ตั้ง ‘มาดามแป้ง’ กรรมการสภาเอแบคชุดใหม่

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบค) วิทยาเขตหัวหมาก นายธนู กุลชล ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีเอแบค เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีคำสั่ง ศธ. ที่สกอ.1098/2559 เรื่อง เลิกการควบคุมเอแบค ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม ส่งผลให้คณะกรรมการควบคุมต้องยุติบทบาท แต่เพื่อไม่ให้เกิดสูญญากาศ คณะกรรมการควบคุมฯ ได้ให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีและรองอธิการบดีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีอธิการบดีคนใหม่ ซึ่งสภาเอแบคชุดใหม่ต้องเป็นผู้สรรหาอธิการบดี ขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการศธ.มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสภาตามมาตรา 28 (4) ของพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ตามบัญชีรายชื่อของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) มาแล้ว ดังนี้ นางนวลพรรณ ล่ำซำ อดีตรองเลขาธิการหอการค้าไทย นายวิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์คณะพาณิชย์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) และ นายจตุรนต์ ถิระวัฒน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.

นายธนู กล่าวต่อว่า ส่วนกรรมการสภาฯ ที่เหลือ 13 คน ทางภราดาสุรสิทธิ์ สุขชัย ประธานมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย และผู้รับใบอนุมัติจัดตั้งเอแบค เป็นผู้เสนอ ได้แก่ ภราดาสุรสิทธิ์ เป็นนายกสภาและกรรมการสภา, ผู้ทรงคุณวุฒิ อีกจำนวน 12 คน คือ ภราดานายวินัย วิริยวิทยาวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์คาเบรียล , ภราดาเดชาชัย ศรีพิจารณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญ , ภราดาชำนาญ เหล่ารักผล ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา, ภราดา พิสูตร วาปีโส ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญหลักสูตรภาษาอังกฤษ , ภราดาวีรยุทธ บุญพราหมณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี , ภราดาอาจิณ เต่งตระกูล ผู้ตรวจสอบภายในเอแบค , ภราดามณฑล ประทุมราช ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา,ภราดาทินรัตน์ คมกฤส อาจารย์อาวุโสของบัณฑิตวิทยาลัยเอแบค, ภราดาอำนวย ยุ่นประยงค์ (ผู้แทนคณาจารย์ประจำ) รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา พัฒนาจริยธรรม เอแบค , ภราดาศิริชัย ฟอนซีกา (ผู้แทนคณาจารย์ประจำ) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา เอแบค, นายอภิมุข สุขประสิทธิ์ (ด้านกฎหมาย), นายสมชาย วงศ์ทรัพย์สิน (ด้านบัญชี)อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยเอแบค ซึ่งกำลังรอให้รัฐมนตรีว่าการศธ.ลงนามแต่งตั้ง จากนั้นเมื่อได้คณะกรรมการสภาฯ ครบชุดจะเร่งสรรหาอธิการบดีต่อไป โดยดำเนินการตามข้อบังคับใหม่ ทั้งนี้ เชื่อว่าจะได้อธิการบดีคนใหม่ หลังวันอัสสัมชัญเดย์ ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีเอแบค กล่าวว่า สำหรับประเด็นปัญหาที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาตรวจสอบ ทั้ง 3 เรื่อง ได้ข้อสรุปดังนี้ 1. กรณีการจัดซื้ออุปกรณ์โครงการเครื่องบินฝึกจำลองเสมือนจริง แบบแอร์บัส เอ 320 ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้ในการศึกษา ไม่ปรากฏมีผู้ใดมีพฤติกรรมการทุจริต แต่ในฐานะอธิการบดีต้องรับผิดชอบ เพราะมีการขาดทุนไปทั้งหมด 11.18 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการลดค่าอัตราแลกเปลี่ยน และเป็นความบกพร่องของฝ่ายบริหารในการควบคุมดูแล โดยในครั้งนี้เป็นการดำเนินการก่อนที่จะมาขออนุมัติจากสภาฯ ซึ่งธรรมเนียปฏิบัติของเอแบคทำได้ แต่เมื่อสภาฯ อนุมัติแล้วกลับไม่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เพราะตามพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 กำหนดว่า ถ้ามหาวิทยาลัยเอกชนไปลงทุนร่วมกับบริษัทอื่นในการทำกิจการ หรือใช้เงินลงทุนเกินกว่า 10 % ของกำไรของมหาวิทยาลัยในปีที่ผ่านมา ต้องขออนุมัติจาก กกอ. ดังนั้น จึงถือว่าดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ต้องถูกปรับเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการควบคุมฯ จะเสนอให้ปรับเงินมหาวิทยาลัยต่อไป

2.กรณีการบริหารงานของเอแบคโพล จากการตรวจสอบ ไม่พบการทุจริตของอธิการบดี แต่เป็นการหละหลวมในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ คือ การอนุมัติงบประมาณให้สำนักวิจัยเอแบคโพล ดำเนินการแล้ว ไม่มีระบบการติดตาม ตวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณที่ชัดเจน เป็นเรื่องความไว้วางใจที่มอบให้แก่ผู้อำนวยการเอแบบโพล มีอิสระ วินิจฉัยและปล่อยมือในการบริหารมากเกินไป จึงต้องมีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ที่รัดกุมในการบริหารงานต่อไป ทั้งนี้ ในเรื่องของการจ่ายเงินให้แก่นักข่าวนั้น จากการตรวจสอบย้อนหลังไป 5 ปี ประมาณ 4.4 ล้านบาท พบว่า มีการจ่ายเงินเพื่อให้ข่าวได้รับการเสนอจริง ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานขององค์กร ซึ่งหากไม่หลอกตัวเอง หลายองค์กรก็ทำเพื่อให้มีข่าวออกสู่สาธารณะ เป็นค่าตอบแทนสื่อ หรือให้ในกรณีอำนวยความสะดวกในการทำข่าว เช่น เป็นค่าเดินทาง ค่าสินน้ำใจ แต่เป็นปัญหาในเรื่องจรรยาบรรณ เห็นว่าต่อไปไม่ควรมีการจ่ายเงินให้นักข่าวอีก อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ผอ.เอแบคโพล ได้มาขอขมาและลาออกไปแล้ว และ 3.กรณีการจัดทำงบการเงินและทรัพย์สิน ซึ่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่พบการทุจริตเช่นกัน

Advertisement

“คณะกรรมการควบคุมฯ ได้สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการกลางทั้ง 3 ชุด เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการศธ.แล้ว โดยถือว่าไม่มีการทุจริต ส่วนการปฏิบัติงานบกพร่องนั้น บาทหลวงต่าง ๆ ให้อภัย หลังจากให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ไปแล้ว สภามหาวิทยาลัยชุดใหม่ก็จะต้องไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนจะให้ภราดาบัญชา กลับมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีหรือไม่นั้น เป็นดุลยพินิจของสภามหาวิทยาลัยชุดใหม่ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าภราดาบัญชา คงไม่อยากกลับมาเป็นอธิการบดีแล้ว”นายธนู กล่าว และว่า นอกจากนั้น การพิจารณาปรับปรุง กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆของมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นขณะนี้ได้มีการแก้ไข โดยเพิ่มเติม 4 ข้อบังคับสำคัญ ซึ่งจากเดิมไม่ได้กำหนดไว้ ดังนี้ 1.การได้มาซึ่งนายกสภาฯ 2. การได้มาและสิ้นสุดสภาพของกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ 3.การได้มาซึ่งอธิการบดี โดยกำหนดคุณสมบัติชัดเจนว่าผู้ที่จะมาเป็นอธิการบดีควรเป็นนักบวช หรือต้องเป็นผู้ที่ซาบซึ้งและเห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของมูลนิธิเซนต์คาเบรียล โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่ไม่กำหนดว่าเป็นต่อได้กี่วาระ หากเป็นคนนอก ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองอย่างดี และ4.ข้อบังคับว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image