได้มาตรฐาน หลายคนทำงานในสิ่งที่ไม่ตรงกับความรู้ความสามารถ เรื่องขวัญกำลังใจ ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา สกสค.มีเรื่องทุจริต จนเป็นเหตุให้ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกลุ่ม หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ ถูกลงโทษตามกฎหมาย และโทษทางวินัย ถึงขั้นไล่ออก ทำให้หลายคนไม่กล้าที่จะทำงาน หรือทำงานแบบระแวงและกลัว อีกทั้งเรื่องความเจริญก้าวหน้า ที่มีการออกแบบผังองค์กรไว้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ยกตัวอย่างเช่น ผู้อำนวยการสำนัก หลายคนเป็นตั้งแต่อายุ 40 กว่า จากนั้นตำแหน่งก็ตัน ทำให้ไม่มีแรงผลักดันในการทำงาน ขณะที่เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีเรื่องวิทยฐานะ พัฒนาอัตราขั้นเงินเดือน เพราะติดปัญหาเรื่องงบประมาณ

กล่าวคือ ทุกปี สกสค.จะได้รับงบประมาณจากรัฐประมาณ 120 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นเงินเดือนบุคลากรแล้วกว่า 106 ล้านบาท ซึ่งในข้อเท็จจริงก็ไม่เพียงพอ เพราะแต่ละเดือน สกสค.ต้องจ่ายเงินเดือนบุคลากรที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 40 ล้านบาท คิดเป็นกว่า 500 ล้านบาทต่อปี แสดงให้เห็นว่า สกสค.ติดลบงบเงินเดือนอยู่ 400 ล้านบาทต่อปี โดยเงินที่นำมาใช้เป็นเงินนอกงบประมาณจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และโครงการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) ซึ่งปัจจุบันมีเหลืออยู่ไม่มาก เพราะเงินส่วนต่างร้อยละ 0.5 ที่ธนาคารออมสินคืนให้ ถูกนำไปใช้ในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับครูแทน

เท่ากับว่า สกสค.มีเงินที่ได้จากรัฐเหลือสำหรับการดำเนินการทุกเรื่องเพียงปีละกว่า 10 ล้านบาท แน่นอนว่าไม่พอ ก็ต้องไปดึงเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ และเงินจาก ช.พ.ค.และ ช.พ.ส.มาอีก เป็นการนับถอยหลังสู่การล้มละลายในวันข้างหน้า สิ่งที่น่ากลัวคือ รัฐกำลังพิจารณาลดงบที่สนับสนุน สกสค.ลงไปเรื่อยๆ นั่นหมายความว่ารัฐ อาจจะกำลังพิจารณาถึงความจำเป็นของการมี สกสค. หรือใช้ข้ออ้างว่า สกสค.เป็นองค์กรที่มีรายได้”

รายได้ของ สกสค.มาจากทางไหนบ้าง?

“รายได้มาจาก 3 ทางคือ การตรวจสุขภาพครูทั่วประเทศ หอพัก สกสค. ซึ่งมีภาวะขาดทุนแอบแฝง ปีละกว่า 20 ล้านบาท แม้จะชี้แจงในบัญชีว่าทำกำไรปีละประมาณ 8-10 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริง ฝ่ายบริหารไม่เคยนำค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาปีละหลายสิบล้านมาหักลบต้นทุนเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นสภาพกำไรที่ปลอม ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการ สกสค. ซึ่งมีประสบการณ์ในฐานะอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เข้ามาปฏิรูปเรื่องนี้ รายได้ส่วนที่สามคือ จากโรงพยาบาลครู ที่ถือว่าติดลบ เพราะมูลค่าการซื้อยาที่ผ่านมายังต้องตรวจสอบ เพราะเป็นมูลค่าที่แพงมาก ส่วนใหญ่เป็นยานอกตำรา ตกปีละกว่า 100 ล้านบาท

ที่พูดถึงเรื่องทั้งหมดนี้ เพราะการที่รัฐอ้างว่า สกสค.เป็นองค์กรที่มีรายได้ จึงสนับสนุนงบน้อย ข้อเท็จจริงแล้ว สกสค.ไม่ได้มีรายได้มากนัก เพราะหอพักก็ขาดทุนแอบแฝง การตรวจสุขภาพครูทั้งประเทศ ก็ทำเหมือนพอเป็นพิธีตรวจได้ปีละ 1,000 กว่าคน จากครูบำนาญและครูประจำการมีอยู่กว่าล้านคน ไม่เหมือนองค์กรมหาชนอื่นที่หาเงินได้จริง ทั้งหมดนี้ต้องชี้แจงให้สภาผู้แทนราษฎร

และสำนักงบประมาณรับทราบ เพื่อขอสนับสนุนงบเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ขาดทุนหรือยกเลิกการดำเนินการในบางส่วนไป ทั้งนี้งบประมาณที่จะขอเพิ่ม เพื่อเติมในส่วนที่ขาดไปกว่า 400 ล้านบาท ขณะเดียวกันตั้งใจจะเจรจาขอเงินที่ธนาคารออมสินได้หักเพื่อชำระหนี้แทนครูที่ค้างเกิน 3 งวดขึ้นไป ซึ่งมียอดรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาทคืน นำมาสร้างขวัญกำลังใจเพิ่มเงินเดือนให้บุคลากร ตามอายุงานและความรู้ความสามารถ เพราะผมเองถือหลัก ถ้าคนวิน องค์กรถึงจะวิน และถ้าองค์กรวิน ผู้บริหารถึงจะชนะ ตอนนี้ สกสค.เพิ่งอยู่ในขั้นแรก คือ ผมต้องทำให้คนวินก่อน”

อีกเรื่องที่ต้องเร่งทำคือ?

“การจัดระเบียบข้อบังคับและระเบียบของสำนักงาน ต้องยอมรับว่า ด้วยกลไกที่ไม่ใช่ราชการ เป็นองค์กรมหาชน สามารถใช้คณะกรรมการหรือบอร์ด เดิมมาจากผู้แทนครู แก้ไขระเบียบในเรื่องที่อยากจะทำ เป็นเรื่องๆ ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน แสดงถึงความไม่มีมาตรฐาน เสี่ยงต่อการเลือกปฏิบัติและทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ซึ่งผมต้องแก้ไข และเรื่องที่สามที่ต้องแก้ไข คือการจัดเก็บหนี้กับองค์การค้าของ สกสค. ที่มีอยู่กว่า 4,000 ล้านบาท โดยกำลังจะพัฒนาให้เป็นองค์กรที่มีสภาพเศรษฐกิจเหมาะสมกับรายได้ของตัวเอง อย่างแรกจะมีรายได้เพิ่มในสามทาง คือ การจัดพิมพ์ตำราเรียน ซึ่งมีหนี้ องค์การค้า ได้รับโควต้าพิมพ์ตำราเรียนของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กลับคืนมา 100% การผลิตเครื่องหมายอุปกรณ์ลูกเสือ ที่จะดึงกลับมาทำเองทั้งหมด และการเปิดศึกษาภัณฑ์มอลล์ จะเป็นห้างที่มีสินค้าทุกประเภท แต่จุดแข็งยังเป็นอุปกรณ์การเรียน ต้องใช้เวลาทำระบบภายใน 8 ปี ถ้าเดินตามแผนนี้องค์การค้าหมดหนี้ได้ เพราะมีการปรับโครงสร้างลดรายจ่ายในส่วนของพนักงานไปแล้ว จากเดือนละ 40 ล้านบาท เหลือเดือนละ 7 ล้านบาท ถ้าองค์การค้าคืนมาได้ สกสค.ก็จะดีขึ้น เพราะได้เงินคืนมา”

กรณีการสั่งเลิกจ้างพนักงานองค์การค้าฯ ยังมีปัญหาอยู่หรือไม่?

“กรณีนี้ถือเป็นความกล้าตัดสินใจของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แม้จะต้องจ่ายค่าชดเชยกว่า 1,200 ล้านบาท แต่ทั้งหมดนี้จะคืนมาภายใน 2 ปี เพราะ หักจากเงินเดือนและสวัสดิการที่ไม่ต้องจ่ายมากเท่าเดิม ยืนยันว่า สกสค.ยืนอยู่ตามหลักสุจริต ยอมรับว่าเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะพนักงานไม่ได้ทำผิด แต่ก็ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อเลิกจ้างไม่ชอบก็ต้องจ่ายเงินชดเชยเยียวยา ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่ต้องมาเคลียร์ เพราะ สกสค.ทำตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางธุรกิจ ที่จะปล่อยให้ขาดทุนไปเรื่อยๆ ไม่ได้”

การแก้ปัญหาทุจริตที่ยังค้างอยู่?

“เป็นเรื่องที่ผมหนักใจที่สุด เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย คดีมีอายุความ อีกทั้งหลักฐานบางอย่างถูกทำลาย หายไป ไม่แน่ใจว่ามีกระบวนการขัดขวางการตรวจสอบหรือไม่ แต่มั่นใจได้ว่านโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ยืนยันว่าจะไม่ละเว้นคนผิด ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย โดยได้มอบหมายให้นายประเสริฐ บุญเรือง รองเลขาธิการ สกสค. อดีตปลัด ศธ. เป็นผู้ดูแล และได้ตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายและอรรถคดี เพื่อดำเนินเป็นคดีอาญา ทั้งกรณีการทุจริตซื้อตั๋วสัญญาของเงินกู้จากบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป มูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท กรณีการซื้อหุ้นบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด มูลค่า 800 ล้านบาท และเข้าใจว่าใน 2 คดีนี้ยังมีคดีลูกตามมาอีกนับ 10 คดี เพราะการทุจริต ความผิดคงไม่ใช่แค่เรื่องประมาทเลินเล่อ

ผมพยายามจะทำเรื่องนี้ตั้งแต่เป็นรองเลขาธิการ สกสค. แต่ปัญหาอย่างหนึ่ง คือความไม่แน่นอน หากมาคิดดีๆ สกสค.ตั้งขึ้นมาเพียง 17 ปี มีเลขาธิการรวม 8 คนรวมผม สองคนแรกทำงานอยู่ 12 ปี อีก 5 ปีใช้เลขาธิการรวม 6 คน เป็นรักษาการแทน ซึ่งแทบไม่ได้ทำอะไรเลย ทำงานลำบากเพราะเป็นรักษาการ อีกทั้งระยะเวลายังน้อย พอเปลี่ยนผู้บริหารก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการ ต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน ทำให้การทำงานล่าช้า ดังนั้นถ้าพูดกันตามจริง องค์กรนี้เหมือนถูกเบรกทำอะไรไม่ได้มา 5 ปี

ผมเองก็ถือว่าเป็นเลขาธิการ สกสค.คนที่ 3 ที่เป็นตัวจริง ที่จะต้องทำงาน 4 ปีเต็มวาระ ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการทุกเรื่องให้เกิดความต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image