นักวิชาการแนะ ‘ครูตั้น’ยืดหยุ่นเด็กแต่งไปรเวทให้ร.ร.-น.ร.ออกกฎเอง

นักวิชาการแนะ ‘ครูตั้น’ ยืดหยุ่นเด็กแต่งไปรเวท ให้ร.ร.-น.ร.ออกกฎเอง

นักวิชาการแนะ ‘ครูตั้น’ ยืดหยุ่นเด็กแต่งไปรเวท ให้ร.ร.-น.ร.ออกกฎเอง พร้อมเปิดกว้าง รับฟังปัญหา  ขณะที่ตัวแทนน.ร.ห่วงเหลื่อมล้ำ แนะร.ร.ผ่อนคลายกฎไม่ให้ตึงเกินไป

จากกรณีที่ภาคีนักเรียน KKC ได้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนนักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปเรียนวันที่ 1 ธันวาคม โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยืนยันจะไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะแต่ละโรงเรียนมีกฎระเบียบเรื่องการแต่งกายที่ชัดเจนอยู่แล้ว ขอให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจซึ่งกันและกันนั้น

อ่าน 1 ธ.ค. แต่งไปรเวทไปโรงเรียน ‘ภาคีนักเรียนKKC’ ชวนตั้งคำถาม เครื่องแบบสำคัญจริงหรือ?

อ่าน สพฐ.ชี้ นัดแต่งไปรเวทไปร.ร.ถือเป็นสิทธิ แต่สังคมต้องมีกติกา

อ่าน ‘นักเรียนเลว’ เอาด้วย! ชวนเด็กไทยบอกลาเครื่องแบบ แต่งไปรเวทไปโรงเรียน 1 ธันวาฯนี้

Advertisement

อ่าน ‘ณัฏฐพล’ ชี้ไม่ยอมให้ น.ร.แต่งไปรเวทไป ร.ร.ลั่นไม่ยอมให้ใครบีบ เผย กก.เร่งฟังความเห็นหาข้อสรุป

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ศ.ดร.สมพงษ์  จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ท่าทีของนายณัฏฐพล ที่ยืนยันว่า เด็กต้องแต่งชุดนักเรียนนั้น ไม่ต่างกับท่าทีรัฐบาลที่ใช้กฎหมาย กฎระเบียบในการแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ตนอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พยายามทำความเข้าความคิดและจินตนาการของเด็ก เพราะโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและศธ. คือการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเด็กจะเป็นส่วนสำคัญที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบทรงผม หรือการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งถ้าเข้าใจประเด็นนี้ ก็จะเข้าใจเรื่องการปฏิรูป ที่จะต้องมีข้อเรียกร้องมาเป็นลำดับ ข้อแรก เรื่องทรงผม ตามมาด้วยเครื่องแบบนักเรียน และจะมีข้อเรียกร้องอื่น ๆ ตามมาอีกในอนาคต ดังนั้นตนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเปิดใจรับฟัง บริหารความขัดแย้งด้วยความเข้าใจ

“ภาพที่นายณัฏฐพล ลงไปพูดคุยรับฟังปัญหากับกลุ่มนักเรียนเลว ที่หน้าศธ.รวมถึงมีการขึ้นเวทีดีเบตกับนักเรียนนั้น คนในแวดวงการศึกษามีความชื่นชมอย่างมาก และเท่าที่ดูนายณัฏฐพลเองก็นำข้อเรียกร้องของเด็กมาปรับแก้หลายเรื่อง เพียงแต่อาจจะเร็วไม่ทันใจ ส่วนเรื่องเครื่องแบบนักเรียน ก็ได้มีการหยิบยกขึ้นมาหารือ ในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษาที่นายณัฏฐพลตั้งขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดี ดังนั้นจึงไม่อยากให้นำเรื่องกฎระเบียบมาใช้ทำให้บรรยากาศความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก ”ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

Advertisement

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องเครื่องแบบนักเรียนนั้น  เรื่องนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นจากประสบการณ์มองว่า ควรเปิดกว้างให้กรรมการสถานศึกษา ครู นักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจออกกฎระเบียบของตนเอง เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาและเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ที่สำคัญศธ.ต้องเลิกออกกฎหรือระเบียบตัวเดียวแล้วบังคับใช้ในภาพรวม แต่ควรเป็นระเบียบที่มีความยืดหยุ่น โรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะผู้ปกครองแต่ละคนมีฐานะไม่เท่ากันนั้น ส่วนตัวมองว่า ไม่ต้องกังวล เพราะแม้จะให้ใส่ชุดนักเรียน ความเหลื่อมล้ำก็มีมากอยู่แล้ว ขณะที่ทุกวันนี้ เด็กก็ไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนมาโรงเรียนทุกวัน มีทั้งชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ชุดพละ และชุดประจำท้องถิ่น ที่โรงเรียนสามารถกำหนดเองได้ ดังนั้นหากเพิ่มชุดไปรเวท ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพียงแต่ต้องเปิดโอกาสให้นักเรียน เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกฎกติกาด้วยตัวเอง

น.ส.ภวรัญชน์ จิตรัตนโสภณ ประธานประจำOut-Circle Move ในฐานะตัวแทนนักเรียน กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า การใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะแต่ละครอบครัวมีฐานะไม่เท่าเทียมกัน  แต่หากจะเปิดกว้างให้แต่งไปรเวทจริงก็ควรมีขอบเขต ไม่ให้มากหรือน้อยเกิดไป ทั้งนี้ ตนเป็นคนหนึ่งที่เรียนในโรงเรียน ซึ่งมีกฎระเบียบค่อนข้างเคร่งครัด เพราะเป็นโรงเรียนหญิงล้วน ถึงขั้นหากไม่แต่งกายตามระเบียบก็จะไม่มีสิทธิเข้าห้องสอบ ซึ่งก็ถือว่า ค่อนข้างตึงเครียดเกิดไป ทำให้รู้สึกว่าถูกกฎดันได้ ดังนั้น หากโรงเรียนใดมีกฎระเบียบในเรื่องนี้ตึงเกินไปก็ควรปรับให้ผ่อนคลายมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image