17 มกราคม ร.4 ทรงพบจารึก ‘พ่อขุนราม’ ย้อนอ่าน พ่อขุนราม ไม่เคยไปเมืองจีน ตีความพลาดเพราะ ‘แปลผิด’

17 มกราคม พ.ศ. 2376 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย และจัดเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาเรื่องการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ กำหนดให้ วันที่ 17 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช”

ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพ่อขุนรามคำแหง มีข้อถกเถียงมากมาย หนึ่งในนั้นคือ พ่อขุนรามเคยไปเมืองจีนตามที่เคยกล่าวอ้างกันมาหรือไม่ ?

มาย้อนอ่าน ข้อเขียนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ เรื่อง ‘พ่อขุนรามคำแหง ไม่เคยไปเมืองจีน’ ซึ่งเผยแพร่ในปี 2559 มีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับการแปลภาษาที่ผิดพลาด

ดังนี้

Advertisement

พ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัย ไม่เคยเสด็จไปเมืองจีนแม้แต่ครั้งเดียว และไม่เคยได้ช่างจีนไปทำเครื่องสังคโลกในสุโขทัย ตามที่มีในตำราประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

พระร่วงที่เสด็จไปเมืองจีน คือเจ้านครอินทร์ แห่งรัฐสุพรรณภูมิ (ที่สุพรรณบุรี) เพราะเป็นเชื้อสายพระร่วง มีแม่เป็นเชื้อวงศ์สุโขทัย มีจดหมายเหตุจีนเป็นหลักฐาน พงศาวดารเหนือจึงจดว่าพระร่วงไปเมืองจีน

นี่เป็นคำอธิบายใหม่ที่เชื่อถือได้ที่สุดในขณะนี้ ของ อ. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดี ของกรมศิลปากร)

Advertisement

แต่นักประวัติศาสตร์สมัยหลังขยายความตามที่เข้าใจเอง ว่าพระร่วงในตำนานคือ พ่อขุนรามคำแหง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ไม่ทรงเชื่อเรื่องนี้ แต่จำต้องเชื่อ เพราะผู้รู้ภาษาจีนยุคนั้นอ่านจดหมายเหตุจีนออกมาว่ากษัตริย์สยามเสด็จไปเมืองจีน จึงมีพระนิพนธ์บอกไว้ ดังนี้

“ข้อที่ว่าพระร่วงได้เสด็จออกไปถึงเมืองจีนเห็นจะน้อยคนจะเชื่อ ข้าพเจ้าคนหนึ่งไม่เคยเชื่อ จนกระทั่งมาแลเห็นจดหมายเหตุจีนว่า เมื่อ พ.ศ. 1437 พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จออกไปถึงราชสำนักพระเจ้ากรุงจีนดังนี้ จำต้องเชื่อด้วยความอัศจรรย์ใจว่าจริงอย่าง เนื้อเรื่องที่กล่าวในพงศาวดารเหนือ” [คำนำในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2455]

ต่อมาอีกนาน ดร. สืบแสง พรหมบุญ (อดีตอาจารย์ประจำจุฬาฯ และธรรมศาสตร์) ทำวิจัยพบว่าผู้รู้ภาษาจีน แปลเอกสารจีนผิดพลาด (ถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรง) เพราะในความจริงแล้ว พ่อขุนรามคำแหงไม่เคยเสด็จไปเมืองจีนเลย [จากหนังสือความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย ของ สืบแสง พรหมบุญ มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525 หน้า 73-80]

เรื่องพระร่วงไปเมืองจีน เล่ากันเป็นตํานานว่าครั้งหนึ่งพระร่วงต้องการแสดงความยิ่งใหญ่ของตน จึงได้ลงเรือไปถึงเมืองจีนด้วยอํานาจวาจาสิทธิ์

พระเจ้ากรุงจีนเห็นเป็นเรื่องอัศจรรย์และชื่นชมในบุญญาธิการของพระร่วงเป็นอันมาก ถึงกับยกลูกสาวให้พระร่วง และให้ช่างจีนไปทําเครื่องสังคโลกในกรุงสุโขทัย

เรื่องพระร่วงไปเมืองจีนยังคงเป็นตํานานที่เชื่อถือกันในบุคคลบางส่วน จนกระทั่งมีการแปลจดหมายเหตุจีน ปรากฏว่าในจดหมายเหตุจีนก็มีข้อความกล่าวถึงเจ้าเมืองซึ่งเข้าใจกันว่าหมายถึงพ่อขุนรามคําแหงได้เคยเสด็จไปเมืองจีนจริงๆ

ตั้งแต่นั้นมาก็ยอมรับกันว่าพ่อขุนรามคําแหงได้เคยเสด็จไปเมืองจีน สมดังที่เล่าเป็นตํานานเรื่องพระร่วงไปเมืองจีน

ต่อมาได้มีการสอบสวนทวนอ่านและแปลทําความเข้าใจจดหมายเหตุจีนกันใหม่ ปรากฏว่าที่แปลและเข้าใจกันมาแต่เดิมนั้นผิดไปเสียแล้ว จดหมายเหตุจีนไม่ได้บอกว่า พ่อขุนรามคําแหงไปเมืองจีน เพียงแต่บอกว่าจีนให้ส่งลูกหรือส่งตัวแทนไปเมืองจีน

ซ้ำยังไม่มีความแน่นอนว่าเมืองที่ส่งทูตไปเมืองจีนนั้นจําเป็นจะต้องเป็นเมืองสุโขทัยหรือเมืองใดเมืองหนึ่งในรัฐสุโขทัยอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image