โละ ‘โอเน็ต-จีแพ็ก’เข้ามหา’ลัยปี65 หลังศธ.ได้ข้อสรุปแจ้งทปอ.ปรับทีแคส

โละโอเน็ต-จีแพ็กเข้ามหา’ลัยปี65 หลังศธ.ได้ข้อสรุป-แจ้งทปอ.ปรับทีแคส
โละโอเน็ต-จีแพ็กเข้ามหา’ลัยปี65 หลังศธ.ได้ข้อสรุป-แจ้งทปอ.ปรับทีแคส เปิดช่อง’คณะ/สาขา’เลือกองค์ประกอบเอง เล็งยกเครื่องข้อสอบยากเกินหลักสูตร

 นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทปอ.ได้รับแจ้ง นายสุภัทร  จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ทปอ.ปรับปรุงระบบทีแคส ปีการศึกษา 2565 เนื่องจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีนโยบาย ยกเลิกการสอบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ของนักเรียนระดับชั้น ม.6 ในปีการศึกษา 2565 ซึ่งทำให้ ทปอ.จะต้องยุติการใช้คะแนนสอบโอเน็ต เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกคนเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และเมื่อยกเลิกการใช้คะแนนโอเน็ต ทปอ.ต้องยกเลิกการใช้ คะแนนการเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือGPAX เนื่องจากทปอ.มองว่า GPAX ไม่สามารถนำมาใช้โดยตรงได้ เพราะปัจจุบันคุณภาพของแต่โรงเรียนปต่ละแห่งไม่เท่ากัน บางโรงเรียนยังมีปัญหาปล่อยเกรด ซึ่งที่ผ่านมาการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยจะใช้คะแนนโอเน็ตเข้ามาถ่วงน้ำหนักของ GPAX เมื่อยกเลิกใช้คะแนนโอเน็ต จำเป็นต้องยุติการใช้ GPAX ด้วย ดังนั้น ทีแคส ปีการศึกษา 2564 จึงเป็นปีสุดท้ายที่ใช้คะแนนโอเน็ตมาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย

 นายพีระพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนจะใช้การทดสอบใดมาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยแทนคะแนนโอเน็ต ปีการศึกษา 2565 นั้น คณะ/สาขาวิชาจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ และองค์ประกอบว่าจะใช้อะไรในสัดส่วนเท่าไร ทั้งคะแนนจากการสอบ9วิชาสามัญ การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT ทั้งนี้ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่า นักเรียนต้องสอบเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจำนวนมาก เพราะมหาวิทยาลัยมีคณะ/สาขาเพิ่มขึ้น จึงสอบไว้เผื่อเลือก ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีปัญหานี้ นักเรียนต้องรู้จักตนเองว่าต้องการเรียนคณะ/สาขาอะไร และเลือกสอบในวิชานั้นๆ ไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา เพราะถ้านักเรียนไม่รู้จักตัวตน หรือความต้องการของตัวเอง ก็เลือกสอบหลายวิชา และทำให้เหนื่อยกับการสอบมาก

“ทีแคส ปีการศึกษา 2566 ทปอ.จะปรับการสอบทั้งหมด เพราะปัจจุบันข้อสอบยาก ข้อสอบออกเกินเนื้อหาที่นักเรียนได้เรียนในโรงเรียน เด็กจึงมุ่งไปเรียนกวดวิชา ซึ่งสถาบันกวดวิชาให้เด็กจำแค่รูปแบบการทำข้อสอบ มากกว่าจะทำความเข้าใจ ทำให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้ด้วยการจำแค่รูปแบบข้อสอบเท่านั้น แต่เมื่อถึงเวลาเรียน เด็กไม่สามารถนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ได้ เพราะถูกปลูกฝังด้วยการเรียนดังกล่าว เราต้องยกเลิกวิธีการเรียนการสอนแบบนี้ เพื่อให้สามารถคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในตรงกับความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง” นายพีระพงศ์ กล่าว

 นายพีระพงศ์ กล่าวต่อด้วยว่า ทั้งนี้ทีแคสปีการศึกษา 2566 ทปอ.จะปรับเนื้อหาข้อสอบทั้งหมด โดยทปอ.จะกำหนดกรอบข้อสอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดาเนินการออกข้อสอบรูปแบบใหม่ ต้องเน้นการนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เช่น ถ้านักเรียนเจอสถานการณ์นี้ควรใช้ทฤษฏีไหนในการวิเคราะห์แก้ปัญหา แต่จะไม่เน้นวิชาการเชิงลึก จึงฝากถึงโรงเรียนให้ปรับวิธีการสอนให้นักเรียนประยุกต์ใช้งานได้ เพื่อไม่ให้นักเรียนเกิดคำถามในอนาคตว่า เรียนไปเพื่ออะไร และนำความรู้ที่ได้ไปใช้งานอะไรได้บ้าง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image