‘บอร์ด กช.’ จี้ร.ร.เอกชน ส่งข้อมูลน.ร.-เงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ครู หากไม่ทำสั่งงดรับเด็กปี’64

‘บอร์ด กช.’ จี้ร.ร.เอกชน ส่งข้อมูลน.ร.-เงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ครู หากไม่ทำสั่งงดรับเด็กปี’64

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ที่มีนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รายงานข้อมูลจำนวนโรงเรียนเอกชนแต่ละประเภท ประจำเดือนตุลาคม 2563 ดังนี้ โรงเรียนในระบบ มี 3,977 แห่ง โรงเรียนนอกระบบ จำนวน 10,023 แห่ง ซึ่งจากการตรวจสอบพบโรงเรียนเอกชนจำนวนหนึ่งไม่ส่งรายงานข้อมูลนักเรียนรายบุคคล ซึ่งข้อมูลนี้เป็นข้อมูลสำคัญ เพราะ สช.จะนำมาจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวให้โรงเรียนเอกชน ที่ประชุมจึงมติให้ สช.ทำหนังสือแจ้งโรงเรียนที่ไม่ส่งข้อมูลให้ดำเนินการจัดส่งข้อมูลภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ หากโรงเรียนใดไม่จัดส่งข้อมูล สช.จะงดจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวและงดให้โรงเรียนรับนักเรียนในปีการศึกษา 2564

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุม มอบหมายให้ สช.หามาตรการจัดการโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอน โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือว่าการกระทำนี้เป็นความผิดทางอาญา มีความผิดและมีโทษจำคุก สช.ต้องเร่งจัดการปัญหาเหล่านี้ เพื่อไม่ให้กระทบกับโรงเรียนเอกชนที่ดำเนินกิจการโดยสุจริต ทั้งนี้ สช.ได้รายงานการเพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ จากการตรวจสอบพบโรงเรียนนอกระบบในกรุงเทพ และส่วนภูมิภาค รวม 10,023 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนนอกระบบดำเนินกิจการปกติ 7,602 แห่ง อยู่ระหว่างการเพิกถอนใบอนุญาต 2,421 แห่ง และเลิกกิจการแล้ว 55 แห่ง

“สช.พบว่ามีโรงเรียนเอกชน จำนวน 129 แห่ง ไม่นำส่งเงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน แบ่งเป็น โรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษา 106 แห่ง โรงเรียนในระบบประเภทนานาชาติ 4 แห่ง โรงเรียนเอกชนในบบประเภทอาชีวศึกษา 15 แห่ง และโรงเรียนนอกระบบ 4 แห่ง รวมเป็นเงินกว่า 35 ล้านบาท ซึ่งทำให้ครูในโรงเรียนเหล่านี้ไม่สามารถเบิกเงินและใช้สวัสดิการได้ ที่ประชุมจึงมีมติให้ เลขาธิการ กช. เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ไปจัดการโรงเรียนดำเนินการภายใน 15 วัน หากโรงเรียนไม่ดำเนินการใดๆ สช.จะงดจ่ายเงินอุดหนุนรายหัว และสั่งงดรับนักเรียนในปีการศึกษา 2564” นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมอนุมัติให้ สช.จัดอบรมครูโรงเรียนเอกชน “หลักสูตรการฝึกอบรมด้านการสอนคนพิการ 2561” ในวันที่ 16-28 พฤศจิกายน ที่โรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา กรุงเทพฯ และโรงเรียนศรีสังวาลย์ จ.นนทบุรี โดยจัดอบรม 200 ชั่วโมง เมื่อสิ้นสุดการอบรม ผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องไปฝึกปฏิบัติการสอน ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ภาคเรียน เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ สช.ขาดครูที่มีความเฉพาะด้านในการสอนเด็กพิการจำนวนมาก ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขข้อขัดแย้งโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ที่พี่เลี้ยงลงโทษนักเรียนเกินเหตุ และโรงเรียนจ้างครูโดยครูจำนวนหนึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบการสอนนั้น พบว่าทางโรงเรียนได้ดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้ไว้ทุกข้อ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ สช.ตั้งไว้ให้ไปดำเนินการตรวจสอบข้อมูล ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปข้อมูล คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องดังกล่าวภายในสัปดาห์หน้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image