ว.อาชีวะเอกชนแห่กู้นอกระบบ จ่าย งด.ครูหลังไม่ได้รับอุดหนุนรายหัว

ว.อาชีวะเอกชนแห่กู้นอกระบบ จ่ายเงินเดือนครูหลังไม่ได้รับอุดหนุนรายหัว โอดเดือดร้อนหนัก-วอน สอศ.เร่งโอนงบ

อาชีวะเอกชน – นายอดิศร สินประสงค์ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แจ้งว่าไม่สามารถจ่ายเงินอุดหนุนรายหัว ให้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนทั่วประเทศได้ ซึ่งเงินอุดหนุนรายหัวนี้จะนำมาใช้จ่ายเป็นเงินเดือนครู เพราะยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ ซึ่งทำให้หลายวิทยาลัยไม่มีจ่ายเงินเดือนครู บางวิทยาลัยต้องไปกู้เงินนอกระบบมาจ่ายเงินเดือนครูก่อน เมื่อเจอปัญหาท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่นักเรียนก็ได้รับผลกระทบ ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน ตนอยากให้ สอศ.เร่งดำเนินการด้วย เพราะขณะนี้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนเดือดร้อนอย่างมาก

นายอดิศรกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบนโยบายให้ทุกวิทยาลัยในสังกัด สอศ.หาจุดเด่น และมุ่งพัฒนาตนเองในด้านนั้นๆ อีกทั้ง ต้องกล้าที่จะตัด หรือยุบบางสาขาที่ไม่ตรงกับจุดเด่นของตน เพราะสร้างคุณภาพไม่ได้นั้น มองว่าไม่มีปัญหาหากภาครัฐจะดำเนินการตามนโยบายนี้ เพราะได้รับเงินอุดหนุนรายหัว เงินอุดหนุนสำหรับเงินเดือนครู ได้รับการจัดสรรครุภัณท์ และได้รับงบประมาณในการจัดการเรียนการสอนจากภาครัฐอยู่แล้ว แต่ถ้าให้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนทำตามนโยบายนี้ มองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะปัจจุบันวิทยาลัยอาชีวะเอกชนอยู่ได้เพราะจำนวนนักเรียน แต่จะต้องไม่ทิ้งคุณภาพการเรียนการสอนด้วย

“หากให้อาชีวะเอกชนลดสาขาที่ไม่ถนัด หรือไม่เชี่ยวชาญลง คำถามคือครูอาชีวะเอกชนจะไปอยู่ที่ไหน เพราะส่วนใหญ่วิทยาลัยอาชีวะเอกชนจะว่าจ้างครูโดยไม่มีสัญญาจ้าง และจะทำการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการบรรจุครูนั้น ระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ระบุว่า การขอแต่งตั้ง หรือบรรจุครู ต้องมีสัญญาต่อกันระหว่างผู้รับใบอนุญาตกับครู โดยจะกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่ได้ เว้นแต่ครูที่เป็นชาวต่างประเทศ จึงทำให้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนไม่สามารถบอกเลิกจ้างครูได้ และหากวิทยาลัยอาวีชะเอกชนยุบบางสาขา ครูที่สอนจะไปอยู่ไหน และรัฐจะมีแนวทางสนับสนุน ส่งเสริม ให้อาชีวะเอกชนพัฒนาตนเองในสาขาเชี่ยวชาญได้อย่างไร เพราะปัจจุบันรัฐแทบไม่ได้สนับสนุนการศึกษาของวิทยาลัยอาชีวะเอกชนเลย มีเพียงสนับสนุนเงินอุดหนุนรายหัวที่นำมาจ่ายเป็นเงินเดือนครู และสนับสนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานเพียง 70% เท่านั้น” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศรกล่าวต่อว่า หากจะดำเนินการนโยบายนี้กับวิทยาลัยอาชีวะเอกชนนั้น เห็นว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะวิทยาลัยอาชีวะเอกชนต้องมีจำนวนผู้เรียนเพื่อรักษาสภาพคล่อง และความอยู่รอด มองว่าหากต้องการให้นโยบายนี้สำเร็จ รัฐต้องส่งเสริมอาชีวะเอกชน มีงบสนับสนุน ช่วยพัฒนาครูเอกชนให้เท่าเทียมกับภาครัฐ หากรัฐสนับสนุนเช่นนี้ นโยบายนี้ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ถ้ายังดำเนินการเหมือนปัจจุบัน นโยบายนี้ก็เป็นเพียงแค่วาทกรรมเท่านั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image