เภสัชฯจุฬาฯ เปิดตัวสตาร์ทอัพ CUPE ผุด ‘สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5’

เภสัชฯจุฬาฯ เปิดตัวสตาร์ทอัพ CUPE ผุด ‘สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5’

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์  อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงาน  “ก้าวเล็ก… ฝันใหญ่ … Go Phar Together สู่การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนวัตกรรม”  โดยมีคณาจารย์ นิสิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยนายบัณฑิต กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในการจัดทำนวัตกรรมต่าง ๆ จากบริษัท ซียูฟาร์มาซีเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัดหรือ CUPE ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับนวัตกรรมต่าง ๆ ของคณะเภสัชศาสตร์ ทั้งนี้ นโยบายการปรับเปลี่ยนงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง  คิดกันมานาน และได้เริ่มทำสตาร์ทอัพหลายเรื่อง เพื่อผลักดันให้งานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ได้จริง  ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยจะทำงานวิจัยหรือสร้างนวัตกรรมต้องรองบประมาณจากภาครัฐ ใช้เวลาค่อนข้างนาน เมื่อทำเสร็จก็ใช้ไม่ได้ต้องขึ้นหิ้งเพราะล้าสมัย ดังนั้นเป็นจุดพลิกผลันที่ต้องปรับเปลี่ยน ทำนวัตกรรมแล้ว ต้องใช้ทันที  นำเข้าตลาดทุน โดยไม่ต้องรอเงินจากภาครัฐ  ซึ่งเข้าใจว่า แนวทางนี้ หลายคนยังรับไม่ได้ ดังนั้นหากใครพร้อมก็เดินไปด้วยกันก่อน จึงได้มีการจัดตั้งบริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด ที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพของจุฬาฯ  จากการบ่มเพาะของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ หรือCU Innovation Hub ในการสร้างนวัตกรและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมไทยเป็นที่ประจักษ์ เช่น การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตโดย  คนไทยเพื่อคนไทย ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปคือผลิตภัณฑ์ “ไฟท์ฝุ่น สเปรย์” สเปรย์ลดฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง CUPE กับภาคเอกชน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนในการต่อยอดงานวิจัยไปใช้งานจริงสู่สังคมไทย

“คณะเภสัชฯ มีการปรับหลักสูตร  เป้าหมายเพื่อให้คนที่เรียนจบเภสัชฯ สามารถทำงานได้มากกว่า  แค่ทำหน้าที่จ่ายยา ในร้านยาหรือในโรงพยาบาลเท่านั้น  ผมฝันต่อไปว่า หากคณะเภสัชฯทำได้ คณะอื่นๆ ก็ทำได้และไปไกลถึงขั้นยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ระดับโลก ไบโอเทคโนโลยีทางการแพทย์ จะเป็นที่พึ่งพาของโลกอนาคต สำคัญที่สุดมหาวิทยาลัยต้องทำงานให้รวดเร็วสนับสนุนคนดี คนเก่งให้ทำงานมากขึ้น”นายบัณฑิต กล่าว

Advertisement

ภญ.บุษกร เลิศวัฒนสิวลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ และบริษัท   จุฬาฯ ฟาร์เทค จำกัด กล่าวว่า ถือเป็นครั้งสำคัญของคณะเภสัชฯจุฬาฯ ที่ได้นำเรื่องนี้สู่สังคม ทั้งนี้ CUPE ก่อตั้งขึ้นมาไม่ได้เพื่อหวังกำไรสูงสุด แต่มีบทบาทให้การสนับสนุนและบ่มเพาะงานวิจัยและนวัตกรรมของคณะเภสัชฯที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของสังคม เป็นการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาพัฒนาแก้ปัญหาสังคมไทย นอกเหนือจากงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านสุขภาพที่ได้พัฒนาโดยคณาจารย์ นักวิจัยจากบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด บริษัท แนบโซลูท จำกัด และบริษัท เฮิร์บ การ์เดียน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว ยังมีงานทางด้านบริการวิชาการภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บริการเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการและการตรวจวิเคราะห์เซลล์สัตว์ทดลอง นอกจากนี้ CUPE ยังให้โอกาสในการสร้างงานแก่นิสิตที่จบการศึกษาจากคณะเภสัชฯในการได้ปฏิบัติงานร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image