‘บอร์ด ก.ค.ศ.’ เห็นชอบร่างเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครู เน้นทั้งมิติเชิงคุณภาพ-ปริมาณ

‘บอร์ด ก.ค.ศ.’ เห็นชอบร่างเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครู เน้นทั้งมิติเชิงคุณภาพ-ปริมาณ

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่าในการประชุม ก.ค.ศ. ที่มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ที่ประชุมเห็นชอบ กรอบการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง จากเดิม ก.ค.ศ. ได้กำหนดให้การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เป็นการพัฒนาผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่งหลังจากที่ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาฯ พบว่า วิธีการพัฒนาในรูปแบบเดิมเน้นการบรรยายมากกว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง รวมถึงใช้ระยะเวลาการพัฒนาและงบประมาณค่อนข้างมาก ไม่ทันต่อความจำเป็นที่จะได้บุคลากรในตำแหน่งที่มีความสำคัญของหน่วยงานมาปฏิบัติงาน ก.ค.ศ. จึงได้กำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก ให้มีทักษะพื้นฐาน ได้แก่ ทักษะภาษาไทย ทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะดิจิทัล และให้มีความพร้อมในทักษะที่จำเป็นและสมรรถนะที่เหมาะสมตามมาตรฐานตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการพัฒนาก่อนการคัดเลือกแล้วจะเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งได้ทันที

นายประวิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบหลักการของ (ร่าง) เกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เนื่องจากสภาพปัญหาที่พบในปัจจุบัน โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้อัตรากำลังของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งเกณฑ์ฯอัตรากำลังเดิม ได้ใช้จำนวนนักเรียนเป็นปัจจัยในการกำหนด ทำให้ไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเกณฑ์อัตรากำลังฯ ขึ้นใหม่ เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กมีอัตรากำลังที่เหมาะสม สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. ใหม่นี้ มีกรอบแนวคิดตามนโยบายยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก การบริหารอัตรากำลัง ที่คำนึงถึงมิติเชิงปริมาณและมิติเชิงคุณภาพ โดยที่ประชุม มอบหมายให้ ก.ค.ศ.ดำเนินการปรับรายละเอียดของ (ร่าง) เกณฑ์อัตรากำลังดังกล่าว ให้เกิดความครอบคลุมต่อไป ซึ่งเรื่องนี้นำไปสู่การปรับปรุงแตรากำลังครูใน ศธ.ใหม่ และจะนำไปสู่การปรับปรุงเกณฑ์การย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาในอนาคตที่ต้องย้ายให้ตรงสาขาวิชา รวมถึงการผลิตครูและบรรจุครูรูปแบบใหม่ด้วย

“ที่ประชุมเห็นชอบ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการเนื่องจาก สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขออนุมัติกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป เป็นตำแหน่งประเภทวิชาการ เพื่อเป็นการส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป ที่ปฏิบัติงานมาเป็นเวลานาน แต่ขาดความก้าวหน้าในการรับราชการและเพื่อประโยชน์ของทางราชการที่จะได้บุคคลที่มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ เหมาะสมกับตำแหน่ง และตรงกับความต้องการของหน่วยงานการศึกษา หรือส่วนราชการมาปฏิบัติงาน ก.ค.ศ. เห็นว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมความก้าวหน้าและเพื่อประโยชน์ของทางราชการจึงเห็นชอบการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งประเภททั่วไป เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ เพื่อใช้กับหน่วยงานการศึกษาและส่วนราชการในสังกัดศธ. ต่อไป” นายประวิต กล่าว

นายประวิต กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นชอบ การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการนำบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ตำแหน่งครูผู้ช่วย(ว 5/2561) ซึ่งเดิม ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยหลังจากการสอบคัดเลือกแล้วหากต้องการนำบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไป ขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่นฯ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการนำบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว 8/2561) และต่อมา ก.ค.ศ. ได้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว 5/2561) และประกาศให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย (ว 14/2563) แทน จึงต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการนำบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น ตำแหน่งครูผู้ช่วยใหม่ เพื่อใช้แทนหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 8/2561 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความคล่องตัวในการดำเนินการขอใช้บัญชี ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นควรปรับปรุงเฉพาะประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ โดยตัดข้อความในข้อ 2 วรรคสอง ของหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ว 8/2561 ที่กำหนดว่า “ทั้งนี้ การบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้จากการขอใช้บัญชีให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่บัญชีเดิมจะครบอายุการขึ้นบัญชี” ออก แล้วปรับการเขียนข้อ 4.3 และ 4.5 ดังนี้

Advertisement

“ข้อ 4.3 “เมื่อสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือส่วนราชการ ได้รับรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ที่จัดลำดับที่เอกสารหลักฐานการสมัครสอบแข่งขัน หนังสือสอบถามความสมัครใจ และที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ของผู้สมัครใจ จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือส่วนราชการ ที่ส่งรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้แล้ว ให้รายงาน กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ โดยบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ที่ประกาศใหม่ ให้มีอายุการขึ้นบัญชีเท่ากับบัญชีเดิม…” ข้อ 4.5“ให้ใช้ประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ เป็นการเรียกตัวผู้สอบแข่งขันได้มารายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ โดยต้องกำหนดให้ผู้สอบแข่งขันได้มารายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งไม่หลังวันที่บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ครบอายุการขึ้นบัญชี และให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง ดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐานตำแหน่ง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว …””นายประวิตกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image