โพล ม.เกษมบัณฑิต 98.7% หนุนควรสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย

โพล ม.เกษมบัณฑิต 98.7% หนุนควรสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน

ม.เกษมบัณฑิต – ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ฝ่ายสื่อสารและกิจการเพื่อสังคม ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีแนวคิดที่จะปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “สถาบันการศึกษากับการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย” เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม และสะท้อนมุมมองในมิติที่เกี่ยวข้อง โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,660 คน แบ่งเป็น เพศชาย 861คน คิดเป็นร้อยละ 51.87 เพศหญิง 799 คน คิดเป็นร้อยละ 48.13 ผลการสำรวจวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า

ในสภาวการณ์ปัจจุบันสถาบัน การศึกษาสมควรที่จะจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยหรือไม่ ร้อยละ 98.7 เห็นว่าสมควร รองลงมา ร้อยละ 1.0 ให้เป็นไปตามความสมัครใจของสถาบันการศึกษา และร้อยละ 0.3 ไม่สมควร

ระดับการศึกษาที่สมควรจะจัดการเรียนการสอน ทุกระดับ ร้อยละ 63.06 รองลงมา ร้อยละ 21.54 ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 7.88 ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 7.52

รูปแบบสำหรับการจัดการเรียนการสอน ร้อยละ 43.01 จัดเป็นรายวิชาเฉพาะ รองลงมา ร้อยละ 29.73 จัดแบบเดิม ร้อยละ 17.91 ให้เป็นไปตามความประสงค์ของสถาบันการศึกษา และร้อยละ 9.35 ให้จัดเป็นรายวิชาเลือก

Advertisement

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอน ร้อยละ 34.88 หลักสูตร/ เนื้อหา รองลงมา ร้อยละ 24.61 ครูอาจารย์ผู้สอน ร้อยละ 22.31 สื่ออุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน ร้อยละ 14.69 จำนวนเวลา หรือคาบการเรียน และร้อยละ 3.51 อื่นๆ

ปัญหา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้สะท้อนมุมมอง 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.นโยบายระดับบริหารไม่ชัดเจน และต่อเนื่อง 2.หลักสูตร/ เนื้อหาไม่ครอบคลุม และไม่สอดคล้องกับบริบทของความเป็นไทยที่แท้จริง 3.นักเรียนนักศึกษาไม่ทราบประวัติ และความเป็นมาของความเป็นไทยอย่างแท้จริง 4.การเผยแพร่หรือส่งข้อมูลที่ก่อให้เกิดการชังชาติ 5.สื่อ และอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ไม่สร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียน

ข้อเสนอแนะ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้เสนอแนะ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.รัฐบาล หรือ ศธ.ควรจะกำหนดเป็นนโยบาย และให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง 2.พัฒนาหลักสูตร และเนื้อหาให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน 3.พัฒนา และยกระดับคุณภาพครูอาจารย์ผู้สอน 4.ส่งเสริมการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้นักเรียน นักศึกษาเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย 5.ป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดการชังชาติ

Advertisement

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ กล่าวว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนที่มีส่วนร่วมในการตอบแบบสอบถาม ล้วนแล้วแต่เห็นด้วยกับความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาประวัติศาสตร์ให้กับนักเรียนนักศึกษาในระดับต่างๆ ที่น่าสนใจพบว่ารูปแบบ หรือปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอน ผู้ตอบแบบสอบถามจะมุ่งไปให้ความสำคัญกับการจัดเป็นรายวิชาเฉพาะตามด้วยหลักสูตร และเนื้อหาตลอดจนครูอาจารย์ผู้สอนในลำดับต้นๆ ซึ่งในประเด็นนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนัก และให้ความสำคัญกับการพัฒนาต่อไป

“อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากปัญหา และข้อเสนอแนะ พบว่ากลุ่มตัวอย่างเห็นว่ารัฐบาล และ ศธ.จะต้องให้ความสำคัญในการกำหนดเป็นนโยบาย และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ที่น่าสนใจคือการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดการชังชาติ พร้อมกันนั้น เห็นว่าเพื่อให้เยาวชนตระหนัก และให้ความสำคัญสำหรับการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทย สถานศึกษาจึงควรที่จะเป็นหน่วยงานตั้งต้นในการจัดกิจกรรมส่งเสริม และสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาได้เข้าใจ เข้าถึงในแก่นแท้ของมิติที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยในมิติต่างๆ ที่หลากหลาย และต่อเนื่อง” ผศ.ดร.รัฐพงศ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image