‘ณัฏฐพล’ ยันเลิกโอเน็ตลดเครียด-กดดัน ชี้ ศธ.ออกแนวทางเพื่อผลประโยชน์เด็ก

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

‘ณัฏฐพล’ ยันเลิกโอเน็ตลดเครียด-กดดัน ชี้ ศธ.ออกแนวทางเพื่อผลประโยชน์เด็ก

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีลงนามในหนังสือการยกเลิกทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ปีการศึกษา 2563 ถึง ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ว่า ตนได้ส่งหนังสือถึง สทศ. จริง เพราะที่ผ่านมาเรามีปัญหาการสอบโอเน็ตอยู่ เนื่องจากนำผลโอเน็ตไปใช้ในทางที่อาจจะไม่ตรงกับที่ ศธ.วางเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ศธ.ได้ยกเลิกการนำผลคะแนนสอบโอเน็ตไปประเมินผู้บริหารสถานศึกษาและครูแล้ว ดังนั้นการสอบในปัจจุบันจะเป็นการวัดนักเรียนโดยตรง สำหรับการสอบโอเน็ต ปี2563 ตนจะหารือกับนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อีกครั้งว่า หากสอบเพื่อทดสอบความสามารถของนักเรียน โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนตำแหน่งของผู้บริหารและครู และไม่มีการติวให้กับนักเรียนจะเกิดอะไรขึ้น เป็นเรื่องที่ตนกำลังพิจารณาอยู่ เพราะถ้าเด็กทำข้อสอบโดยไม่มีความกดดัน ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง

“อย่างไรก็ตาม การยกเลิกโอเน็ต ป.6 และ ม.3 ในปี 2563 ต้องรอมติคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ก่อน ผมเพียงส่งจดหมายให้คณะกรรมการ สทศ. พิจารณา ดังนั้นจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และต้องรอคณะกรรมการ สทศ.จะพิจารณากลับมาด้วย เรื่องดังกล่าวเป็นการพูดคุยกับภายใน ศธ. ผมมั่นใจว่าแนวทางที่ออกมาเพื่อผลประโยชน์ของเด็ก เพราะจะลดความกดดันในการเตรียมตัวเรื่องต่างๆ ผมยืนยันว่า ผมให้ความสำคัญกับการทดสอบความรู้ระดับชาติ เพียงแต่ว่าวันนี้เราวัดและนำผลไปใช้ในการพัฒนาเด็กจริงหรือไม่ ถือเป็นกระบวนการปรับปรุงและยกระดับการศึกษาทั้งประเทศ ” นายณัฏฐพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การสอบโอเน็ต ม.6 ยังมีอยู่หรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า การสอนโอเน็ต ม.6 ในปี 2563 ยังมีอยู่ เพราะต้องใช้คะแนนในการเรียนต่อมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ศธ.ต้องดูการเตรียมตัวและการวัดผลของเด็กด้วย เพราะการสอบทำให้เด็กมีความเครียด มีความกดดัน และสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อไม่ได้ใช้โอเน็ตมาวัดและประเมินผลจะใช้การทดสอบอะไรมาทดแทน นายณัฏฐพล กล่าวว่า ในโรงเรียนมีการสอบกลางภาค ปลายภาคอยู่แล้ว เราสามารถนำผลนั้นมาเป็นตัวชี้วัดได้ระดับหนึ่ง แต่โอเน็ตถือเป็นการวัดมาตรฐาน ที่ทำให้เห็นความสามารถของเด็ก เพราะตนต้องการนำผลของโอเน็ตมาพัฒนาจุดบกพร่อง จุดที่ต้องปรับปรุงของนักเรียนมากกว่า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image