เจอแล้ว8บุคคลในภาพ สนองงาน ‘สมเด็จพระราชินี’ วธ.จัดเฉลิมพระเกียรติยิ่งใหญ่ 11 ส.ค.

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการตามหาบุคคลในภาพ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ซึ่งขณะนี้สวธ.ได้ตามหาบุคคลในภาพที่ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ในขณะที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่หลากหลาย จากทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งผ่านการคัดเลือกจำนวน 8 ภาพ ครบแล้ว โดยบุคคลในภาพจะมาร่วมถ่ายความรู้สึกเพื่อให้เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงพระราชจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ เวลา 14.00 น. ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นางดอกไม้ คำวงษ์ อายุ 61 ปี ปัจจุบันอาชีพเกษตรกร บ้านหนองม่วง ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร บุคคลในภาพที่ 1 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2523 ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงหยอดตาพระราชทานแก่เด็กซึ่งมารับการตรวจรักษาจากแพทย์ โดยเสด็จฯ ระหว่างการทรงเยี่ยมราษฎรบ้านหนองม่วง จ.สกลนคร กล่าวว่า เหตุการณ์ในภาพ ตนได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่โรงเรียนบ้านหนองม่วง โดยได้นำบุตรสาว ชื่อด.ญ.จันทนา คำวงษ์ ขณะนั้นอายุ 5 เดือน ซึ่งมีอาการตัวร้อนเป็นไข้สูง พระองค์ทรงใช้ผ้าประคบหน้าผากบุตรสาวเพื่อลดอาการไข้พร้อมทรงหยอดตา และทรงรับบุตรสาวตนเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดรถนำส่งโรงพยาบาลสกลนคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด บุตรสาวได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลเป็นอย่างดีจนหายเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ตนและบุตรสาวอยู่ที่โรงพยาบาล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น พระองค์ทรงพระราชทานข้าว อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และทรงพระราชทานเงินสดจำนวนหนึ่งแก่ตนในวันที่กลับจากโรงพยาบาลสกลนคร ด้วย

“ดิฉันและครอบครัว มีความปลาบปลื้มยินดี ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยเฉพาะในวันนั้นหากไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านแล้ว ลูกสาวอาจจะไม่มีชีวิตรอดมาถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันลูกสาวอายุ 37 ปี และพระองค์ทรงรับเป็นสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพบ้านทรายทอง(กลุ่มปักผ้า) เพื่อสร้างรายได้เสริมแก่ครอบครัวหลังเสร็จฤดูทำนา พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าและครอบครัวจะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯตราบชีวิตจะหาไม่”นางดอกไม้กล่าว

01 ดอกไม้ คำวงษ์

Advertisement

นางคำใหม่ โยคะสิงห์ อายุ 83 ปี อาชีพแม่บ้าน อาศัยอยู่บ้านโพน เทศบาลตำบลโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ บุคคลในภาพที่ 2 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2525 ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรภูไท ต.บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ประมาณกว่า 33 ปีมาแล้วที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จที่บ้านดงสวน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งตอนแรกพระองค์ทรงมีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่แจ้งตนไปรับเสด็จ และพระองค์รับสั่งกับตนว่า “จะไปเยี่ยมที่บ้าน” หลังจากนั้น พระองค์ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ไปกราบนมัสการพระอริยเวที (หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล) เจ้าอาวาสวัดรังสีปาลิวัน และทรงเสด็จไปที่บ้านตน ชาวบ้านโพนจึงจัดการแสดงฟ้อนผู้ไทรับเสด็จ จากนั้นทรงให้ตนและชาวบ้านโพนฉายพระรูปร่วม พร้อมรับสั่งว่า “ไม่อยากกลับเลย อยู่ที่นี่แล้วสนุก” ตนรักพระองค์มาก เห็นพระองค์แล้วมีความสุข ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ชาวผู้ไทบ้านโพนจึงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนผ้าไหมแพรวาที่กำลังจะหายไป กลับได้รับการส่งเสริม ฟื้นฟู จนได้รับฉายา “ผ้าไหมแพรวาราชินีแห่งไหม”

02 คำใหม่  โยคะสิงห์

นางจันทร์ฉาย ดวงใจ อายุ 56 ปี ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนเทศบาลวัดท่าสะต๋อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ บุคคลในภาพที่ 3 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2535 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานภาพพุทธประวัติแก่ผู้แทนครู เพื่อนำไปประกอบการสอนพุทธศาสนาแก่เด็กนักเรียน ในโอกาสเสด็จทรงเยี่ยมโรงเรียนวัดยั้งเมิน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนได้เข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งพระองค์ทรงติดตามงานในพระราชดำริ และทรงเยี่ยมเยียนประชาชน ที่ โรงเรียนวัดยั้งเมิน ซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดาร ขณะนั้นตนเป็นผู้แทนของสถานศึกษาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบเอกสารเพื่อการศึกษาจากพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน ตนมีโอกาสเข้าเฝ้ารับเสด็จพระองค์เป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งสร้างความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น แม้ว่าจะเป็นครูที่อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร เป็นประชาชนตัวเล็กๆ พระองค์ยังเสด็จไปถึง เหมือนกับคำพูดที่ว่า “ไม่มีพื้นที่ตรงไหนที่ในหลวงและราชินีจะไปไม่ถึง พระองค์จะได้ยินเสียงเราเสมอ” ตนรักและเทิดทูนพระองค์อย่างสุดหัวใจ ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นประชาชนไทย ใต้เบื้องพระยุคลบาทปกเกล้าปกกระหม่อม และจะขอปฏิญาณว่าจะขอเป็นข้าราชการในพระองค์ท่านที่ซื่อสัตย์ จงรักภักดี จะสนองงานของพระองค์ท่านอย่างสมศักดิ์ศรีในการเป็นข้ารองพระบาทตลอดชีวิตนี้หาไม่

Advertisement

03 จันทร์ฉาย  ดวงใจ

นายศิริชัย หงษ์วิทยากร อายุ 68 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ บุคคลในภาพที่ 4 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2540 ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรแบบจำลองในโอกาสเสด็จฯไปทรงเปิดโครงการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เส้นทางข้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ และพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ที่สนามเฮลิคอปเตอร์ ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนภาควิชาภูมิทัศน์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเป็นผู้ถวายรายงานบรรยายสรุปโครงการการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เส้นทางขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพและพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ฯ พ.ศ. 2539 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกองทัพบก และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยคณาจารย์และนักศึกษาจัดทำหุ่นจำลองและออกแบบวางผัง เน้นการปลูกไม้ป่าแห่งดอยสุเทพ ที่ทรงโปรด 2 ชนิด คือ เสี้ยวดอกขาว (Bauhinia variegata) และ นางพญาเสือโคร่ง (Prunus cerasoides) และการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสองข้างทาง รู้สึกเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้น ที่ได้พระราชทานวโรกาสให้เข้าเฝ้าถวายรายงานฯ และเป็นความภาคภูมิใจอย่างหาที่เปรียบมิได้ ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการอนุรักษ์ป่าและพันธุ์ไม้ป่า ซึ่งเป็นโครงการที่พระองค์ท่านให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยได้พระราชทานแนวพระราชดำริ และนำพสกนิกรปฏิบัติตลอดทุกปีที่ทรงเสด็จฯเยือนจ.หวัดเชียงใหม่และประทับที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

04 รศ.ศิริชัย  หงษ์วิทยากร

นายสะมะแอ กะนิ อายุ 66 ปี อาชีพเกษตรกร ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น จ.นราธิวาส บุคคลในภาพที่ 5 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2541 ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรการประกวดผลิตภัณฑ์ของสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในเขต 14 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า ในขณะนั้น ตนเป็นหนึ่งในสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ และอยู่ในระหว่างฝึกการเขียนลายเส้นบนเรือกอและ ด้วยฝีมือการวาดลายเส้นที่สวยงามตนจึงถูกคัดเลือกให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในวันดังกล่าว พระองค์ได้ตรัสว่า “เรือกอและสวยงามมาก ” เป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีโอกาสใกล้ชิดสมเด็จพระราชินี รู้สึกปลาบปลื้มตื้นตันใจมาก ไม่คิดว่าจะได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระองค์อย่างใกล้ชิด ตอนนี้รู้สึกตื่นเต้นยิ่งกว่าเดิมเมื่อทราบว่าได้รับคัดเลือกให้เป็นบุคคลในภาพ และต้องเข้ารับภาพดังกล่าวที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งข่าวดีนี้ทำให้คนในครอบครัวรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

05 สะมะแอ  กะนิ

นายอูเซ็ง สะแลแม อายุ 74 ปี ปัจจุบันประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระพงในกระชัง บคุคลในภาพที่ 6 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2542 เหตุการณ์ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังตามพระราชดำริ ที่บ้านปาตาตีมอ ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จ.ปัตตานี พอดีช่วงที่พระราชินีเสด็จมานั้นปลาของชาวบ้านละแวกนั้น ได้เกิดตายทั้งกระชัง เนื่องจากน้ำที่ทางชลประทานปล่อยมา เป็นน้ำเปรี้ยว พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสถามความเดือดร้อนจากราษฎรที่เลี้ยงปลากะพง และตรัสถามถึงปัญหาในการเลี้ยงปลา ตนจึงได้ตอบเรื่องปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงปลา จากนั้นตนได้นำปลากะพงมาถวายให้สมเด็จพระราชินี ประมาณ 10 ตัว ความรู้สึกปลาบปลื้มยินดีที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดพระองค์ พระองค์ทรงห่วงใยราษฎร และส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือชาวบ้านโดยตลอด เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ตนน้ำตาไหล รู้สึกปลาบปลื้มจนพูดไม่ออก

06 อูเซ็ง  สะแลแม

นางวาสนา แก้วหานาม อายุ 33 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป อาศัยอยู่ที่บ้านหนองม่วง ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร บุคคลในภาพที่ 7 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมราษฎรในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านทรายทอง หมู่ที่ 11 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร กล่าวว่า ตนได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยได้รับการคัดเลือกจากผู้ใหญ่บ้านผ่านทางหัวหน้าโครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านทรายทอง เนื่องจากมีฐานะยากจน พระองค์ทรงพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ช่วยเหลือครอบครัว เป็นเงินสด จำนวน 15,000 บาท พร้อมทรงรับเข้าเป็นสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพบ้านทรายทอง กลุ่มปักผ้า และในวันนั้น พระองค์ได้พระราชทานผ้าสำหรับปักพร้อมอุปกรณ์และภาพตัวอย่างเป็นภาพดอกบัวอยู่กลางบึง จำนวน 4 ผืน พระองค์ทรงรับสั่งว่า “เป็นการบ้าน” วันนั้น ตนและครอบครัว มีความปลาบปลื้มยินดี ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่พระองค์ทรงมีต่อตนและราษฎรผู้ยากไร้ ไม่มีที่ทำกิน ทำให้ตนและราษฎรมีงานทำ มีรายได้ช่วยเหลือครอบครัว

07 วาสนา  แก้วหานาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบุคคลในภาพที่ 8 ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2550 ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทรงเปิดนิทรรศการของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ที่พิพิธภัณฑ์เฟอล์กเคอร์คุนเดอ ณ นครมิวนิค ประเทศเยอรมนี บุคคลในภาพ คือ คุณหญิง Barbara Margret Rose Riepl ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกงศุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ประจำนครมิวนิก ประเทศเยอรมนีและเนื่องจากติดภารกิจที่ต่างประเทศ จึงไม่สามารถให้สัมภาษณ์และไม่สามารถเดินทางมาร่วมกิจกรรมในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ได้

08 คุณหญิงบาร์บาร่ามาร์เกร็ด-โรส รีเพิล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image